รีเซต

ต้นเหตุเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ คาดเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์

ต้นเหตุเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ คาดเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์
TNN ช่อง16
29 มีนาคม 2564 ( 08:40 )
433
ต้นเหตุเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ คาดเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์

วันนี้ (29มี.ค.64) เจ้าหน้าที่คลองสุเอซของอียิปต์ยังไม่สามารถทำให้ เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ Ever Given ที่เกยตื้นขวางคลองมาตั้งแต่วันอังคาร กลับมาลอยลำได้ หลังจากความพยายามสองวันช่วงสุดสัปดาห์ล้มเหลว แม้จะทำให้เรือกลับมาขยับได้เล็กน้อยเป็นครั้งแรก

 

ช่วงเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา เรือลากมากกว่า 15 ลำใช้จังหวะช่วงน้ำขึ้นสามารถดูดทรายออกจากบริเวณรอบตัวเรือได้มหาศาลกว่า 20,000 ตัน อีกทั้งยังช่วยดันเรือยักษ์ไปมาในทุกทิศทาง จนทำให้เรือสามารถขยับไปทางซ้ายและขวาได้ข้างละ 30 องศา และหางเสือและท้ายเรือเริ่มกลับมาเคลื่อนตัวได้บ้างแล้ว แม้ว่าจะมีลมแรงและกระแสน้ำสูงเป็นอุปสรรคบ้าง ถือเป็นความก้าวหน้าเล็กๆ ที่น่ายินดี แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเรือเอเวอร์ กิฟเว่น จะกลับมาลอยขึ้นเหนือน้ำได้เมื่อไหร่ 

 

ประธานสำนักงานบริหารคลองสุเอซเผยว่า เริ่มมีน้ำไหลใต้ท้องเรือแล้ว แต่เรือยังขยับและเคลื่อนออกจากจุดที่เกยตื้นได้ ทำให้หลังจากนี้ อาจจำเป็นต้องขนถ่ายตู้สินค้าลงบางส่วนจากที่มีอยู่กว่า 20,000 ตู้ เพื่อให้เรือมีน้ำหนักบรรทุกลดลง โดยต้องหาอุปกรณ์หนักอีกหลายอย่างเพื่อใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงเครนขนาดใหญ่ที่สามารถขยายยืดออกได้สูงถึง 60 เมตรขึ้นไป 

 

ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ๆ และว่าสาเหตุที่ทำให้เรือระวางขับน้ำ 20,000 ตัน ยาว 400 เมตร หรือยาวเท่าสนามฟุตบอล 4 สนามต่อกันลำนี้เกยตื้นเนื่องจากกระแสลมแรงและพายุทรายเป็นอุปสรรคต่อทัศนวิสัยนั้น ไม่น่ามาจากสภาพอากาศไม่ดี แต่น่าจะเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคหรือความผิดพลาดของคนมากกว่า โชคดีที่ดูเหมือนเรือไม่เสียหายเพราะไม่มีน้ำเข้าเรือ ทันทีที่ลอยลำได้ก็จะเดินเรือได้อีกครั้ง  

 

เหตุเรือสินค้าเกยตื้นขวางคลองสุเอซ ที่เป็นเส้นทางการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ทำให้มีเรือจอดรอทั้งสองฝั่งไม่ต่ำกว่า 300 ลำแล้ว คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ถูกกักอยู่วันละ 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 295,000 ล้านบาท) หรือชั่วโมงละ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12,300 ล้านบาท) 

 

ขณะที่การขนส่งสินค้าและน้ำมันร้อยละ 12 ของทั้งโลกต้องผ่านคลองสายนี้ที่มีความยาว 193 กิโลเมตร เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง จึงเป็นเส้นทางลัดที่สุดระหว่างยุโรปกับเอเชีย แต่มีเรือหลายลำรอไม่ไหว ยอมอ้อมแหลมกู้ดโฮป ทางใต้สุดของทวีปแอฟริกาแทนบ้างแล้ว แม้จะต้องใช้เวลานานขึ้น 2 สัปดาห์ ด้านอียิปต์เผยว่า สูญเสียรายได้จากการปิดคลองมากถึงวันละ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 430 ล้านบาท)

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง