รีเซต

รู้จัก 'คลองสุเอซ' เส้นทางเดินเรือประวัติศาสตร์ 151 ปี

รู้จัก 'คลองสุเอซ' เส้นทางเดินเรือประวัติศาสตร์ 151 ปี
มติชน
27 มีนาคม 2564 ( 09:30 )
205

 

จากกรณี สั่นสะเทือนคนไปทั่วโลก เมื่อ เรือสินค้าเอเวอร์กรีน เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดยาว 400 เมตร เจอกับพายุทรายพัด จนเสียหลัก เกยติ่งจนขวาง คลองสุเอซ ที่ถูกขุดเชื่อมทะเลแดงกับเมดิเตอร์เรเนียน ในอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางเรือที่สำคัญ ตั้งแต่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา

 

 

ส่งผลกระทบต่อการค้าของทั่วโลก เพราะมีเรือขนสินค้า ทั้งคอนเทนเนอร์ และเชื้อเพลิง ที่จ่อรออยู่หลายร้อยลำเข้าไปแล้ว และยังทำให้ราคาน้ำมัน ปรับตัวขึ้น เนื่องจากกังวลว่าจะติดอยู่หลายสัปดาห์

 

 

ซึ่งแม้ว่าจะใช้วิธีใด ๆ ทั้งลากจูง หรือขุดทราย ก็ยังไม่สามารถนำเรือออกมาได้ กระทั่ง ประธานาธิบดีของสหรัฐ ก็ยังออกมากล่าวว่า จะดูว่าจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง

 

 

 

 

สำหรับคลองสุเอซ นับได้ว่าเป็นคลองประวัติศาสตร์ ที่ถูกเปิดใช้มานานกว่า 150 ปี เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายมากที่สุด

 

 

ในคอลัมน์ ต่างประเทศ ของ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 15-21 พฤศจิกายน 2562 ระบุไว้ว่า

 

 

“คลองขนส่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ถูกขุดขึ้นระหว่างปี 1859 ถึง 1869 เป็นโครงการอันแสนทะเยอทะยานเพื่อเชื่อมโยง “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” และ “ทะเลแดง” เข้าด้วยกัน มีจุดประสงค์เพื่อร่นระยะทางเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียที่กำลังเติบโตในเวลานั้น

 

 

เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ นักการทูตชาวฝรั่งเศสผู้เป็นต้นคิดโครงการขุดคลองสุเอซขึ้นตามแนวคิดของฟาโรห์ ที่ต้องการสร้างคลองดังกล่าวขึ้นตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน ระบุว่า คลองสุเอซนั้นไม่ใช่อภิสิทธิ์ของชาติใดชาติหนึ่ง

 

 

“มันเป็นหนี้บุญคุณ และเป็นสมบัติของความทะเยอทะยานแห่งมนุษยชาติ” เดอ เลสเซปส์ ระบุในสุนทรพจน์เมื่อปี 1864

 

 

ชาวอียิปต์นับล้านคนใช้อูฐและล่อเป็นสัตว์ขนส่ง ทำงานก่อสร้างด้วยอุปกรณ์พื้นฐาน ระยะเวลายาวนานนับ 10 ปี มีผู้เสียชีวิตในโครงการดังกล่าวหลายหมื่นคน

 

 

เรือลำแรกแล่นผ่านคลองความยาว 164 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1869 ร่นระยะเวลาและความเสี่ยงจากการล่องเรืออ้อมทวีปแอฟริกาลงได้

 

 

ทว่าประวัติศาสตร์ของคลองสุเอซกลับเต็มไปด้วยความวุ่นวายในภูมิภาคตะวันออกกลางอันเปราะบางแห่งนี้

 

 

ความวุ่นวายแรกเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1956 เมื่อกามาล อับเดล นาสเซอร์ ประธานาธิบดีอียิปต์ผู้มีนโยบายสนับสนุนความเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาคอาหรับ ท้าทายผลประโยชน์ของอังกฤษและฝรั่งเศส ยึด “บริษัทคลองสุเอซ” ผู้บริหารจัดการคลองสุเอซเป็นของอียิปต์ในทันที

 

 

แม้ความนิยมในตัวประธานาธิบดีนาสเซอร์ในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น แต่นั่นเป็นชนวนของวิกฤตระดับนานาชาติ เมื่อฝรั่งเศสและอังกฤษ สองชาติผู้ควบคุมบริษัทคลองสุเอซ รวมไปถึงอิสราเอล บุกโจมตีอียิปต์ในอีก 3 เดือนต่อมา

 

 

นอกจากนี้ คลองสุเอซยังเป็นสนามรบในสงครามอาหรับ-อิสราเอล ในปี 1967 และ 1973 ด้วย

 

 

ปัจจุบันเส้นทางเดินเรือที่สำคัญแห่งนี้บริหารจัดการโดย “สุเอซคาแนลออธอริตี้” หรือเอสซีเอ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอียิปต์ที่ตั้งขึ้นแทนที่ “บริษัทคลองสุเอซ” เดิม

 

 

หลังจากองค์การสหประชาชาติ เข้ามาแทรกแซงวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยอียิปต์ยินดีจ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์ให้กับผู้ถือครองหุ้นบริษัทคลองสุเอซเพื่อยุติความขัดแย้ง

 

 

ปัจจุบันเอสซีเอขยายคลองให้ใหญ่ขึ้น ทันสมัยมากขึ้นเพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ กลายเป็นทรัพย์สินทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอียิปต์ ให้บริการเส้นทางเดินเรือกับนานาชาติคิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของเส้นทางการค้าทางเรือทั่วโลก

 

 

รวมทั้ง ปัจจุบันคลองสุเอซยังคงต้องได้รับการคุ้มกันจากทหารอียิปต์ในบางพื้นที่ ผลจากปัญหากลุ่มกบฏอิสลามหัวรุนแรง

 

 

เมื่อปี 2015 ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี เปิดคลองคู่ขนานความยาว 72 กิโลเมตร หลังการขุดคลองเป็นเวลา 12 เดือน โดย “เลน” สำหรับเดินเรือใหม่นั้นส่งผลให้อียิปต์สามารถทำสถิติเป็นเส้นทางผ่านเรือสินค้า 81 ลำ ขนสินค้าน้ำหนักรวม 6.1 ล้านตันผ่านคลองสุเอซได้ในวันเดียว

 

 

รายได้ของเอสซีเอเมื่อปีงบประมาณ 2018-2019 พุ่งถึง 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้น 5.4 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ผลจากการเติบโตของการค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย รวมไปถึงยุโรปและอินเดีย

 

 

โดยอียิปต์ตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้พุ่งไปถึง 13,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023

 

 

งานเฉลิมฉลองเปิดคลองสุเอซในปี 1869 เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่และหรูหรา พิสูจน์ได้จากการที่จักรพรรดินียูเจนี ชายาจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสเข้าร่วมงานในครั้งนั้นด้วย”

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง