รีเซต

รู้จัก ม.41 "แพ้วัคซีนโควิด-19" รัฐดูแลสูงสุด 4 แสนบาท!

รู้จัก ม.41 "แพ้วัคซีนโควิด-19" รัฐดูแลสูงสุด 4 แสนบาท!
Ingonn
29 เมษายน 2564 ( 13:53 )
2.6K
รู้จัก ม.41 "แพ้วัคซีนโควิด-19" รัฐดูแลสูงสุด 4 แสนบาท!

จากข่าวคราวการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เข้า ICU หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทางภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้มีข้อกำหนดมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีฉีดวัคซีนและมีผลข้างเคียงรุนแรง หากผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว เห็นว่าเกิดขึ้นจากวัคซีนจะชดเชยให้ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นหากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลซึ่งจะครอบคลุมทุกคน

 

 


แพ้วัคซีนรัฐดูแล


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กรณีที่มีผลข้างเคียงรุนแรงเกิดขึ้นภายหลังการรับวัคซีนโควิด-19 และผลการสืบสวนของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดขึ้นจากวัคซีน จะมีการชดเชยให้กับผู้ที่รับวัคซีนตามข้อกำหนดมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ.2545 กรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ซึ่งจะครอบคลุมทุกคน ส่วนแรงงานต่างด้าวหรือคนต่างชาติ ที่รับวัคซีนแล้วถ้าเกิดผลกระทบจะมีการชดเชยตามมาตรการอื่นๆ เช่น อาจจะมีการตกลงของผู้ประกอบการหรืออื่นๆ

 

 

เงื่อนไขเยียวยาสูงสุด 4 แสนบาท

ตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ประกอบด้วย

 

1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000บาท

 

2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 แสนบาท และกรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท

 

 

การสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน


ในการติดตามผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนนั้น จะติดตามหลังฉีดเป็นเวลา 30 นาที จากนั้นจะติดตามในวันที่ 1,7 และ 30 ผ่านแอปพลิเคชันไลน์หมอ โทรศัพท์สอบถามโดยเจ้าหน้าที่รพ. และอสม. 

 

หากมีอาการต่อไปนี้  ไม่มีแรง แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน ไข้หรือปวดศีรษะ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อย/อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ผื่นลมพิษ อาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย ให้รีบไปรพ.พบแพทย์ทันที เพื่อรับการประเมินว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว หรือวัคซีนหรือไม่  

 

หากมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จะมีการส่งรายงานเข้าไปยังกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรและเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ หากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่า เกิดจากวัคซีนจะเยียวยาเบื้องต้นตามข้อกำหนด

 

 

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19


อาการข้างเคียงรุนแรง คือ ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ปากเบี้ยวกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาท

 

อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง เช่น ปวด บวม แดง ร้อน คัน บริเวณที่ฉีด ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เป็นต้น

 

 


ข้อจำกัดการฉีดวัคซีน COVID-19


1.ห้ามฉีดในคนอายุต่ำกว่า 18 ปี

2.ห้ามฉีดในคนที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีน แพ้ยา ส่วนประกอบของวัคซีนรุนแรง

3.ห้ามฉีดในคนที่เคยถ่ายเลือด พลาสมา ผลิตภัณฑ์จากเลือด ส่วนประกอบของเลือด อิมมูโนโกลบูลิน ยาต้านไวรัส หรือแอนติบอดีสำหรับรักษาโควิด-19 ภายใน 90 วันที่ผ่านมา

4.ห้ามฉีดในคนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ช่วง 10 วันที่ผ่านมา สามารถรับวัคซีนหลังติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน

5.คนที่มีโรคประจำตัวที่อาการยังไม่คงที่ ควบคุมอาการไม่ได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น ฯลฯ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ก่อนฉีดเท่านั้น

6.คนที่มีอาการเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทอื่น ๆ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ก่อนฉีดเท่านั้น

7.คนที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร หรือวางแผนตั้งครรภ์ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ก่อนฉีดเท่านั้น

8.คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีดวัคซีน

9.คนที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรือหยุดยาก เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีดวัคซีน

10.คนที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือนอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนและปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน

11.หากกำลังมีอาการป่วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก อ่อนเพลียกล้ามเนื้อ เป็นต้น ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน แต่ถ้าเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถฉีดวัคซีนได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน

 

 


ข้อมูลจาก hfocus , โรงพยาบาลกรุงเทพ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง