รู้ไหม? ทำไมคนเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบผู้เสียชีวิตมากขึ้นในแต่ละวัน และส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จนการรักษาอาจเข้าไม่ถึงบางชุมชน จนทำให้ผู้สูงอายุบางรายไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
วันนี้ True ID ได้รวบรวมสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และแนวทางการป้องกันหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ รวมถึงแนวทางการจัดการเมื่อผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตมาฝากกัน
ปัจจัยเสี่ยงของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต
การระบาดของโควิดทั้ง 3 รอบ พบความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน คือ เป็นลักษณะการติดเชื้อและเพร่ระบาดจาก สถานบันเทิง, บ่อนพนัน, สนามมวย, ทำงานในแหล่งชุมชน/ตลาด และติดเชื้อจากคนในครอบครัว
สาเหตุผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่
ผู้ที่เสียชีวิตจากสถิติข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยและไม่มีโรคประจำตัว
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ รุนแรงกว่าและต่างจากรอบแรก เนื่องจากผู้ติดเชื้อไม่ยอมเปิดเผยตัว สืบสวนต้นตอที่มาของโรคยาก ความรุนแรงของโรคจากการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ปอดทำงานไม่เต็มที่ เมื่อไวรัสจู่โจมระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายปอด 10-20% จนปอดไม่พื้นกลับมา ได้แก่
1. ผู้สูงอายุ
2. คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แม้ปอดถูกทำลายเล็กน้อย ก็จะส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก ร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
3. คนที่มีน้ำหนักมาก มีไขมันใต้ผิวหนัง หรือใต้ช่องท้องมาก
4.ผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มนี้เสี่ยงกับการหายใจที่ยากลำบากกว่าเดิม เพราะกระบังลมเคลื่อนไหวได้ยาก ทำให้ปอดทำงานได้น้อยลง
ส่วนใหญ่แล้วความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการแสดงอาการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่คิดเป็น 80% จะแสดงอาการค่อนข้างน้อย มีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป ซึ่งสามารถหายเองได้ 20% จะมีอาการรุนแรง เกิดการติดเชื้อที่ปอด และเกิดอาการปอดอักเสบ
อายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตจากโควิด
การระบาดโควิด-19 ระลอกช่วงปี 2563 : พบผู้เสียชีวิตอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 58 ปี
การระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 : พบผู้เสียชีวิตอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ปี
การระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. 2564 : พบผู้เสียชีวิตมีอายุน้อยที่สุด คือ เฉลี่ย 56 ปี
โดยการระบาดรอบที่ 3 ในปี 2564 นี้ พบว่ามีราว 50% ของผู้เสียชีวิต เกิดขึ้นจากการติดเชื้อในครอบครัว
และผู้ที่เสียชีวิตน้อยที่สุด คือ อายุเพียง 24 ปี
>>>>> เปิดแนวทางการดูแลผู้สูงอายุช่วง "โควิด-19" ระบาด อย่างถูกวิธี >>> คลิก
ระยะเวลาจากเริ่มป่วยถึงเสียชีวิต
ค่ากึ่งกลางของระยะเวลาจากวันทราบผลตรวจพบเชื้อ จนถึงวันที่เสียชีวิต
การระบาดโควิด-19 ระลอกช่วงปี 2563 : ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 12 วัน
การระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 : ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7 วัน
การระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. 2564 : ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6 วัน
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นมี "โรคประจำตัว"
ส่วนใหญ่อยู่ที่กลุ่มผู่ป่วยสูง อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมี "โรคประจำตัว" เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคปอด หลอดเลือดหัวใจ/หลอดเลือดสมอง ไทรอยด์ ไตวาย ป่วยติดเตียง
การระบาดโควิด-19 ระลอกช่วงปี 2563 : เสียชีวิตจากโควิดและมีโรคประจำตัว 43 ราย (64%)
การระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 : เสียชีวิตจากโควิดและมีโรคประจำตัว 24 ราย (89%)
การระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. 2564 : เสียชีวิตจากโควิดและมีโรคประจำตัว 13 ราย (93%)
8 โรคเสี่ยง ที่อาจมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19
1.ความดันโลหิตสูง
เนื่องจากเชื้อไวรัสจะส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิก)
2.เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีภูมิคุ้มกันต่ำ หากติดเชื้อ COVID-19 จะยิ่งทำให้โรครุนแรงขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลันในหลอดเลือดหัวใจ ปอดอักเสบรุนแรงและภาวะระบบการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
3.เบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ เพราะเชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงและร่างกายมีภูมิคุ้มกันน้อยลง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิก)
4.ไตเรื้อรัง
ผู้ป่วยฟอกไตและปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป จึงเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิก)
5.ปอดอักเสบเรื้อรัง
มีผลกระทบโดยตรงต่อปอด ซึ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคปอดอยู่แล้วอาจทำให้โรคกำเริบหรือมีอาการปอดบวมได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไป
6.ตับแข็ง ตับอักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยปลูกถ่ายตับที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยมะเร็งตับที่กำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงได้เพราะยาที่ใช้รักษาอาจมีผลต่อการทำงานของตับ อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่เดิมควบคุมได้ยากขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม
7.ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง เอดส์ หรือแม้แต่คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ จึงทำให้เสี่ยงอาการรุนแรงและยังอาจติดเชื้อนานกว่าผู้ป่วยทั่วไป
8.โรคอ้วน
หากติดเชื้อการขยายตัวของปอดจะถูกจำกัด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสที่ปอดหรืออาจเกิดอาการหายใจลำบากเฉียบพลันได้ หากมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงและต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU อาจมีปัญหาในการใส่ท่อช่วยหายใจหรือการ X-Ray Computer ที่อาจจำกัดขนาดและน้ำหนักของผู้ป่วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิก)
หากคุณมีอาการเหล่านี้อยู่ก่อนแล้ว ป้องกันตัวเองอย่างไร
1.ทานยาต่อไปและทําตามคําแนะนําทางการแพทย์
2.งดการออกไปข้างนอก เว้นแต่มีความจําเป็น เช่น เพื่อไปรับการ รักษาพยาบาล
3.รักษาระยะห่างจากผู้อื่น
4.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ
5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาและจมูก
6.รักษาสุขภาพ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ออกกําลังกาย เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์นอนหลับให้เพียงพอและดูแล สุขภาพจิต
เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต
ควรมีแนวทางจัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้
1. เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตสารคัดหลั่งที่อยู่ในศพยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้
2. ควบคุมสารคัดหลั่งโดยเก็บศพไว้ในถุงซิปกันน้ำอย่างน้อยสองชั้นและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทาด้านนอกถุงเก็บศพ
3. ห้ามเปิดถุงเก็บศพโดยเด็ดขาด ไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ และฉีดยารักษาศพ
4. บรรจุศพพร้อมถุงลงในโลงศพ และปิดฝาโลงให้สนิท ญาติสามารถนำศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปลอดภัย
5. การเผาหรือฝังศพจะไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , กรุงเทพธุรกิจ , องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศไทย, โรงพยาบาลเวชธานี , workpointtoday
ข่าวที่เกี่ยวข้อง