รีเซต

รู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์”  ยารักษาโควิด-19 ที่ไทยผลิตเองได้แล้ว

รู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์”  ยารักษาโควิด-19 ที่ไทยผลิตเองได้แล้ว
Ingonn
7 มกราคม 2565 ( 15:20 )
8.5K
รู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์”  ยารักษาโควิด-19 ที่ไทยผลิตเองได้แล้ว

การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากการฉีดวัคซีนแล้วยังมีการผลิตยาให้ตรงกับการรักษาอีกด้วย ซึ่งในวงการแพทย์นำมาใช้รักษาหรือบรรเทาอาการโควิด-19 นั้น มีหลากหลายชนิดและหนึ่งในนั้นคือ “ยาฟาวิพิราเวียร์” 

 

ย้อนความคืบหน้าเรื่องการวิจัยและพัฒนาการผลิต "ยาฟาวิพิราเวียร์" ในประเทศไทย สำหรับป้องกันไวรัส โควิด-19 เตรียมจะขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว

 

โดยน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามการวิจัยและพัฒนาการผลิต "ยาฟาวิพิราเวียร์" ในประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circula-Green Economy) ของรัฐบาล

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่า ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ บริษัท ปตท. เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารตั้งต้น (Active Pharmaceutical Ingredients : API) ของการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ เพี่อสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย

 

“ความร่วมมือดังกล่าว มีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถสังเคราะห์สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และยังเป็นการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นที่มีราคาถูก โดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องมีการนำเข้ามากถึง 95%” น.ส.รัชดา กล่าว

 

นอกจากนั้น ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม คาดว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าอย่างมาก

 

 

 


ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด-19


ฟาวิพิราเวียร์ (ชื่ออื่นคือ T-705 ส่วนชื่อสามัญของยากลุ่ม คือ Avigan และ Favilavir) มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) 

 

ค้นพบโดย บริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ได้รับการอนุมัติใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในญี่ปุ่น ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล ปัจจุบันบริษัท Fujifilm ได้ดำเนินการทดลองใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยากับโรค โควิด-19 โดยเฉพาะ

 

 

ยาฟาวิพิราเวียร์กับประเทศอื่นๆ


ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) กำลังอยู่ในการทดลองทางคลินิกเพื่อยืนยันว่าเป็นยาที่สามารถรักษาโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา

 

อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลญี่ปุ่น ยังไม่เคยถูกจำหน่ายให้แก่โรงพยาบาล หรือร้านขายยาทั่วไป ประเทศที่นำไปใช้งานเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างรัฐ 

 

ประเทศไทย ทางองค์การเภสัชกรรม ได้ดำเนินการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์จากบริษัท Fujifilm Toyama Chemical ประเทศญี่ปุ่น และจากบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical ประเทศจีน เพื่อกระจายแก่โรงพยาบาลต่างๆ

 

 

เคยใช้รักษา ไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ก่อนจีนอนุมัติใช้รักษาโควิด-19


ช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบอาฟริกาตะวันตก จากข้อมูลในอดีตมีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่า ยามีความปลอดภัย ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่น คือ ปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา 

 

เมื่อ16 กุมภาพันธ์ 2563 ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ 

 

 


สรรพคุณยา


มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ก็ต่อเมื่อรับประทานยาเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ได้เป็น favipiravir ribosyl triphosphate ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase (หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication)

 

สารออกฤทธิ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยานี้ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์

 

นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ก่อนยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับเกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ


ขณะที่อาการไม่พึงประสงค์ เช่น กรดยูลิคในเลือดสูงขึ้น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลลดลง ค่าการทำงานของตัว AST และ ALT เพิ่มขึ้น บางรายอาจมีอาการท้องเสีย 

 

 

ยารักษาโควิด-19 ตัวอื่นๆ

ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่ถูกนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศจีน จนเป็นที่ยอมรับและยืนยันว่ายานี้ให้ผลการรักษากับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดี และทางบริษัทเภสัชกรรมจีน ก็ได้รับอนุมัติให้ผลิตขึ้นมาสำหรับใช้ในประเทศ โดยสำนักข่าวซินหัว ประเทศจีนก็ได้เผยวิธีการรักษาอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ได้แก่


1.คลอโรควิน ฟอสเฟต (Chloroquine phosphate) เป็นยารักษาเชื้อมาลาเรีย


2.โทซิลีซูแมบ (Tocilizumab) สำหรับรักษาผู้ที่มีรอยโรคในปอดหรือมีอาการรุนแรง


3.เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ยาต้านเชื้ออีโบล่า ถูกยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจจากจีนว่าออกฤทธิ์ต้านไวรัสโควิดในระดับเซลล์ได้ดี


4.ยาแพทย์แผนจีน ขนานยาจีนช่วยลดอาการไข้ และ ไอในผู้ป่วยที่ไม่รุนแรง และเพิ่มออกซิเจนในเลือด

 

นอกจากนี้จีนยังได้ยืนยันการรักษาด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการให้ยาต้านโควิด-19 เช่น การรักษาด้วยพลาสมา (Convalescent) ด้วยการคัดเลือกส่วนประกอบในน้ำเลือดของผู้ป่วยที่หายแล้ว ซึ่งมีโปรตีนภูมิคุ้มกันปริมาณมาก มาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด และการฟอกเลือด มีข้อบ่งชี้จากสาธารณสุขจีนว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน

 

ร่วมบริจาคพลาสมา ช่วยผู้ป่วยโควิด >>>> คลิก <<<<

 


นักวิจัย สวทช. สังเคราะห์สารตั้งต้น ยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ สำเร็จ

องค์การเภสัชกรรม ได้มีการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนสำหรับใช้ในโรคโควิด-19 ในส่วนของวัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ โดยร่วมมือกับ สวทช. ดำเนินการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบ ซึ่งขณะนี้ สวทช. ได้ดำเนินการในระดับห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ได้กระบวนการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นตัวใหม่ที่มีราคาถูกกว่าสารตั้งต้นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน

 

ขณะนี้องค์การฯ อยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสวทช. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับองค์การฯ เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อไป 

 

ทั้งนี้องค์การฯ สวทช. และ ปตท. จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวัตถุดิบยาที่มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุข และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศไทย 

 


ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข , ไทยรัฐ , PPTV , เฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกุล , องค์การเภสัชกรรม , ซินหัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง