รีเซต

Editor’s Pick: คลองสุเอซ เส้นทางขนส่งเชื่อมยุโรป-เอเชีย กับวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

Editor’s Pick: คลองสุเอซ เส้นทางขนส่งเชื่อมยุโรป-เอเชีย กับวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
TNN World
26 มีนาคม 2564 ( 12:38 )
275
Editor’s Pick: คลองสุเอซ เส้นทางขนส่งเชื่อมยุโรป-เอเชีย กับวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
คลองแห่งการแย่งชิง คลองแห่งสมรภูมิ ขุมเงินของอียิปต์ กับวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ ที่กำลังกระทบเศรษฐกิจโลก สูญเงินเฉียดหมื่นล้านต่อวัน
 
เพียงเพราะ ‘เรือยักษ์’ เกยตื้นขวางคลอง
 
 
ทำความรู้จัก...คลองสุเอซ
ด้วยความยาวถึง 193 กิโลเมตร คลองที่มนุษย์สร้างขึ้นแห่งนี้ ถือเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือที่คึกคักที่สุดในโลก มักมีเรือบรรทุกสินค้าระดับ ‘ซูเปอร์แทงเกอร์’ เดินทางผ่านทุกวัน
เหตุผลที่คลองสุเอซ เป็นเส้นทางขนส่งยอดนิยม เพราะช่วยร่นระยะทางข้ามทวีปเอเชีย ตัดผ่านตะวันออกกลาง เข้าสู่ยุโรป ได้มหาศาล
 
 
การขุดคลองสุเอซ
การขุดคลองแห่งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 150 ปีก่อน และใช้เวลาถึง 10 ปีในการขุดคลองจนสำเร็จ ก่อนจะเปิดใช้งานจริงในเดือนพฤศจิกายน ปี 1869 เป็นเส้นทางตัดผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เข้าสู่อ่าวสุเอซ และทะเลแดง
รัฐบาลอียิปต์บรรจุให้คลองสุเอซเป็นทรัพย์สินของชาติในปี 1956 และก่อตั้งบริษัท ‘สุเอซ คาแนล ออร์ทอริตี’ หรือ SCA ขึ้นมาบริหารจัดการ
คลองสุเอซในช่วงสร้างเสร็จนั้น มีความยาว 183 กิโลเมตร ก่อนที่ต่อมาในปี 2015 รัฐบาลอียิปต์จะขุดคลองส่วนขยาย จนทำให้มีความยาว 193 กิโลเมตรในปัจจุบัน
 
 
วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
ด้วยความสำคัญยิ่งยวด ในฐานะเส้นทางขนส่งทางเรือสำคัญระดับโลก ผู้เล่นมากมายพยายามเข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์ของคลองสุเอซ
ในปี 1956 หุ้นส่วนการก่อสร้างคลองแห่งนี้ในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิสราเอล ไม่ยอมรับการถือสิทธิครอบครองของรัฐบาลอียิปต์ จึงพยายามบุกเข้ามายึดครอง เรียกอีกชื่อว่า ‘การบุกครองไตรภาคี’ ในโลกอาหรับ หรือ ‘ปฏิบัติการคาเดซ-สงครามไซนาย’ ในอิสราเอล
การสู้รบเกิดขึ้น การเมืองร้อนแรง จนมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และสหประชาชาติ ต้องเข้าแทรกแซง กดดันให้ผู้รุกรานสามชาติต้องล่าถอย
 
 
คลองแห่งสมรภูมิ
ปัญหารุมเร้าคลองสุเอซมาตลอด จากวิกฤตการณ์คลองสุเอซ มาสู่การสู้รบระหว่างอียิปต์กับหลายชาติอาหรับ และอิสราเอล ที่เรียกว่า ‘สงครามหกวัน’ ทำให้คลองเสียหายอย่างหนัก
สงครามครั้งนั้น ทำให้คลองสุเอซต้องปิดตัวไปจนสิ้นสุดอีกสงครามหนึ่งในปี 1973 เมื่ออียิปต์กลับมามีอำนาจบริหารคลองเบ็ดเสร็จอีกครั้ง จึงทำการเปิดคลองในเดือนมิถุนายน ปี 1975
ในสมัยประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ของอียิปต์ ได้ลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายคลองสุเอซ เพื่อรองรับการค้าที่เพิ่มมากขึ้น หวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา และฟื้นฟูอียิปต์สู่ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาค
 
 
1.68 แสนล้านบาทในปีเดียว
รัฐบาลอียิปต์ทำพิธีเปิดคลองสุเอซ ‘ส่วนขยาย’ ในปี 2015
SCA คาดการณ์ว่า ส่วนขยายนี้ จะช่วยให้รายได้ต่อปีจากคลองสุเอซพุ่งสูงถึง 13.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 411,000 ล้านบาท ภายในปี 2023
ข้อมูลจาก SCA เมื่อปี 2020 ระบุว่า มีเรือเกือบ 19,000 ลำ หรือเฉลี่ย 51.5 ลำต่อวัน รวมถึงตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 30% ของโลก และประมาณ 12% ของการค้าโลกต้องส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซ
นับเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับอียิปต์ โดยเมื่อปีที่แล้ว อียิปต์มีรายได้ถึง 5.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.68 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
 
 
วิกฤตคลองสุเอซ ปี 2021
วันที่ 24 มีนาคม เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ชื่อ ‘เดอะ เอฟเวอร์ กิฟเวน’ เผชิญกับพายุทรายรุนแรง จนเกิดไฟดับทำให้ควบคุมเรือไม่ได้ แล้วประกอบกับทัศนวิสัยย่ำแย่ จึงเกิดการ ‘เกยตื้น’ ขวางคลองสุเอซ ส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าลำอื่น ๆ ไม่สามารถสัญจรไปมา
จนถึงตอนนี้ เรือยังเกยตื้นอยู่เป็นวันที่ 3 ส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าลำอื่น ๆ เกือบ 200 ลำ ไม่สามารถเดินทางผ่านเส้นทางนี้ได้
เมื่อวานนี้ SCA ระกาศงดการเดินเรือในคลองสุเอซ ซึ่งมีการสัญจรทางน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้
ตอนนี้ กำลังพยายามเข้าแก้ไขด้วยการใช้เรือลากจูงให้เรือสินค้าขนาดยักษ์ลำนี้กลับเข้าสู่บริเวณน้ำลึกและลอยลำได้ตามปกติอีกครั้ง หากเรือลากจูงไม่สามารถทำให้เรือสินค้าขยับได้ อาจจะต้องมีการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าบนเรือออกมาเพื่อให้เรือเบาขึ้น แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะใช้ต้องเวลานานเท่าใด
 
 
เสียหายเกือบหมื่นล้าน...ต่อวัน
"โชเอ ไกเซน" เจ้าของเรือชาวญี่ปุ่น กล่าวในแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษว่า ทางบริษัทรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาครั้งใหญ่ การเคลื่อนย้ายเรือให้หลุดจากการเกยตื้นเป็นเรื่องยากมาก ๆ แต่บริษัทกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความยุ่งยากที่เกิดขึ้น
แหล่งข่าวระบุว่า โชเอ ไกเซน และบริษัทประภัยของเรือลำนี้ จะถูกผู้เสียหายฟ้องร้องเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจะสามารถทำให้เรือหลุดพ้นการเกยตื้นได้อย่างรวดเร็วก็ตาม
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง ระบุว่า หากยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายเรือที่ขวางคลองออกไปได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงข้างหน้า บริษัทขนส่งบางแห่งอาจถูกบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ โดยต้องอ้อมปลายสุดทางตอนใต้ของแอฟริกาแทน ซึ่งจะเพิ่มเวลาเดินทางอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์
Lloyd 's List ประเมิณว่า การปิดกั้นคลองสุเอซที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางเรือที่มีมูลค่า ประมาณ 9.6 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน
 
 
 
 
—————
 
 
เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: Cnes2021, Distribution Airbus DS
 
ข้อมูลข่าว : TNN World
ภาพโดย David Mark จาก Pixabay 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง