อย่าปล่อยให้เครียด! เช็คสุขภาพใจช่วงโควิด ไปกับกรมสุขภาพจิตกันเถอะ
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง จนเกิดการควบคุมทุกจังหวัด ต้องกักตัว ต้องตกงาน ต้องค้าขายจำกัดเวลา บางรายอาจค้าขายเหมือนเดิมไม่ได้อีก ซึ่งผลกระทบจากโควิด-19 นี้ อาจสร้างบาดแผลในใจเราโดยไม่รู้ตัว โดยมีความเครียด เป็นเหมือนมะเร็งคอยกัดกินใจ
วันนี้ True ID ได้มีแบบทดสอบจากกรมสุขภาพจิตมาฝากทุกคน ให้เช็คสุขภาพใจกันดูว่าเราเครียดมากเกินไปหรือเปล่า พร้อมคำแนะนำดีๆจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เราก้าวผ่านความเครียดนี้ไปด้วยกัน
ตรวจเช็คสุขภาพใจ Mental Health check in
MENTAL HEALTH CHECK-IN เป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้บุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และจิตอาสา ใช้ประเมินสุขภาพจิตประชาชน เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อปัญหา มาดูแลสุขภาพจิต ตลอดจนประชาชนและผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต สามารถประเมินตนเองและเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว การประเมินประกอบไปด้วย SBSD คือ
S : Stress (เครียด)
B : Burnout (ภาวะหมดไฟ)
S : Suicide (เสี่ยงฆ่าตัวตาย)
D : Depression (ซึมเศร้า)
แบบประเมิน 4 กลุ่ม
1.ประเมินตัวเอง ตรวจเช็คสุขภาพใจให้กับตัวเอง >>>คลิก<<<
2.ประเมินผู้อื่น ตรวจเช็คสุขภาพใจให้กับผู้อื่น >>>คลิก<<<
3.STATE QUARANTINE ตรวจเช็คสุขภาพใจในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ >>>คลิก<<<
4. LOCAL QUARANTINE รพ.สนาม/COHORT WARD/HOSPITEL ตรวจเช็คสุขภาพใจในสถานที่กักตัวระดับจังหวัด >>>คลิก<<<
วิธีการประเมิน
1.เข้าเว็บไซต์ https://checkin.dmh.go.th หรือ QR Code จากนั้นกดยินยอม แล้วคลิก ตกลง
2.คลิกปุ่ม เริ่มทำแบบประเมินในแบบที่ตนเองต้องการ
3.กรณีเลือกประเมินตนเองแล้ว กรอกข้อมูลทั่วไปตามความเป็นจริง
4.ทำแบบประเมินจนครบถ้วน
5.เมื่อตอบประเมินเสร็จแล้ว จะประมวลผลและแสดงผลประเมินทันที ทั้ง 4 ด้าน
6.อ่านคำแนะนำแต่ละหมวดการประเมินได้เลย
คำแนะนำ
ผลการประเมินปกติ
1.ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ
2.รักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากที่พักอาศัย อย่าลืมล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด
3.หากิจกรรมที่เราชอบทำเพื่อผ่อนคลายความกังวล และความเครียด
ผลการประเมินเสี่ยงน้อย
1.ถ้ายังมีความเครียด ความกังวลอยู่คงต้องแปลงความเครียดเป็นพลัง เช่น เตรียมตัวหากต้องอยู่บ้าน ออกไปไหนไม่ได้
2.นั่งสมาธิ สวดมนต์ ฝึกจิต ฝึกการผ่อนคลายด้วยการหายใจ
3.พูดคุยปรึกษากับคนที่เราไว้ใจ เช่น คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท เพื่อพูดคุยในเรื่องที่เครียดและกังวล
ผลการประเมินเสี่ยงมาก
ควรต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อปรึกษา ประเมินอาการและได้รับการรักษาต่อไป หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชม.
สรุปผลสำรวจสุขภาพใจคนไทย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจ Mental Health Check-in ว่าประชาชนมีแนวแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น
ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ และมีความสามารถในการปรับตัว จำกัดความเครียดได้ดีขึ้นจากการระบาดระลอกก่อนหน้า และพลังใจของประชาชนส่วนมากอยู่ในระดับสูงและปานกลาง ซึ่งคงตัวจากระดับช่วงก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มที่มีพลังใจที่ดี คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่เป็นพลังใจให้กับสังคมที่ดี ได้แก่ครอบครัว และอสม.
แนะ ประชาชนฉีดวัคซีนใจ
เป็นภูมิคุ้มกัน ฉีดทุกวัน 4 เข็ม คือ
1.ความรู้สึกปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอยู่เสมอ
2. ไม่ตระหนก หรือการรับฟังข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และลดการรับฟังข้อมูลจากบุคคลที่ไม่รู้จักหรือไม่มีประโยชน์
3.มีความหวัง หรือการมองด้านบวก ส่งต่อเรื่องราวดีๆอยู่ตลอด
4.ความเข้าใจ หรือการมีความเข้าใจและพร้อมดูแลผู้อื่นเสมอ
ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต, ศูนย์ข้อมูล COVID-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “โควิด-19” ทำให้เครียดหรือเปล่า? รับมือให้ทันก่อนจะเครียดเพราะโควิด
- Work from home อีกครั้ง ลืมไปหรือยังว่าต้องทำยังไงให้ได้งาน ?
- ไทยเซฟไทย ใช้งานต่างจาก หมอชนะ และไทยชนะ หรือเปล่า?
- 7 ประกันโควิด-19 เบี้ยไม่เกิน 500/ปี เดือนเมษา 64
- ติดโควิด-19 แต่ยังไม่ได้ไปหาหมอ ต้องกักตัวอย่างไร?