รีเซต

เปิดประวัติ "คลองสุเอซ" คลองสำคัญของโลก ที่ไทยเกือบจะมีบ้าง

เปิดประวัติ "คลองสุเอซ" คลองสำคัญของโลก ที่ไทยเกือบจะมีบ้าง
Ingonn
30 มีนาคม 2564 ( 09:42 )
6.6K
เปิดประวัติ "คลองสุเอซ" คลองสำคัญของโลก ที่ไทยเกือบจะมีบ้าง

"คลองสุเอซ" นับได้ว่าเป็นคลองประวัติศาสตร์ ที่ถูกเปิดใช้มายาวนานกว่า 150 ปี เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายมากที่สุด

 

 

ความเป็นมาของ “คลองสุเอซ” 

 

    • คลองสุเอซ เป็นคลองขนส่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ถูกขุดขึ้นระหว่างปี 1859 ถึง 1869 เพื่อเชื่อมโยง “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” และ “ทะเลแดง” เข้าด้วยกัน คั่นระหว่างทวีปแอฟริกาและทวีปเอเซีย 


    • เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 


    • เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดียผ่านทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง เพื่อไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทวีปแอฟริกา 


    • มีระยะทาง 193.3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11-16 ชั่วโมง


    • คลองสามารถรับเรือที่มีน้ำหนักขนส่งได้มากถึง 150,000 ตัน ความกว้างของเรือที่สามารถผ่านได้คือไม่เกิน 16 เมตร


    • เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ นักการทูตชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นต้นคิดโครงการขุดคลองสุเอซขึ้นตามแนวคิดของฟาโรห์ ที่ต้องการสร้างคลองดังกล่าวขึ้นตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน

 


      
สงครามข้อพิพาท "คลองสุเอซ"

 

    • อังกฤษปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อียิปต์ ในการสร้างเขื่อนสูงแห่งอัสวัน ตามที่เคยรับปากไว้ เนื่องจากอียิปต์เริ่มมีสัมพันธ์กับเชโกสโลวาเกีย และโซเวียตมากขึ้น  ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์


    • อียิปต์จึงตัดสินใจประกาศยึดบริษัทคลองสุเอซ ซึ่งเป็นของอังกฤษและฝรั่งเศสให้มาเป็น ของรัฐบาลอียิปต์ โดยบอกว่าจะเอาผลกำไรปีละ 25 ล้านดอลลาร์ของบริษัทนี้ มาใช้สร้างเขื่อนดังกล่าว โดยอ้างความชอบธรรมว่า คลองสุเอซเป็นทรัพย์สินของอียิปต์และพร้อมกับจะเปิด ให้เรือของทุกชาติเข้าใช้คลองสายนี้ได้ยกเว้น อิสราเอล
      
      (ตั้งแต่ปี 1949อิสราเอลถูกอียิปต์ ห้ามเรือของอิสราเอลหรือเรือของชาติใดที่บรรทุกสินค้าหรือมุ่งสู่อิสราเอลใช้คลองสุเอซและอียิปต์ยังปิดช่องแคบทิรันที่ปากอ่าวอะกาบา มาตั้งแต่ปี 1951 ทำให้อิสราเอลหมดทางออกสู่ทะเลแดง )

 

    • อังกฤษและฝรั่งเศสจึงเตรียมกำลังทหารเพื่อเข้ายึดคลองสุเอซ รวมถึงหาทางกำจัดประธานาธิบดีอียิปต์ออกจากอำนาจ โดยมีอิสราเอลเป็นพันธมิตรสำคัญในภูมิภาค


    • ปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกันอิสราเอลได้เคลื่อนพลเข้าสู่คลองสุเอซ ทำให้กองทัพอียิปต์ต้องถอยร่น ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสก็เดินหน้าตามแผนพร้อมกับเรียกร้องให้ทั้งอิสราเอลและอียิปต์ถอนทัพออกจากคลองพิพาท เพื่อให้อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ารักษาการณ์ตลอดความยาวของคลองสายนี้

 
    • กองทัพอังกฤษกับฝรั่งเศสทิ้งระเบิดใส่ฐานทัพต่างๆ ของอียิปต์  กองทัพอียิปต์ในคาบสมุทรซีนาย ถูกตีแตกพ่ายภายในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้อิสราเอลควบคุมคาบสมุทรซีนายได้เกือบทั้งหมด ประธานาธิบดีอียิปต์จึงสั่งให้จมเรือ 40 ลำในคลองสุเอซเป็นการตอบโต้ ซึ่งเป็นการปิดคลองไปโดยปริยาย 


    • พฤศจิกายน 1956 อังกฤษและฝรั่งเศสได้ยกพลขึ้นบกที่ท่าเรือซาอิด (Port Said) และท่าเรือฟูอัด (Port Fuad) เริ่มครอบครองพื้นที่บางส่วนของคลองสุเอซ ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากประชาชนภายในประเทศ


    • โซเวียตขู่ จะใช้จรวดพิสัยไกลช่วยกองทัพอียิปต์ ขณะที่สหรัฐขู่จะสกัดกั้นการส่งน้ำมัน จากอเมริกาใต้ไปยังยุโรปทั้งหมด แรงกดดันเหล่านี้ รวมทั้งข้อมติที่ของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้หยุดสงคราม ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสได้ถอนทัพออกไปในเดือนธันวาคม ส่วนอิสราเอลถอนทัพในเดือนมีนาคมปีถัดมา แล้วให้กองกำลังฉุกเฉินของสหประชาชาติจัดทหารเข้าไปประจำการณ์ตาม แนวชายแดนของอียิปต์กับอิสราเอล 


    • สิ้นเดือนธันวาคม ปี 1956 คลองสุเอซและคาบสมุทรซีนายก็กลับมาอยู่ในความควบคุมของอียิปต์ ประธานาธิบดีอียิปต์กลายเป็นวีรบุรุษชาตินิยมของชาวอาหรับ ส่วนอิสราเอลไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลองสุเอซ แต่ก็ได้ใช้สิทธิการเดินเรือผ่านช่องแคบทิรันเป็นการแลกเปลี่ยนกับการถอนทหารออกจากฉนวนกาซาในตอน ต้นปี 1957

 

นอกจากนี้ คลองสุเอซยังเป็นสนามรบในสงครามอาหรับ-อิสราเอล ในปี 1967 และ 1973 อีกด้วย


หลังจากองค์การสหประชาชาติ เข้ามาแทรกแซงวิกฤตการณ์ดังกล่าว อียิปต์ยินดีจ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์ให้กับผู้ถือครองหุ้นบริษัทคลองสุเอซเพื่อยุติความขัดแย้ง

 

 

“คลองคอคอดกระ” ที่ต่างชาติอยากทำเหมือน “คลองสุเอซ”

 

"คลองคอคอดกระ" คือ ส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู อยู่ในเขตบ้านทับหลี ต.มะมุ อ.กระบุรี จังหวัดระนอง กับ อ.สวี จ.ชุมพร กว้างเพียง 50 กิโลเมตร และมีการพูดถึงแทบทุกยุคสมัยในเรื่องการขุดเชื่อมทะเล 2 ฟากคืออันดามัน กับอ่าวไทย เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม

 

 

ไทม์ไลน์ขุดคลองไทย กลายเป็นสะพานไทยในปัจจุบัน

 

 

สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 


    • ฝรั่งเศสคิดจะขุดคอคอดกระเพื่อร่นระยะทางในการเดินเรือจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามมายังฝั่งอ่าวไทยโดยไม่ต้องอ้อมไปทางแหลมมลายู แต่เนื่องด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับอังกฤษที่เป็นเจ้าของกิจการท่าเรือในปีนังและสิงคโปร์โครงการนี้จึงต้องระงับไป

 


สงครามโลกครั้งที่ 2


    • ในสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบไทยยินยอมที่จะไม่ขุดคลองคอคอดกระ หากไม่ได้รับความยินยอมจากอังกฤษก่อน

 


ปี 1958


    • นายปรีดี พนมยงค์ เสนอให้ขุดคลอง แต่ยังคงไม่มีการขุดคลองแต่อย่างใดเนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศไทยแยกออกเป็นสองส่วนและประเทศสิงคโปร์กลัวจะเสียผลประโยชน์ด้วย

 


ปี 2001


    • วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ ผลการศึกษาที่รายงานต่อที่ประชุมมีสาระสำคัญให้เรียกชื่อคลองว่า "คลองไทย" และบริเวณที่ขุดมิใช่คอคอดกระ


    • วุฒิสภาเห็นว่ามีความเป็นไปได้และเกิดประโยชน์สูงสุดในการขุดคลองไทย คือ เส้นทาง 9A ผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ในระยะทาง 120 กิโลเมตร

 


ปี 2016


    • ความพยายามผลักดันโครงการขุดคอคอดกระหรือโครงการคลองไทยยังไม่หมดไป โดยผู้ที่เคยมีบทบาทในการผลักดันโครงการดังกล่าว เขียนจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าและให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่มีการสร้างคลองไทยในยุคที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอันขาด 

 


ปี 2020


    • มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทยเส้น 9A กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา แต่ก็ยังคงเงียบไป


    • เดือนตุลาคม ความพยายามจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะการย่นระยะทางให้สั้นลง ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกายังไม่จบ จนเริ่มมีข้อเสนอสร้างสะพานเชื่อมอ่าวไทยกับอันดามัน มูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท 

 


ปี 2021


    • โครงการแลนด์บริดจ์(สะพานเศรษฐกิจ) แทนการขุดคลองคอคอดกระ เป็นนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์และพัฒนาเมืองในภาคใต้ให้เชื่อมกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกที่กำลังเดินหน้าการพัมนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ด้วย


    • งบประมาณ 1 แสนล้านบาท พัฒนาท่าเรือระนองและสร้างท่าเรือชุมพร


    • เดินทางผ่านรถไฟคู่สายใหม่ ขนานไปกับมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 120 กม. จากชุมพร-ระนอง เชื่อม 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ 
      


หลังจากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า โครงการแลนด์บริดจ์(สะพานเศรษฐกิจ) จะเนื้อหอมจนต่างชาติอยากจะเข้ามาลงทุนได้เหมือนคลองสุเอซหรือไม่

 

 

ปัจจุบัน “คลองสุเอซ” บริหารจัดการโดย “สุเอซคาแนลออธอริตี้” หรือเอสซีเอ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอียิปต์ที่ตั้งขึ้นแทนที่ “บริษัทคลองสุเอซ” เดิม และได้ขยายคลองให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ จนกลายเป็นทรัพย์สินทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอียิปต์ โดยให้บริการเส้นทางเดินเรือกับนานาชาติคิดเป็นสัดส่วน 10 %ของเส้นทางการค้าทางเรือทั่วโลก จนรายได้พุ่งถึง 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอียิปต์ตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้พุ่งไปถึง 13,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023

 

 

ล่าสุดทางอียิปต์ยังประกาศพัฒนาคลองสุเอซครั้งใหญ่ โดยนอกจากการขยายคลองสายเดิมแล้ว ยังมีการขุดคลองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในปี ค.ศ. 2023 และน่าจะทำให้คลองสุเอซสามารถรองรับปริมาณเรือต่อวันได้มากขึ้น และลดเวลาการเดินทางได้มากกว่าเดิมอีกด้วย 

 

 

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, มติชน, Royal Thai Armed Forces กองทัพไทยReales Fuerzas Armadas de Tailandia

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง