รีเซต

เจาะประสิทธิภาพล่าสุด ของ “ซิโนแวค” ป้องกันโควิดกลายพันธุ์ 90% ฉีดสูตรผสมยังปลอดภัย

เจาะประสิทธิภาพล่าสุด ของ “ซิโนแวค” ป้องกันโควิดกลายพันธุ์ 90% ฉีดสูตรผสมยังปลอดภัย
Ingonn
22 กรกฎาคม 2564 ( 15:59 )
239
เจาะประสิทธิภาพล่าสุด ของ “ซิโนแวค” ป้องกันโควิดกลายพันธุ์ 90% ฉีดสูตรผสมยังปลอดภัย


ฉีดซิโนแวคอาจปลอดภัยหายห่วงได้ เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคเมื่อใช้จริงในประเทศไทยถึง 4 พื้นที่ ป้องกันติดเชื้อสูงถึง 90.7% และป้องกันสายพันธุ์อัลฟาได้ถึง 90% ในพื้นที่ที่มีการระบาดของสายพันธุ์นั้น ซึ่งผลการวิจัยนี้อาจสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยมั่นใจในวัคซีนซิโนแวคมากขึ้น

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพามาดู ผลการศึกษาประสิทธิภาพการฉีด "ซิโนแวค" 4 แหล่งพื้นที่ ว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง จะสั่งเพิ่มอีกหรือไม่ ปลอดภัยไหมกับการฉีดเข็มที่ 3 หรือวัคซีนสูตรผสม

 

 

สธ. เผยผลการศึกษาประสิทธิภาพการฉีด "ซิโนแวค" 4 แหล่ง 


กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยรายงานการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค ที่ได้นำมาฉีดให้กับคนไทยใน 4 แหล่ง มีดังนี้

 

1. จ.ภูเก็ต ได้ติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 64 จำนวนกว่า 1,500 ราย พบการติดเชื้อ เพียง 124 ราย หากเทียบกันระหว่างผู้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.7% 

 


2. จ.สมุทรสาคร ได้ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กว่า 500 ราย ช่วงเดือน เม.ย. 64 พบติดเชื้อ 116 ราย ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.5% 

 


3. จ.เชียงราย ได้ติดตามกรณีการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุข ช่วงเดือนมิ.ย. 64 กว่า 500 ราย พบการติดเชื้อ 40 ราย

 

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความรุนแรงเรื่องปอดอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็มป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88.8% และป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9% สำหรับ บุคลากรที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มครบ 14 วัน ป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 83.8%

 


4. กรมควบคุมโรค ได้ใช้ฐานข้อมูลติดตามบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อทั้งประเทศ และข้อมูลการรับวัคซีนช่วงเดือน พ.ค. 64 ที่การระบาดเป็นสายพันธุ์อัลฟา พบว่าประสิทธิผลซิโนแวค 2 เข็ม อยู่ที่ 71% 


ส่วนเดือน มิ.ย. 64 ที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาทั้งประเทศราว 20 - 40% พบประสิทธิผลอยู่ที่ 75%

 


ดังนั้น หากฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อจากสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณ 90% และป้องกันปอดอักเสบได้ 85% ส่วนประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาขณะนี้ ถือว่ายังคงที่

 


สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น และการฉีดสลับประเภทของวัคซีนนั้น จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการ พบว่าจะสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้ได้สูงกว่าเดิมได้รวดเร็วและสูงมากขึ้น

 

 

 

 

 

วัดประสิทธิภาพซิโนแวคหลังบูสเตอร์โดส


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ทั้งประเทศรวบรวมโดยกรมควบคุมโรค ช่วงเดือนพฤษภาคมพบว่าป้องกันการติดเชื้อ 70.9% ข้อสังเกต คือ ประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดลง เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ ต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเป็นเข็ม 1 ซิโนแวค เว้น 3-4 สัปดาห์ฉีดเข็มสองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 

 

 

ประสิทธิผลการป้องกันโรคสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รวมถึงฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากใช้เวลา 4 สัปดาห์ จากเดิมฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มต้องเว้นช่วง 12 สัปดาห์ ทำให้รองรับสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้น

 

 

ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด ว่า มีกลไกสำคัญคือสร้างภูมิคุ้มกันโดยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวกลุ่ม B cells ที่จะสร้างแอนติบอดีออกมาในกระแสเลือด และป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ ส่วนชนิด mRNA และไวรัลเวคเตอร์มีกลไกสร้างภูมิคุ้มกันทั้งสองอย่างคือกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T cells ที่จะไปฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสและกระตุ้นเม็ดเลือดขาวกลุ่ม B cells ให้สร้างแอนตี้บอดี้

 

 

ซึ่งการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็ม 1 เป็นชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) ที่กระตุ้น B cells ได้ดี แต่กระตุ้น T cells ไม่ดีนัก และปรับเอาวัคซีนที่กระตุ้น T cells ได้ดี คือ ไวรัลเวคเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) มาฉีดเป็นเข็มที่ 2 จึงกลายเป็นให้ฉีดด้วยซิโนแวค เว้น 3 สัปดาห์แล้วฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า โดย 2 สัปดาห์หลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูง รวมใช้เวลา 5 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันสูงพอน่าจะครอบคลุมสายพันธุ์เดลตาได้ และไม่มีข้อห้าม หากไม่แพ้วัคซีน กลุ่มผู้สูงอายุ 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์สามารถฉีดได้

 

 


มาเลเซียยืนยันอีกเสียง ซิโนแวคเทียบเท่าไฟเซอร์


นูร์ ฮิซาม อับดุลเลาะห์ อธิบดีกรมอนามัยของมาเลเซีย ระบุว่า ข้อมูลทางการแพทย์จากการใช้งานจริงแสดงให้เห็นว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ของซิโนแวคและไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้ไม่ต่างกัน ผลการศึกษาพบว่าซิโนแวคลดการติดเชื้อโควิด-19 ลงได้ 65.9% ลดการรักษาในโรงพยาบาลลง 87.5% ลดการเข้าหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ลง 90.3% และลดการเสียชีวิตลง 86.3%

 

 

ขณะที่การทดลองวัคซีนของไฟเซอร์ที่ระบุว่าวัคซีนประสิทธิภาพ 95% นั้นทำกับกลุ่มตัวอย่างที่น้อยมาก โดยมีการนำข้อมูลจากเพียง 170 เคสมาวิเคราะห์ ซึ่งในจำนวนนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีเพียง 8 คน และอีก 162 คนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

 

 

จากข้อมูลดังกล่าวเห็นว่า วัคซีนซิโนแวคและไฟเซอร์นั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากนักในการใช้งานจริง โดยวัคซีนทั้ง 2 ตัวต่างก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคร้ายแรงและการรักษาในโรงพยาบาล แต่มีประสิทธิภาพจะลดลงในการป้องกันอาการป่วยเล็กน้อยหรือในการป่วยแบบไม่แสดงอาการ

 

 

 

ล่าสุดกรมควบคุมโรค เซ็นคำสั่งถึงผอ.องค์การเภสัชกรรม ขอความอนุเคราะห์นำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม 10.9 ล้านโดส เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกัน ควบคุมโรค และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย และประชาชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของประเทศ

 

 


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , มติชน

 

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง