รีเซต

รู้จัก “วัคซีนบูสเตอร์โดส” การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 3

รู้จัก “วัคซีนบูสเตอร์โดส” การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 3
Ingonn
6 กรกฎาคม 2564 ( 14:54 )
1.7K
รู้จัก “วัคซีนบูสเตอร์โดส” การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 3

 

กระแสมีผล! หลังจากมีการเรียกร้องให้ฉีดวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นเข็มที่ 3 เพราะถือเป็นด่านหน้าสำคัญที่ต้องต่อสู้กับโรคโควิด-19 และหากแพทย์ พยาบาลติดโควิด จะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขล่มได้ ล่าสุดที่ปรึกษา ศบค.เผย เตรียมฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์กว่า 7 แสนคน ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มเป็นลำดับแรก สยบดราม่า “ถ้านำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ อาจถือเป็นการยอมรับว่า วัคซีนซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น"

 

 

วันนี้ TrueID จะมารู้จักการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส หรือวัคซีนเข็มที่ 3 ว่าปัจจุบันมีหลักการฉีดอย่างไร ที่ไหนเริ่มฉีดกันแล้วบ้าง 

 

 


รู้จัก “วัคซีนบูสเตอร์โดส”


วัคซีนบูสเตอร์โดส เป็นการฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 1 เข็ม เพื่อป้องกันเชื้อโควิดกลายพันธุ์ โดยศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ระบุถึงการพิจารณาวัคซีนบูสเตอร์โดสต่อเชื้อกลายพันธุ์  ว่าทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงชัดเจน จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าการกลายพันธุ์ส่งผลต่อภูมิหลังรับวัคซีน ไม่ใช่วัคซีนไม่ดี แต่เชื้อมีการกลายพันธุ์ จึงจำเป็นที่จะต้องหาวัคซีนรุ่นการผลิตใหม่ เร็วสุดอาจได้วัคซีนในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ระหว่างที่รอวัคซีนที่จะมีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้ต้องหาแนวทาง บูสเตอร์โดส หรือ กระตุ้นภูมิ

 

 

 

ใครได้รับ “วัคซีนบูสเตอร์โดส”


กลุ่มที่ควรจะได้รับบูสเตอร์โดส คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีมากกว่า 7 แสนคน แต่จะพิจารณาจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดก่อน คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย หลังจากนั้นจะเป็นกลุ่มเสี่ยงรองลงมาคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

 

 


ฉีดบูสเตอร์ ร่วมกับวัคซีนอะไร

 

ในประเทศไทยใช้ 2 ตัว คือ ซิโนแวค เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันลดลงครึ่งหนึ่งใน 3-4 เดือน ซึ่งเข็มบูสเตอร์โดสจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ วัคซีน mRNA หากในสัปดาห์นี้ วัคซีน “ไฟเซอร์” ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดสยังไม่มา จะพิจารณาให้ "แอสตร้าเซนเนก้า" แต่หากไฟเซอร์เข้ามาภายหลังก็จัดให้ตามล็อตที่วัคซีนเข้ามา ไม่สามารถระบุได้ว่าต้องการวัคซีนชนิดใด  

 

 

ล่าสุดครม.อนุมัติซื้อไฟเซอร์แล้ว จะเข้ามาเร็วที่สุดต.ค.นี้ จำนวน 20 ล้านโดส ให้ประชาชนฟรี และจะไปเร่งฉีดเข็ม 1 และ 2 ให้คนไทยได้ 70% ให้มากที่สุด

 

 

ขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูล ว่าจะเป็นการเว้นระยะกี่เดือน รวมไปถึงข้อมูลของวัคซีนที่ควรนำมาใช้ คาดว่าจะประมาณ 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากการบูสเตอร์โดสต้องพิจารณากรณีการกลายพันธุ์ด้วย ไม่เช่นนั้นบุคลากรก็จะติดเชื้อ และปฏิบัติงานไม่ได้ วัคซีนที่จะมากระตุ้นก็ต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

 

 


ประเทศไหนเริ่มฉีดเข็มที่ 3 แล้วบ้าง


ขณะนี้มีเพียง 2 ประเทศ ที่มีการฉีดเข็ม 3 คือ ยูเออี หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรต และ บาเรห์ มีการศึกษาคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 แต่เป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม แต่กระตุ้นไม่ได้มาก เพราะข้อมูลที่มีอยู่หากจะกระตุ้นให้มาก จะต้องเป็นการฉีดวัคซีนต่างแพลตฟอร์ม อย่าง ซิโนแวคและซิโนฟาร์ม เป็นชนิดเชื้อตาย ต้องกระตุ้นด้วยแพลตฟอร์มอื่น เช่น ไวรัลเวกเตอร์ จากแอสตร้าเซนเนก้า หรือ mRNA จากไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ดังนั้น ข้อมูลในส่วนนี้มีน้อยมาก ยังไม่มีประเทศไหนที่ฉีดเข็ม 3 อย่างเป็นทางการ

 

 

ส่วนอังกฤษเตรียมเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ให้แก่ประชาชนกลุ่มที่มีร่างกายอ่อนแอ ผู้สูงอายุ ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ คู่กับการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว

 

 

ล่าสุดสมาคมการแพทย์แห่งอินโดนีเซีย มีแพทย์อย่างน้อย 20 ราย และพยาบาลอย่างน้อย 10 ราย ที่เสียชีวิต หลังได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์ได้วัคซีนซิโนแวคเป็นโดสที่ 3 ในช่วงที่ประเทศกำลังรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต

 

 


ผลวิจัยฉีดเข็มที่ 3 ในต่างประเทศ


เว็บไซต์เดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ระบุว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 3 หลังได้รับเข็มที่ 2 มาแล้วนานกว่า 6 เดือน ทำให้ร่างกายมีแอนติบอดีเพิ่มขึ้น และช่วยให้ที-เซลล์มีความสามารถใช้การต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น ซึ่งรวมไปถึงเชื้อกลายพันธุ์ด้วย  

 

 

จากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่อย่างน้อย 1 ปีหลังฉีดโดสแรก และยังสามารถเว้นระยะระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ได้นานถึง 45 สัปดาห์ ตามรายงานพบว่า การเว้นระยะ 45 สัปดาห์ ซึ่งเท่ากับ 10 เดือนครึ่ง ทำให้การตอบสนองของแอนติบอดีสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังจากการรับวัคซีนโดสที่ 2 แล้ว รวมถึงสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา ได้ดีขึ้น

 

 


อย่าเพิ่งรีบจองวัคซีน mRNA ฉีดบูสเตอร์


คนทั่วไปที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วไม่ว่าชนิดไหน ที่จะไปจองเข็ม 3 ชนิด mRNA เนื่องจากกรณีที่ฉีดซิโนแวค พบว่าภูมิคุ้มกันจะลดลดประมาณครึ่งหนึ่งช่วง 3-4 เดือน หลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว ส่วนคนฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ค่าดังกล่าวจะลดลงในช่วง 6 เดือน 

 

 

ยังไม่จำเป็นต้องไปจองวัคซีนชนิด mRNA เพื่อมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพราะหากวิเคราะห์การทิ้งห่างของเข็ม 2 และเข็ม 3 จะได้วัคซีนรุ่นเก่า ทางที่ปรึกษา ศบค. อยากให้ประชาชนรอวัคซีนรุ่นใหม่ที่เร็วสุดปลายปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งจะครอบคลุมสายพันธุ์และปลอดภัยมากขึ้น และที่สำคัญองค์การอนามัยโลก ยังแนะนำให้ฉีดเข็ม 1 และ 2 เป็นวัคซีนจากยี่ห้อเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนของผลข้างหลังรับวัคซีนด้วย

 

 

ข้อมูลจาก TNN , workpointtoday , มติชน , ข่าวสด

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง