รีเซต

"วัคซีนป้องกันโควิดกลายพันธุ์" ที่ไทยต้องมีต้านสายพันธุ์เดลต้า-อัลฟา ที่ระบาดหนัก!

"วัคซีนป้องกันโควิดกลายพันธุ์" ที่ไทยต้องมีต้านสายพันธุ์เดลต้า-อัลฟา ที่ระบาดหนัก!
Ingonn
4 กรกฎาคม 2564 ( 10:12 )
8.1K
2
"วัคซีนป้องกันโควิดกลายพันธุ์" ที่ไทยต้องมีต้านสายพันธุ์เดลต้า-อัลฟา ที่ระบาดหนัก!

 

หมอหลายคนออกโรงเตือนสัญญาณการระบาดหนักของโควิด-19 ในไทย มาจากสายพันธุ์โควิด เช่น สายพันธุ์อินเดีย (สายพันธุ์เดลต้า) , สายพันธุ์อังกฤษ (สายพันธุ์อัลฟา) และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (สายพันธุ์เบต้า) ที่มีการกระจายเชื้อติดทั่วประเทศ ทำให้จังหวัดหลายแห่งต้องล็อกดาวน์สกัดการระบาด เพื่อไม่ให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้ ซึ่งทางออกของการลดเชื้อโควิด-19 ลงได้ อีกทางก็คือ “การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด” แต่ไม่ใช่วัคซีนทุกชนิดจะสามารถป้องกันการกลายพันธุ์ได้ดีทั้งหมดอีกเช่นเดียวกัน

 

 

วันนี้ TrueID ได้นำผลวิจัยจากหลากหลายสถาบันทางการแพทย์ มารวบรวมและสรุปได้ว่าวัคซีนชนิดไหนสามารถป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้ดี และไทยมีแนวโน้มนำเข้าวัคซีนชนิดนั้นบ้าง เพื่อให้เราได้เตรียมความพร้อมเผื่อวันหนึ่งได้มีโอกาสฉีดวัคซีนป้องกันการกลายพันธุ์

 

 


สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ระบุว่า วัคซีนทุกชนิดที่ใช้อยู่ในโลกขณะนี้ กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์อินเดียได้น้อยลงเมื่อเทียบกับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม ข้อมูลเท่าที่มีพบว่า วัคซีนชนิด mRNA และวัคชีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ แม้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายอย่าง ซิโนแวค ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย ที่จะกลายเป็นเชื้อที่ระบาดวงกว้างที่สุดทั่วโลก

 

 

 

ดังนั้นวัคซีนชนิด mRNA  ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ ส่วนวัคชีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccine) ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

 

 

 

วัคซีนชนิด mRNA ป้องกันการกลายพันธุ์


วัคซีนชนิด mRNA ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้าร่างกาย สารพันธุกรรมจะทำร่างกายมนุษย์สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา 


ข้อดี คือ ผลิตง่าย รวดเร็ว ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก และราคาไม่สูงมาก 

 

ข้อจำกัด คือ เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่เคยมีใช้ทั่วโลกก่อนหน้านี้ ยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในระยะยาวและประสบการณ์การใช้อาจมีไม่มากนัก นอกจากนี้วัคซีนในกลุ่มนี้ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก เช่น -70 หรือ -20 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงประสิทธิภาพไว้ได้

 

 

 

วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิดกลายพันธุ์

 

นักวิจัยในรัฐกัลฟ์ของกาตาร์ วิจัยงานที่เผยแพร่ทาง the New England Journal of Medicine เกี่ยวกับการศึกษาประสิทธิภาพการใช้จริงของวัคซีนไฟเซอร์ ในประเทศกาตาร์ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สรุปประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ต้านโควิด-19 กลายพันธุ์อย่างชัดเจน ดังนี้

 


วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) มากถึง 89.5% และต้านเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) อยู่ที่ 75% เมื่อผ่านไปแล้ว 14 วันหลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม

 

 

 

วัคซีนโมเดอร์นาป้องกันโควิดกลายพันธุ์

 

บริษัทโมเดอร์นา เปิดเผยว่า จากการศึกษาตัวอย่างเลือดของ 8 คน ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วใน 1 สัปดาห์ ผลชี้ว่าผู้ได้รับวัคซีนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันที่สามารถต้านทานต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงสายพันธุ์เดลต้า ที่พบในอินเดีย และสายพันธุ์เบต้า ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาอีกด้วย แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าระดับประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์แยกย่อยเหล่านี้มีมากเพียงใด

 

 

 

วัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะ ป้องกันโควิดกลายพันธุ์


วัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccine) ใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่นๆ เช่น adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกาย และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้ 


ข้อดี คือ เป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่สูง 

 


ข้อจำกัด คือ ยังไม่มีประสบการณ์ใช้ในวงกว้าง และในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสที่ใช้เป็นพาหะมาก่อน วัคซีนอาจกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีมากนัก

 

 

 

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันโควิดกลายพันธุ์


บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยข้อมูลวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ได้ โดยข้อมูลล่าสุดจากสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ได้ในระดับสูง หลังจากการฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว ได้ถึง 64%

 

 

 

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) ได้ผลดีกว่า


เฟซบุ๊ก Virology and Cell Technology Lab - BIOTEC ของห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อรับมือเชื้อกลายพันธุ์โดยประเมินจากการทดลองฉีดวัคซีนในยุโรป ดังนี้

 

1.การใช้วัคซีนโควิดที่เป็น mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) เป็นเข็มที่ 2 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มาก และน่าจะรับมือไวรัสกลายพันธุ์ได้ทุกตัว 

 


2.การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ป้องกันโควิดสายพันธุ์เบต้าและแกมม่าได้ไม่ดี แต่มีผลอย่างดีในการในการยับยั้งโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อัลฟ่า

 


3.การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียว ได้ผลดีกับการยับยั้งโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่น้อยเกินไปที่จะยับยั้งโควิดกลายพันธุ์ทุกตัว

 

 


วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันป้องกันโควิดกลายพันธุ์

 

บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาในห้องทดลองพบว่า วัคซีนของบริษัทสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาซึ่งกำลังแพร่ระบาดในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ผลการทดลองฉีดวัคซีนของ J&J ให้กับอาสาสมัคร 8 คนพบว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Neutralizing Antibody ในระดับที่แข็งแกร่ง และสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ได้นานอย่างน้อย 8 เดือนซึ่งรวมถึงไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่มีการพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย

 

 


วัคซีนซิโนแวคกับการป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้ไหม

 

คณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ระบุข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและบุคลากรสาธารณสุขจากการใช้จริงในประเทศไทย ที่จังหวัดภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และฐานข้อมูลกรมควบคุมโรค ช่วงเมษายนและพฤษภาคม พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มอย่างน้อย  14 วัน สามารถลดการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาได้ 71 – 91% โดยคนที่ได้รับวัคซีนยังไม่พบการเสียชีวิตจากโควิด

 


แต่ทางสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ยังระบุเพิ่มเติมว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย คือ โคโรนาแวค ของบริษัทซิโนแวคยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อังกฤษที่ได้จากวัคชีนชนิดนี้ต่ำกว่า ที่ได้จากวัคชีนชนิด mRNA และวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ ดังนั้นวัคซีนซิโนแวคอาจส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันสายพันธุ์อินเดียที่ลดลงต่ำไปอีก จนอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนนี้โดยรวม

 

 

 

น้องใหม่ที่น่าจับตาป้องกันโควิดกลายพันธุ์

 

วัคซีนโนวาแวกซ์ 


บริษัท โนวาแวกซ์ เปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 จากกลุ่มอาสาสมัครอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งในสหรัฐฯ และเม็กซิโก พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่า 90% รวมถึงสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะสายพันธุ์อัลฟา

 

 

สำหรับวัคซีนโนวาแวกซ์ เป็นวัคซีนผลิตด้วยกระบวนการดั้งเดิม ด้วยการสร้างโปรตีนของเชื้อไวรัสด้วยระบบ cell culture, yeast, baculovirus เป็นต้น แล้วนํามาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตีบอดีต่อต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด19 ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการผลิตวัคซีนโรคไอกรน และงูสวัด

 

 

 

วัคซีนโควาซิน

 

สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NIH พบว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโควาซิน ที่ผลิตโดยบริษัท Bharat Biotech ที่พัฒนาร่วมกับศูนย์วิจัยการแพทย์ของอินเดีย ซึ่งเป็นชนิด "เชื้อตาย" มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ได้ทั้งสายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลต้าได้ดี จากการศึกษาแบ่งออกเป็น การศึกษาชิ้นที่ 1 และ ชิ้นที่ 2 โดยเก็บตัวอย่างน้ำเหลืองเลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควาซิน มาทำการศึกษาและผลพบว่า วัคซีนตัวนี้สร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันต่อทั้งโควิดสายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลต้าได้

 

สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ได้ถึงร้อยละ 93.4 และยังสามารถต้านทานเชื้อสายพันธุ์“เดลตา”หรือสายพันธุ์อินเดียที่พบเป็นครั้งแรกในอินเดียได้ถึงร้อยละ 65.2 ในผลการทดลองระยะที่ 3 

 


ในอนาคตไทยกำลังนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา

 

องค์การเภสัชกรรมได้รับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัทชิลลิกฯ จํานวน 5 ล้านโดส โดยทางบริษัทชิลลิกฯ จะทยอยจัดส่งให้องค์การฯ ในไตรมาสที่ 4/2564 ถึงเดือน มกราคม 2565 ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มีการลงนามในสัญญาจองวัคซีน หรือเทอมชีท หลังจากนั้นจะทำสัญญาจะซื้อจะขายวัคซีนไฟเซอร์แล้ว จำนวน 20 ล้านโดส คาดส่งมอบภายในปีนี้

 

 


ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย , กระทรวงสาธารณสุข , Hfocus , รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , TNN , มติชน , ข่าวสด

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง