รีเซต

ไทยเซฟไทย ใช้งานต่างจาก หมอชนะ และไทยชนะ หรือเปล่า?

ไทยเซฟไทย ใช้งานต่างจาก หมอชนะ และไทยชนะ หรือเปล่า?
Ingonn
16 เมษายน 2564 ( 15:31 )
1.4K
ไทยเซฟไทย ใช้งานต่างจาก หมอชนะ และไทยชนะ หรือเปล่า?

หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ขึ้น ทางภาครัฐได้จัดทำแอปพลิเคชันหลายตัวเพื่อรองรับสถานการณ์แต่ละรูปแบบ ที่จะสามารถช่วยสอบสวนโรคได้ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยล่าสุดกรมอนามัย ได้จัดทำ แอปพลิเคชัน ไทยเซฟไทย ขึ้นอีก สำหรับให้ประชาชนประเมินความเสี่ยง คัดกรองตัวเอง แล้วมันแตกต่างจาก หมอชนะ และไทยชนะอย่างไรล่ะ

 

 

วันนี้ True ID จะพาทุกคนมารู้จักรูปแบบการใช้งานของแอปพลิเคชัน ไทยชนะ หมอชนะ และน้องใหม่ล่าสุดอย่าง ไทยเซฟไทย ว่ามีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

 

 


แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ"


“ไทยชนะ” เป็นแพลตฟอร์มผ่านทางเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com และแอพพลิเคชันสมาร์ทโฟน จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้ติดตามตัวประชาชนที่จะเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยจัดเก็บข้อมูลผ่านการเช็คอินและเช็คเอาท์ด้วยคิวอาร์โค้ด

 

ภายในแพลตฟอร์มไทยชนะจะประกอบไปด้วยฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ

 

 

1. ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ต้องลงทะเบียนที่ www.ไทยชนะ.com เพื่อให้มีชื่อร้านอยู่ในระบบออนไลน์ของแพลตฟอร์มนี้ จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ดของร้าน  มาติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าร้านของตัวเอง

 

2. สำหรับประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้าหรือร้านบริการต่าง ๆ ก็ให้ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ติดไว้ก่อนเข้าใช้บริการ โดยใช้เพียงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น

 

3. ระหว่างที่ประชาชนจะเข้าไปใช้บริการในห้างร้าน แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีฟังก์ชันให้สามารถจองออนไลน์เพื่อใช้บริการได้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงผู้คนแออัดดระหว่างใช้บริการ ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

 

 


แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" 


รูปแบบการใช้งาน "หมอชนะ" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ที่มีผู้ติด COVID-19

 

ในการใช้งาน ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปฯ "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน และตอบคำถามประเมินอาการของตัวเอง โดยแอพจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ

 

สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา


สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา


สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที


สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

 

 

เมื่อตอบคำถามครบถ้วนแอปฯ จะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ แต่ผู้ใช้จะไม่สามารถดูได้ว่าผู้ใช้คนอื่นอยู่ตรงไหนบ้าง ทำได้แค่เพียงอนุญาตให้แอพแจ้งเตือนผ่าน notification หากเราเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะเช็คข้อมูลด้วย GPS และ Bluetooth ของตัวโทรศัพท์มือถือ

 

ทางผู้พัฒนาแอปฯ ระบุว่า การประเมินความเสี่ยงผ่าน "หมอชนะ" ช่วยให้บุคลากรด้านการแพทย์สามารถเช็คข้อมูลของผู้ที่มาขอรับบริการทางการแพทย์ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนของการรักษา-ส่งตรวจได้แม่นยำมากขึ้น แก้ปัญหาเรื่องการปกปิดอาการ COVID-19 ลงไปได้

 

 

“หมอชนะ” มีความแตกต่างจากแอปฯ “ไทยชนะ” อย่างไร


1.หมอชนะ สามารถบอกได้ว่าเราเดินทางไปจุดใดบ้าง เมื่อเกิดโรคระบาดหรือมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาจะตรวจสอบได้ว่าผู้ติดเชื้อคนนั้นไปสัมผัสกับใคร ไปพบใครบ้างและจะมีข้อความไปเตือนให้มารายงานตัว ทำให้ทราบไทม์ไลน์ได้แม่นยำมากขึ้นระดับนาที จากเดิมที่แพทย์ใช้การสัมภาษณ์ผู้ป่วย แม้จะไม่ปิดบังข้อมูลแต่อาจจำไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหา 


2.หากมีการปกปิดข้อมูลก็จะใช้เวลาสอบไทม์ไลน์นานมาก ดังนั้นหากมีแอปฯ ที่ระบุข้อมูลได้แม่นยำ ระบบก็จะประมวลผลเองว่ามีการสัมผัสกับใครในช่วงไหน ทำให้ระบบควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และชีวิตประจำวันของเราก็จะไม่ถูกรบกวน 

 

 

แอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย”


เป็นแอปฯ ใหม่ล่าสุดจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนประเมินความเสี่ยง คัดกรองตัวเอง ซึ่งหากประเมินเสร็จแล้ว แอปฯ จะบอกชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มไหน ถ้าอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือเสี่ยงมาก ก็ไม่ควรออกไปพบปะผู้อื่น และอาจจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เช่นนั้น อาจจะเผลอแพร่ต่อไปยังผู้อื่นได้

  

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะโหลดแอปฯ “ไทยเซฟไทย” เพื่อประเมินความเสี่ยงแล้ว ยังสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงได้ที่ เว็บไซต์ "ไทยเซฟไทย" ได้อีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งข้อมูลจะเหมือนกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 

 

  • คัดกรองก่อนเข้าทำงาน สำหรับพนักงาน : ประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อให้กับเพื่อนในที่ทำงาน

 

  • คัดกรองก่อนเข้าบ้าน สำหรับบุคคลทั่วไป : ประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อให้กับคนที่รักในบ้าน

 


สรุปการใช้งานของทั้ง 3 แอปพลิเคชัน

 

ไทยชนะ
ผู้พัฒนา : ธนาคารกรุงไทย
การใช้งาน : ใช้ติดตามตัวประชาชนที่จะเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยจัดเก็บข้อมูลผ่านการเช็คอินและเช็คเอาท์ด้วยคิวอาร์โค้ด

 


หมอชนะ
ผู้พัฒนา : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
การใช้งาน : จัดเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

 

ไทยเซฟไทย
ผู้พัฒนา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 
การใช้งาน : ให้ประชาชนประเมินความเสี่ยง คัดกรองตัวเอง

 

 


ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข, กรมอนามัย , กรุงเทพธุรกิจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง