เตือน! พายุไซโคลนอ่าวเบงกอลวันนี้ และรวมพายุ จากพายุโซนร้อน ถึงพายุทราย ผลกระทบต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจระดับโลก
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน พายุดีเปรสชั่นที่ปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบน คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในวันนี้ (24 พ.ค.2564) ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 24-29 พฤษภาคม 2564
พายุไซโคลน หรือพายุหมุน เป็นพายุที่มีขนาดใหญ่ เริ่มก่อตัวและมีกำลังแรงขึ้นจากบริเวณศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ ลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางบริเวณซีกโลกเหนือ เป็นลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา ส่วนบริเวณซีกโลกใต้ เป็นลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในลักษณะตามเข็มนาฬิกา บริเวณใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงสุดความกดอากาศของปรอทในบารอมิเตอร์ พายุโดยรอบจะหมุนด้วยความเร็วสูง มีความเร็วตั้งแต่ 120 - 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บริเวณศูนย์กลางพายุหมุนมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลม เรียกว่า "ตาพายุ" (Central Eye) หรือในทางวิชาการ เรียกว่า Vortex
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุไซโคลน “ยาอาส” บริเวณอ่าวเบงกอล" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564
เมื่อเวลา 10.00 น. พายุไซโคลน “ยาอาส” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 89.7 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 8 กม/ชม ความเร็วสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กม/ชม.คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศอินเดียตอนบนในช่วงวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2564
ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 24-29 พฤษภาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนทะลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดเว้นการเดินเรือ ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พายุโซนร้อน เป็นพายุที่เกิดขึ้นได้บ่อยและเกิดขึ้นได้ทั่วโลก โดยสามารถเกิดขึ้นจากการทวีความแรงขึ้นของพายุดีเปรสชันหรือการอ่อนตัวของพายุไต้ฝุ่น อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยพายุประเภทนี้ถ้าเกิดขึ้นใกล้ชายฝั่งก็มักจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด แต่ถ้าเกิดในทะเลลึกที่ห่างไกลชายฝั่งก็มักจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นในที่สุด
ขณะเดียวกัน ในช่วงฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อน สภาพอากาศแล้ง แต่ก็ยังมีโอกาสเจอ "พายุฤดูร้อน" ที่จะเกิดจากการปะทะกันของ มวลอากาศร้อน และ มวลอากาศเย็น ที่ถูกหอบมาจากความชื้นในทะเล พอมาปะทะกันแตามแนวร่องลม ทำให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรง เกิดลมกระโชกแรง ฝนตกหนักในช่วงเวลาไม่นาน รวมทั้งหลายพื้นที่เกิดลูกเห็บตามมา และสำหรับปี 2564 เพียงเข้าฤดูร้อน ก้พบว่ามีการเกิดเหตุพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ อาทิ ในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ที่พักตากอากาศหาดพัทยาน้อย ในจ.อบุลราชธานี ทำเอาแพร้านค้าเสียหาย รวมถึงกรณีล่าสุดที่ทั่วโลกฮือฮา นั่นคือกรณี เรือ Ever Given เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่เกยตื้นจนกีดขวางเส้นทางสัญจรในคลองสุเอซ จนกระทบไปทั่วโลก ซึ่งมีการอ้างถึงผลกระทบจากพายุทะเลทรายที่เกิดขึ้นในแถบนั้น ร่วมกับระบบพลังงานล่มในการเดินเรือ จนส่งผลกระทบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ข้อน่าห่วงใยที่สร้างผลกระทบสูงสุดในการเผชิญกับพายุฤดูร้อน คือ เรื่องลมแรง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นพื้นที่ที่แนวร่องความกดอากาศมาปะทะกัน ทำให้หลายพื้นที่ที่โครงสร้างบ้านไม่แข็งแรง อาจจะถูกลมแรงหอบหลังคาบ้าน ฝาบ้าน ปลิวหายไป รวมทั้งต้นไม้หักโค่น ป้ายโฆษณาล้ม เป็นต้น
อย่างไรก็ดีประเทศไทย จะอยู่ในตำแหน่งการต้องเผชิญกับ "พายุหมุนเขตร้อน" (TROPICAL CYCLONE) ซึ่งในนิยมของ พายุหมุนเขตร้อน คือ คำทั่วๆไปที่ใช้สาหรับเรียกพายุหมุนที่เกิดเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อนบริเวณที่พายุหมุนปกคลุมแคบกว่าบริเวณพายุหมุนในเขตอบอุ่น พายุดังกล่าวเมื่ออยู่ในสภาพที่เจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่นักประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก มีลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางเดียวกับเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด บางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต) ความกดอากาศต่าสุดที่บริเวณศูนย์กลางบางครั้งต่ากว่า 900 เฮกโตปาสคาล (hPa) มีลักษณะอากาศร้ายเกิดขึ้น มีฝนตกหนักมาก บางครั้งมีพายุฟ้าคะนอง ฝนและเมฆมีลักษณะไม่เหมือนกันนักในแต่ละลูก ส่วนใหญ่เป็นแนวโค้งหมุนเข้าหาศูนย์กลาง มีเมฆคิวมูลัส และคิวมูโลนิบัสที่มีฝนอยู่ด้วย เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเลและน้าขึ้นสูง ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลมมองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเรียกว่า "ตาพายุ" เส้นผ่าศูนย์กลางตาพายุเพียงแค่เป็นสิบๆกิโลเมตรเท่านั้น (ประมาณ 15-60 กิโลเมตร) ภายในตาพายุนี้อากาศแจ่มใส มีเมฆบ้างเล็กน้อย ลมพัดอ่อน
พายุหมุนเขตร้อน
มีชื่อเรียกต่างกันตามบริเวณที่เกิดขึ้น เช่น
- ในอ่าวเบงกอล และในมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า "ไซโคลน" (CYCLONE)
- ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโกและทางด้านทะเลฝั่งตะวันตกของเม็กซิโกเรียกว่า "เฮอร์ริเคน" (HURRICANE)
- ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกกับมหาสมุทรแปซิฟิกใต้และทะเลจีนใต้เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" (TYPHOON)
ความรุนแรงของพายุ
ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แบ่งพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุดังนี้
1. พายุดีเปรสชั่น (DEPRESSION) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต(63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
2. พายุโซนร้อน (TROPICAL STORM) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต(63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
3. ไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน (TYPHOON OR HURRICANE) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง
ตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
สำหรับในปีที่ผ่านมา ตลอดทั้งปี 2563 และพายุไม่เพียงทำลายบ้านเรือน แต่ยังส่งผลกระทบในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ ฯลฯ เราจึงขอรวบรวม ผลกระทบของพายุในแต่ละลูกที่เข้ากระหน่ำในพื้นที่ประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลทบทวนความพร้อมในการเตรียมตัว แม้ว่าช่วงนี้อาจจยังไม่ถึงฤดูมรสุม แต่อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลเพื่อทราบ และเตรียมพร้อมกับช่วงพายุฤดูร้อนในช่วงนี้ด้วย
รวมผลกระทบพายุปี 2563
พายุโซนร้อน"ซินลากู"
Sinlaku ตั้งโดยไมโครนีเซีย เป็นชื่อเทพธิดาแห่งธรรมชาติและสาเก (ไม้ผล) ตามความเชื่อของชาวเกาะคอสไร [ก่อตัว 31 กรกฏคม] มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1-3 สิงหาคม 2563
ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง สร้างความเสียหายขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยจากอิทธิพลของซินลากูทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน
เปิด 10 จังหวัด พายุ ซินลากู เข้าถล่ม เดือดร้อนกว่าพันครัวเรือน
พายุโซนร้อน"ฮีโกส"
Higos มะเดื่อ เป็นคำในภาษาชามอร์โร (ภาษาพื้นเมืองของเกาะกวมและหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนาของสหรัฐอเมริกา) [ก่อตัว 18 สิงหาคม] มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20-23 สิงหาคม 2563
ช่วงวันที่ 20-23 สิงหาคม 2563 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
พายุโซนร้อนฮีโกส อ่อนกำลังลง ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย
พายุโซนร้อน"โนอึล"
ตั้งโดยเกาหลีเหนือ หมายถึงสวนดอกไม้ [ก่อตัว 15 กันยายน] มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18 - 20 กันยายน 2563
พื้นที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุ “โนอึล” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก วาตภัย และดินสไลด์ รวม 29 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 121 อำเภอ 236 ตำบล 439 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,141 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (ระนอง) ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (เพชรบูรณ์)
พายุดีเปรสชัน "หลิ่นฟา"
蓮花 ตั้งโดยมาเก๊า หมายถึงดอกบัว [ก่อตัว 8 ตุลาคม] มีผลกระทบถึง 13 ต.ค. 2563
ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) บริเวณเมืองอัตตะปือ ประเทศลาว แล้ว ทำให้ด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น
รวมความเสียหายจากพายุหลิ่นฟาในจังหวัดต่าง ๆ
พายุดีเปรสชัน “โซเดล”
Saudel ตั้งโดยไมโครนีเซีย หมายถึงชื่อหัวหน้าเผ่าในตำนานของเกาะโปนเป [ก่อตัว 19 ตุลาคม] มีผลกระทบ 25-26 ตุลาคม 2563
ส่งผลทําให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนกับมีลมแรง บริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อํานาจเจริญ และอุบลราชธานี
เปิดเส้นทาง พายุโซนร้อน 'โซเดล' ไทยไม่รอดจ่อถล่ม 25-26 ต.ค.นี้
พายุดีเปรสชัน "โมลาเบ"
Molave ตั้งโดยประเทศฟิลิปปินส์ หมายถึง ชื่อไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งใช้ทำเครื่องเรือน [ก่อตัว 23 ตุลาคม] มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2563
ได้อ่อนกำลังลงเป็น หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (พายุระดับ 1) บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เตือนพายุ โมลาเบ กระทบไทยจังหวัดไหนฝนตกหนักถึงหนักมาก
พายุโซนร้อน"โคนี"
고니 #Goni ตั้งโดยเกาหลีใต้ หมายถึงหงส์ [ก่อตัว 27 ตุลาคม]
ช่วงวันที่ 6-8 พ.ย. อาจจะมีผลกระทบกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน อย่างจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ รวมทั้ง ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม จากที่สังเกตตอนนี้พายุเริ่มนิ่งๆ ต้องรอดูความกดอากาศสูงอีกครั้ง แต่ประชาชนต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะฝั่งริมแม่น้ำมูลพื้นที่ลุ่มต่ำที่กำลังประสบปัญหาอยู่ขณะนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2563 พายุอ่อนตัวลงจาก ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อมาถึงประเทศไทยอ่อนตัวลงเป็น ดีเปรสชันมีฝนเบาบาง
- พายุโคนี ลูกใหม่ก่อตัวใกล้ฟิลิปปินส์ ลุ้นกระทบไทยสัปดาห์หน้า
- พายุโคนี ขึ้นฝั่งเวียดนาม 9 จังหวัดอีสาน-ตะวันออก ฝนตกลมแรง
รู้จัก'พายุทราย'
พายุทราย (Sandstorm) หรือ พายุฝุ่น (Dust storm) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางด้านบรรยากาศ ที่มักเกิดขึ้นในเขตแห้งแล้ง หรือเขตกึ่งแห้งแล้ง โดยจะเกิดขึ้นเมื่อแนวประทะลมกระโชก หรือกระแสลมแรงรูปแบบอื่นเป่าเม็ดทรายและฝุ่นออกจากพื้นดินแห้ง อนุภาคขนาดเล็กเหล่านั้นจะถูกทำให้เคลื่อนที่กระจายออกไปตามแนวแรงลมและเป็นฝุ่นแขวนลอยม้วนลอยขึ้นในอากาศ ส่งผลต่อการบดบังทัศนวิศัยทั้งหมดในบริเวณ โดยทะเลทรายที่มีมีความหนาแน่นสูงมักจะพบกับพายุทะเลทรายอยู่บ่อยครั้ง โดยจะเกิดขึ้นในบางช่วงของปีจากความไม่เสียรของสภาพอากาศ พายุทรายก่อตัวได้สูงตั้งแต่ไม่เกิน 10 ฟุต แต่บ้างครั้งก็อาจสูงได้ถึง 50 ฟุตจากพื้นดิน
และไม่เพียงแต่ฝุ่นทรายเท่านั้น ยังพบอันตรายอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายเนื่องจากมีการพัดพาเชื้อไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศมาด้วย มันจึงกลายเป็นตัวหายนะที่จะแพร่เชื้อไปทั่วโลกได้อีกด้วย และที่เป็นอันตรายสุด ๆ ก็คือในบุคคลที่เป็นโรคหอบหืด เมื่อสูดด้วยพวกฝุ่นทรายเข้าไปมาก ๆ จะทำให้ปอดทำงานผิดปกติจนถึงขึ้นเสียชีวิตได้ และเป็นสาเหตุของปอดบวมฝุ่น หรือโรคซิลิโคสิส หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้การหายใจติดขัด หายใจไม่ออก จนเป็นมะเร็งปอด ดวงตาของเราก็เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน อย่างโรคตาแห้ง หรือ Keratoconjunctivitis sicca เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสที่จะทำให้คน ๆ นั้นถึงขั้นตาบอดได้เลย ในบางงานวิจัยเคยระบุไว้ว่ามันส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตของเราอีกด้วย
อีกทั้งผลกระทบต่อด้านการเกษตร พายุจะพัดฝุ่นมากมายมาทับทมเต็มไร่ และใบ ทำให้พืชสูญเสียพื้นที่จำเป็นในการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้พืชเติบโตได้ช้าลง ทำให้ผลผลิตและรายได้ของผู้คนน้อยลง มันยังส่งผลระยะยาวต่อไปอีก เพราะว่าพายุยังพัดสารที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ มาปนเปื้อนลงบนดิน ทำให้พืชขาดสารอาหาร หรือได้รับสารอาหารที่เกินจำเป็นจนช็อค หรือเหี่ยวตาย นี่หละความน่ากลัวของมัน ไม่มีใครยินดีที่จะได้เห็นพายุเหล่านี้เกิดขึ้นในบริเวณที่พวกเขาอยู่ ถ้าเห็น สิ่งที่ควรทำคือเตรียมตัวหลบกันให้ดี ๆ
เร็วๆนี้ (ต้นเดือนมี.ค.2564) ในพื้นที่ของประเทศเกาหลีใต้ ต้องเผชิญกับภาวะพายุฝุ่นเหลือง ที่หอบเอาทรายจกทะเลทรายมองโกเลีย พัดข้ามปักกิ่ง ประเทศจีน ลอยลมเข้ามาสู่เกาหลีใต้ กลายเป็นผลกระทบของพายุข้ามชาติ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในหลายประเทศร่วมกัน
หรืออย่างกรณี พายุทราย ที่ถูกอ้างว่าเป็นปัจจัยหนึ่งส่งผลกระทบต่อ การเดินเรือในคลองสุเอช ประเทศอีบิปต์ เมื่อเรือเอฟเอวร์ กรีฟเวน ต้องเสียเส้นทางเดินเรือ หันหัวเรือไปเกยตื้น กว่าจะกู้ให้กลับมาเดินเรือได้ปกติก็สร้างทั้งผลกระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าทางทะเลและเรื่องเส้นทางเดินเรือไปพร้อมกัน จนหอบเรือลำยักษ์อย่าง Ever Given ขวางคลองสุเอซ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมาได้
โดยมีการคาดการณ์ถึงสาเหตุที่มาจากกระแสลมแรงที่มีความเร็วถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บวกกับ พายุทะเลทราย พัดเรือจนขวางคลองสุเอซ ส่งผลให้ส่วนหัวเรือเกยตื้นกับฝั่ง ไม่สามารถบังคับเรือออกมาได้ สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกในที่สุด
อิทธิพล และผลกระทบของพายุในรูปแบบต่างๆ จึงนำมาซึ่งความเสียหายทั้งสภาพความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ทำได้เพียงการเตรียมรับมือให้ได้และให้ปลอดภัยเท่านั้น แต่หากเรายังไม่หยุดการทำลายธรรมชาติ ความรุนแรงจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงไร เป็นเรื่องที่ธรรมชาติจะเป็นผู้ให้ คำตอบ เท่านั้น.
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- เปิดที่มาชื่อ 'พายุ' ตั้งจากอะไร?
- รู้จัก ระดับความรุนแรงของพายุ และชนิดของพายุ
- เมื่อต้องเผชิญหน้า พายุฤดูร้อน อันตรายแค่ไหน ที่ต้องระวัง!
ภาพปก : Image by enriquelopezgarre from Pixabay / Image by enriquelopezgarre from Pixabay