รีเซต

เช็ก! ประสิทธิภาพ “แอสตราเซเนกา” หลังลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วพร้อมฉีดเลย

เช็ก! ประสิทธิภาพ “แอสตราเซเนกา” หลังลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วพร้อมฉีดเลย
Ingonn
9 พฤษภาคม 2564 ( 10:38 )
4K

อัปเดตล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขมีมติให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในคนอายุเกิน 60 ปี ในพื้นที่ระบาด ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศ พร้อมขอให้คนไทยมั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีนที่นำมาให้ฉีดว่ามีความปลอดภัย ได้มาตรฐานแน่นอน

 

 

วันนี้ True ID จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรรู้เกี่ยวกับวัคซีนแอสตราเซเนกาไว้ที่นี่ เพื่อให้ได้เช็กประสิทธิภาพ ก่อนลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านหมอพร้อม

 

 


วัคซีนแอสตราเซเนกา


วัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca covid vaccine) หรือ  AZD1222 เป็นวัคซีนโควิดที่คิดค้นโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University)

 

เป็น วัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์ หรือ วัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccine)โดยนำเชื้อไวรัสอดิโน่ (Adenovirus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เป็นหวัดในชิมแปนซี มาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้มีโปรตีนโคโรนาไวรัส ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาปกป้องโคโรนาไวรัสได้ในทางทฤษฎี

 

 

 

วัคซีนแอสตราเซเนกาต้องฉีดกี่เข็ม


ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันห่างกัน 4-12 สัปดาห์ หรือ 1-3 เดือน โดยฉีดที่ต้นแขนด้านบน

หากไม่ได้ไปฉีดเข็มที่ 2 ตามแพทย์กำหนด ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลถึงแนวทางการปฏิบัติ เนื่องจากการฉีดให้ครบ 2 เข็มเป็นสิ่งสำคัญในการรับวัคซีนชนิดนี้

 

 


การเก็บรักษา


สามารถเก็บและจัดส่งที่อุณหภูมิเครื่องแช่เย็นทั่วไปที่ใช้อยู่แล้วในระบบสาธารณสุข (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส) ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน

 

 


ใครบ้างต้องใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา


ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น


ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า หรือมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เช่น ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรอยู่ ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม และต้องอาศัยการศึกษาต่อไป

 

 

 

ประสิทธิภาพวัคซีนแอสตราเซเนกา


สามารถป้องกันอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ 100% ตั้งแต่ 22 วันหลังจากฉีดวัคซีนโดสแรก และผลการวิจัยล่าสุดยังพบว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเมื่อยืดระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สองห่างกันนาน 12 สัปดาห์โดยประสิทธิผลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 76%

 

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ได้ศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในคนไทย เข็มแรกเป็นระยะเวลา 1 เดือน จำนวน 61 คน ภูมิต้านทานที่ตรวจพบ มีการตอบสนอง ตรวจวัดภูมิต้านทานได้ถึง 96.7% เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจวัดภูมิต้านทานในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ ตรวจพบได้ 92.4%

 

ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจวัดได้ มีค่าตัวกลางเรขาคณิตเท่ากับ 40.61 u/ml เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ มีค่าเท่ากับ 60.86 u/ml พบว่าระดับภูมิต้านทานที่พบเพศหญิงจะให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าเพศชาย อายุที่น้อยกว่า 60 ปีจะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

 

จากข้อมูลดังกล่าวพอสรุปได้ว่า แม้จะฉีดวัคซีน AstraZeneca เพียงเข็มเดียว ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจวัดได้ก็เป็นที่น่าพอใจ

 

 


ผลข้างเคียงของวัคซีนแอสตราเซเนกา


ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบได้หลังจากฉีดวัคซีนโควิด AstraZeneca (อาจพบได้ 1 ใน 10 หรือมากกว่า) มีดังนี้


1.เจ็บ ระคายเคือง บวม หรือช้ำบริเวณที่ฉีด


2.รู้สึกอ่อนเพลีย


3.รู้สึกมีไข้ หนาวสั่น


4.ปวดหัว


5.ปวดกล้ามเนื้อ


6.ไอ เจ็บคอ


7.น้ำมูกไหล

 

 

ส่วนอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น (1 ใน 100) อาจมีดังนี้


1.มึนหัว เวียนหัว


2.เบื่ออาหาร หรืออยากอาหารลดลง


3.ปวดท้อง


4.ต่อมน้ำเหลืองโต


5.เหงื่อออกมาก


6.มีผื่นขึ้น

 

ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือด พบ 2-4 ต่อ1,000,000 การฉีด โดยมีรายงานว่าส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิงอายุ 18-59 ปีมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน  2 ต่อ 1 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอาการไข้ต่ำๆ เป็นหวัดเล็กน้อย แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนโควิด AstraZeneca ได้อยู่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

 

 

 

วัคซีนแอสตราเซเนกาใช้ในประเทศไหนแล้วบ้าง


วัคซีนแอสตราเซเนกา ถูกนำไปใช้ฉีดในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงส่งผลให้หลายชาติยุโรปเคยระงับการฉีดชั่วคราว แต่ล่าสุดกลับมาฉีดใหม่อีกครั้ง และยังมีบางประเทศที่ระงับใช้งาน อย่าง แอฟริกาใต้ และ เดนมาร์ก

 

 

 

วัคซีนแอสตราเซเนกาป้องกันโควิด-19 กลายพันธุ์ได้ไหม


สามารถป้องกันสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ได้ แต่สายพันธุ์แอฟริกา-บราซิลต้องระวัง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ ทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดกับวัคซีนเกาะและจับได้น้อยลง จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ก็ยังป้องกันได้

 

 


ราคาวัคซีนแอสตราเซเนกา


ราคาประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ประมาณ 90-121 บาท  หรือ 6-8 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ181-242 บาท สำหรับ 2 โดสต่อคน

 

 

วัคซีนแอสตราเซเนกาในไทย


บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่มาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนเป็นรายแรกกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้รับอนุมัติทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 นั้น และได้เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนโควิด–19 ผ่าน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีความพร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศอื่น ภายใต้การกำกับดูแลและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดจากบริษัท แอสตราเซเนกา เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดย อย. ทำการประเมินและพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน พบว่า ข้อมูลมีความครบถ้วน มีคุณภาพ จึงได้อนุมัติเพิ่มสถานที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา จากสถานที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในวันที่ 23 เม.ย. 2564

 


นอกจากนี้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่าน แพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศ เพราะจะมีวัคซีนชนิดนี้ถึง 16 ล้านโดสในเดือน ม.ย. และ ก.ค. 2564 ยกเว้นในช่วงเดือน พ.ค. ที่ไม่มีวัคซีนแอสตราเซเนกา มีแต่วัคซีนของซิโนแวค การฉีดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ส่วนวัคซีนอื่นๆ ที่รัฐบาลพยายามจัดหามานั้นเพื่อให้เกิดความครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรให้มากที่สุด

 

 

ข้อมูลจาก Hfocus , เฟซบุ๊กนพ.ยง ภู่วรวรรณ , hdmall

 

ภาพจาก AFP

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง