โลกกำลังป่วยหนัก โรคจากสัตว์เสี่ยงระบาด นักวิจัยชี้ต้นเหตุคือเราเอง

25 กรกฎาคม 2568 ( 11:00 )
14
งานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ ๆ ต่อการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic diseases) ซึ่งเป็นโรคที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ โดยเฉพาะโรคที่มีศักยภาพก่อให้เกิดวิกฤตสาธารณสุขรุนแรง
งานวิจัยนี้ศึกษาจำนวน 9 โรคจากสัตว์สู่คนที่มีแนวโน้มสูงที่จะก่อให้เกิดโรคระบาดใหญ่ เช่น ไวรัสซิกา อีโบลา และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ประมาณ 9% ของผิวโลกอยู่ในระดับ “เสี่ยงสูง” หรือ “เสี่ยงสูงมาก” ต่อการระบาดของโรคเหล่านี้ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดโรคระบาด ได้แก่ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนน้ำ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้รับเสียงตอบรับที่หลากหลายจากนักวิทยาศาสตร์รายอื่น บางรายชื่นชมในความแปลกใหม่และความละเอียดถี่ถ้วนของงานวิจัย ขณะที่อีกรายกลับวิจารณ์ว่า งานวิจัยนี้ไม่สามารถสะท้อนปัจจัยหลักบางประการที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และไม่สามารถใช้แนวทางเดียวครอบคลุมการประเมินความเสี่ยงทั่วโลกได้
มีโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ได้รับการบันทึกไว้แล้วมากกว่า 200 โรค โดยเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ หรือสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์ผ่านการกัด เลือด น้ำลาย หรือมูลสัตว์ ตัวอย่างเช่น โรคลายม์ พิษสุนัขบ้า และไข้หวัดนก ส่วนโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ และเชื่อว่าได้คร่าชีวิตผู้คนหลายแสนรายทั่วโลกตั้งแต่ปี 2019
เชื้อโรคมักอาศัยอยู่ในสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น สุนัขที่เป็นพาหะหลักของโรคพิษสุนัขบ้า องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายชื่อโรค “Priority diseases” ที่จัดว่าเป็นโรคจากสัตว์สู่คนที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ซึ่งมีแนวโน้มระบาดอย่างรวดเร็วในระดับภูมิภาคหรือทั่วโลก
รายชื่อโรคที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่
ไวรัสซิกา
ไวรัสอีโบลา และไวรัสมาร์เบิร์ก
SARS และ MERS
โควิด-19
ไข้เลือดออกคองโก-ไครเมีย
ไข้ลาสซา
โรคนิปาห์ และโรคจากไวรัสเฮนนิพา
ไข้ริฟต์แวลลีย์
“โรค X” ซึ่งเป็นคำเรียกสำหรับโรคที่ยังไม่ทราบชื่อ ที่อาจเป็นโรคระบาดร้ายแรงในอนาคต
จำนวนโรคติดต่อใหม่จากสัตว์สู่คนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรค ได้แก่ ภูมิอากาศ โดยเชื้อโรคและสัตว์พาหะมักเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น จึงพบโรคเหล่านี้มากในเขตร้อน
อีกปัจจัยหนึ่งคือความถี่ในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับสัตว์ โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ป่าไม้
ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อยู่ในรายชื่อ WHO ระหว่างปี 1975–2020 จากฐานข้อมูล Global Infectious Diseases and Epidemiology Network โดยไม่นับรวมโควิด-19 เนื่องจากการระบาดทั่วโลกทำให้ยากต่อการวิเคราะห์เชิงพื้นที่
นิยามของ “การระบาด” ในที่นี้ หมายถึง กรณีโรคที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือจำนวนผู้ป่วยที่มากกว่าค่าปกติ หรือเพียง 1 ราย หากเป็นโรคที่มีศักยภาพสร้างภัยคุกคามรุนแรงต่อสุขภาพประชาชน
ผู้วิจัยพบการระบาดของโรค 131 ครั้ง ในช่วงปี 1975-2020 และใช้ข้อมูลดาวเทียมวิเคราะห์ 9 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการแพร่โรค ได้แก่
อุณหภูมิสูงสุดประจำปี
อุณหภูมิต่ำสุดประจำปี
การขาดแคลนน้ำ
ปริมาณน้ำฝนรวมต่อปี
ความหนาแน่นของปศุสัตว์
ความถี่ในการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
การเปลี่ยนแปลงระยะห่างระหว่างคนกับป่า
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์
ข้อมูลเหล่านี้ถูกรวมเข้ากับแบบจำลองทำนาย (predictive model) โดยใช้เทคนิคแมชชีนเลิร์นนิง เพื่อคำนวณระดับความเสี่ยงของโรคในแต่ละภูมิภาค และได้ปรับผลให้คำนึงถึงอคติจากความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูล กล่าวคือ พื้นที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มตรวจพบและบันทึกโรคได้มากกว่า พื้นที่เสี่ยงสูงมักอยู่ในซีกโลกใต้ โดยเฉพาะละตินอเมริกาและโอเชียเนีย ขณะที่ยุโรปและอเมริกาเหนือตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ ประมาณ 9% ของพื้นที่ผิวโลก (คิดเป็นประชากรราว 130 ล้านคน) อยู่ในกลุ่มเสี่ยง “สูงมาก” หรือ “สูง” ต่อการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน
ผู้เขียนหลัก ดร. แองเจลา ฟาเนลลี จากศูนย์วิจัยร่วมแห่งคณะกรรมาธิการยุโรป ให้สัมภาษณ์ว่า งานวิจัยนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ศึกษาปัจจัยร่วมที่ส่งผลต่อโรคจากสัตว์สู่คนระดับโลกอย่างครอบคลุม
ผู้วิจัยยังใช้ข้อมูลจากกฎระเบียบสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Regulations) เพื่อประเมินขีดความสามารถของแต่ละประเทศในการตอบสนองต่อโรคที่แพร่จากสัตว์สู่คน และนำมาสร้างเป็นดัชนีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด จากดัชนีต่าง ๆ พบว่า ปาปัวนิวกินีได้รับคะแนนต่ำสุด แสดงถึงความเสี่ยงสูงสุดในการเผชิญกับโรคระบาด
ผู้วิจัยวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความเสี่ยงของการระบาด และพบว่า ปัจจัยส่วนใหญ่ เช่น อุณหภูมิสูงสุดและปริมาณน้ำฝน มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเสี่ยง กล่าวคือ ค่าสูงขึ้นยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากสัตว์พาหะปรับตัวได้ดีในสภาพร้อนชื้น
ในส่วนของภาวะขาดแคลนน้ำ พบว่า “การขาดแคลนน้ำในระดับปานกลาง” สัมพันธ์กับความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากสัตว์ต้องรวมตัวกันที่แหล่งน้ำที่เหลืออยู่ ทำให้เชื้อแพร่ได้ง่ายขึ้น ขณะที่พื้นที่แห้งแล้งเกินไปอาจทำให้พาหะตายและหยุดการแพร่เชื้อได้ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ประชากรสัตว์พาหะมีความอ่อนไหวต่อโรคมากขึ้น และยังส่งผลให้เกิดวิกฤตน้ำ ซึ่งกระทบต่อสุขอนามัยและการควบคุมโรค
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง เพราะมนุษย์จะเข้าสัมผัสสัตว์ป่าที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ทำให้เชื้อโรคมีโอกาสแพร่จากสัตว์สู่คน ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์และสัตว์เลี้ยงก็เช่นกัน เพราะความแออัดเอื้อต่อการแพร่เชื้อ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
