รีเซต

อย.อนุมัติแล้ว! เจาะลึกประสิทธิภาพ "วัคซีนไฟเซอร์-Pfizer" ที่ใครๆก็อยากฉีด

อย.อนุมัติแล้ว! เจาะลึกประสิทธิภาพ "วัคซีนไฟเซอร์-Pfizer" ที่ใครๆก็อยากฉีด
Ingonn
25 มิถุนายน 2564 ( 10:27 )
6K

จากกรณีกระแสวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ได้มีการนำเข้าในประเทศไทยแล้ว จนเป็นที่ฮือฮาว่ามีการเข้ามาได้อย่างไร เนื่องจากทางการของไทย อนุญาตขึ้นทะเบียนเพียงแค่ 3 บริษัทเท่านั้น จนล่าสุดทางไฟเซอร์ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่มีการนำเข้ามาแต่อย่างใด 

 

 

แต่เมื่อ 7 พฤษภาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์มาให้ประชาชน โดยประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 10 -20 ล้านโดส ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป โดยมีแผนจะกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ให้กับเด็กที่มีอายุ 12-18 ปี เพื่อครอบคลุมประชากรเพราะเป็นวัคซีนเดียวในขณะนี้ที่มีการอนุมัติใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนราคาจัดซื้อยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ตามข้อตกลงของบริษัทผู้ผลิต แต่ยืนยันว่าจะเจรจาให้ได้ราคาที่เหมาะสมที่สุด 

 

 

ล่าสุดวันที่ 24 มิ.ย. 64 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยเป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 6 ของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

 

เมื่อเป็นกระแสขึ้น คนก็เริ่มให้ความสนใจกับวัคซีนไฟเซอร์มากขึ้น เนื่องจากเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 95% วันนี้ True ID จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์มาให้ทุกคนได้รู้เอาไว้ที่นี่แล้ว

 

 

วัคซีนไฟเซอร์ 


วัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer-covid vaccine) มีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech)


 
เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน โดย mRNA เป็นสารพันธุกรรมของไวรัสทำหน้าที่คล้าย ‘แม่พิมพ์’ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะถูกถอดรหัสเป็นโปรตีนส่วนหนาม (Spike) ออกมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
 

 

วัคซีนไฟเซอร์ต้องฉีดกี่เข็ม


วัคซีนโควิดไฟเซอร์ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนด้านบนสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเข็มที่สอง 

 

 

การเก็บรักษา


ต้องเก็บในตู้แช่แข็ง -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส แต่ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) สามารถเก็บในอุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียสได้ถึง 2 สัปดาห์

 

ส่วนตู้เย็นปกติอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ 120 ชั่วโมง (5 วัน) แต่ไม่สามารถนำกลับมาแช่แข็งได้อีก ในขณะที่อุณหภูมิห้อง 2-25 องศาเซลเซียส เก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง 

 

 

ใครบ้างต้องใช้วัคซีนไฟเซอร์


บริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คแนะนำให้ผู้ที่มีเงื่อนไขต่อไปนี้ 

 

  • ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป

 

  • ผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป แต่จากการศึกษาพบว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

 

ปัจจุบันบริษัทไฟเซอร์ได้เริ่มการทดลองวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปี และวางแผนศึกษาในเด็กอายุต่ำกว่านั้น จึงต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

 

 

 

ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์


มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้มากกว่า 95% แต่พบว่าประสิทธิภาพลดลงอย่างมาก หากได้รับวัคซีนเพียงโดสเดียวจากปริมาณ 2 โดสที่กำหนด

 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ 2 โดสสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 95.3% และใน 7 วันแรกหลังได้รับครบ 2 โดส จะป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ 96.7%

 

และเมื่อผ่านไป 14 วันหลังได้รับวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 96.5% และปกป้องผู้ฉีดวัคซีนจากการเสียชีวิตได้ 98%

 

ล่าสุดไฟเซอร์ และไบออนเทค แถลงร่วมกันเมื่อปลายเดือน มี.ค. ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาร่วมกันนี้มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโรคแบบแสดงอาการจากการศึกษากับเด็ก 2,200 คน และไม่พบความน่ากังวลใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยด้วย
 

 

 

ผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์

เป็นธรรมดาของวัคซีนหลายชนิดที่อาจส่งผลข้างเคียงได้ วัคซีนโควิดไฟเซอร์เองก็เช่นกัน ดังนี้


1.มีไข้ หนาวสั่น


2.ปวดศีรษะ


3.ปวดกล้ามเนื้อ


4.อ่อนเพลีย


5.ปวด บวม บริเวณที่ฉีด

 

โดยผลข้างเคียงเหล่านี้อาจเริ่มใน 1-2 วันหลังจากรับวัคซีน จากกลุ่มทดลองพบว่าผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 และควรจะหายไปในไม่กี่วัน

 

 

ใช้ในประเทศไหนแล้วบ้าง


ขณะนี้วัคซีนได้รับอนุมัติให้ใช้ใน 48 ประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ นอกจากนี้วัคซีน ไฟเซอร์ยังอยู่ในโครงการ COVAX ซึ่งมีแผนกระจายวัคซีน 14 ล้านโดสให้กับ 47 ประเทศภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะบราซิล โคลอมเบีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และยูเครน

 

 


วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิด-19 กลายพันธุ์ได้ไหม


ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขประสิทธิภาพจริงของวัคซีนไฟเซอร์ต่อสายพันธุ์ใหม่ แต่จากการศึกษาในห้องทดลอง โดยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาทดสอบกับไวรัสที่กลายพันธุ์พบว่ามีประสิทธิภาพลดลง 2.0, 6.5 และ 6.7 เท่าต่อสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7), สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์บราซิล (P.1) ตามลำดับ


 
แต่สำหรับสายพันธุ์อังกฤษอาจเทียบเคียงได้จากผลการทดลองในอิสราเอลข้างต้น เพราะเป็นสายพันธุ์ที่พบในอิสราเอลมากถึง 80% ดังนั้นวัคซีน Pfizer น่าจะมีประสิทธิภาพสูง ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้พบน้อยเพียง 1% แต่อ้างอิงจากสำนักข่าว Reuters พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีอัตราการติดเชื้อสายพันธุ์นี้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน 

 
ส่วนสายพันธุ์เบงกอลที่กำลังระบาดในอินเดียยังไม่มีข้อมูล
 

 

ราคาวัคซีนไฟเซอร์


วัคซีนราคาโดสละ 19.5 ดอลลาร์ หรือราคาประมาณ 612 บาท ต่อโดส 

 

 

วัคซีนไฟเซอร์ในไทย


ไฟเซอร์ ประเทศไทย ออกหนังสือชี้แจง ยืนยันไม่มีนโยบายจัดจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่านตัวแทนหรือตัวกลางใดๆ และยังไม่เคยมีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านสำนักงานในประเทศไทย ตามที่ได้มีข้อความปรากฏเกี่ยวกับวัคซีนโควิด- 19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทคประเทศไทยจากหลายแหล่งข่าวและสื่อออนไลน์หลายแห่ง

 

บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและการดําเนินงานรวมถึง จุดยืนบริษัทฯ ดังนี้


- ไฟเซอร์มุ่งมั่นและยืนหยัดที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อให้คนทั่วโลกรวมถึงประชาชน ชาวไทยได้สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของเราได้อย่างเท่าเทียมกัน


- ในภาวะของการระบาด ณ ขณะนี้ ไฟเซอร์จําเป็นต้องมุ่งจัดลําดับความสําคัญโดยมุ่งเน้นการส่งมอบวัคซีน ผ่านหน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติเท่านั้น


- ในขณะนี้ ไฟเซอร์อยู่ระหว่างการทํางานและหารืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมการจัดหา วัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทย


- เราขอรับรองว่าไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ไม่มีนโยบายจัดจําหน่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่านตัวแทนหรือตัวกลางใดๆ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันไม่เคยมีการนําเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านสํานักงานในประเทศไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , กระทรวงสาธารณสุข , ศูนย์สุขภาพ HDMall , The Standard , ไทยรัฐ , PPTV

ภาพประกอบ AFP

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง