รีเซต

อัพเดท “อาการโควิด-19” อาการเดิม vs อาการระลอกใหม่!

อัพเดท “อาการโควิด-19” อาการเดิม vs อาการระลอกใหม่!
Ingonn
20 เมษายน 2564 ( 15:03 )
10.7K
อัพเดท “อาการโควิด-19” อาการเดิม vs อาการระลอกใหม่!

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากมีการพัฒนาสายพันธุ์แล้ว ยังมีการพัฒนาอาการจากระลอกเก่าเมื่อปีที่แล้ว สู่อาการระลอกใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอีก ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน เราอาจจะลืมสังเกตอาการตนเอง แล้วเผลอแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้

 

 

วันนี้ True ID จะพาทุกคนมาอัพเดท “อาการโควิด-19” ทั้งระลอกเก่าและระลอกใหม่ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และตรวจโควิดแบบไหนทันใจ ได้ผลมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

 

"อาการโควิด-19" แบบเดิม 


ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะแสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อยไปถึงระดับความรุนแรงมาก 

 

โดยมีอาการดังนี้ 

มีไข้ (ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง) อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป มีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดตามข้อ ไอแห้ง มีเสมหะ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก วิงเวียน อาเจียน ท้องเสีย

 

 

"อาการโควิด-19" ระลอกใหม่


จากการตรวจผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการไข้ แต่มีเชื้อในลำคอจำนวนมาก  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นวัยหนุ่มสาว


โดยมีอาการดังนี้ 
ตาแดง น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ บางรายมีผื่นขึ้น เช่น มีจุดเลือดออก มีผื่นบวมแดงคล้ายโรค "ลมพิษ" บางรายอาจมีลักษณะกลุ่มของ "ตุ่มน้ำ" คล้าย "โรคสุกใส" และเกิดอาการฉับพลัน ร่วมกับอาการมีไข้ ไอ จาม และระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร แพทย์อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ ได้ออกมาแชร์อาการของผู้ป่วยที่ตนดูแลผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Nittha Oer-areemitr" ซึ่งเคสโควิด-19 ที่ระบาดในระลอก 3 ที่ตนรับมาดูแลกว่า 100 เคส พบว่าผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันไป ดังนี้


- อาการปอดอักเสบจะเยอะมาก และเยอะกว่าเดิม โดยผู้ชายจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้หญิง

 

- อาการที่ต้องระวังคือ ไอ ไข้ เหนื่อย ซึ่งจะมาในวันที่ 5-8 ของการเริ่มป่วย


- ค่าออกซิเจนในฮีโมโกลบิน จากปกติจะอยู่ที่ร้อยละ 98-99 ถ้าวันไหนสวิงมาที่ 95-96 ให้เฝ้าระวังดีๆ 


- อาการไอเป็นอาการที่พบบ่อย โดยคนไข้จะบอกว่า หายใจเข้าลึกๆ แล้วอึดอัดอยากไอ ไม่ใช่อาการคันคอ เสมหะจะเหนียวมาก บางครั้งก็ปนเลือด


- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะอาการรุนแรง คือ ผู้ที่มีโรคอ้วน มีค่า BMI > 30 กับเบาหวาน คนอายุน้อยๆ มีอาการรุนแรงก็เยอะ


- อาการที่สงสัยว่าอาจจะแย่ได้ คือ ท้องเสียที่นำมาแต่แรก กับเจ็บคอมากๆ ถ้ามีอาจต้องเฝ้าระวังดีๆ

 

 


เช็คอาการด้วยตนเองกับการเดินเพียง 6 นาที


นพ.อนุชิต นิยมปัทมะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา ได้แนะนำผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อนุชิต นิยมปัทมะ โดยระบุว่า 

 

การเดิน6นาที (6-minute walk test)
โดยให้เดินเร็วๆอยู่ในห้องพักที่กักตัว ซึ่งคนที่เป็นปอดอักเสบระยะแรก จะเหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็วกว่าปกติ ออกกำลังกายนิดเดียว หัวใจจะเต้นเร็วมาก ความดันขึ้น และวัดระดับออกซิเจนจะต่ำลง เมื่อเทียบกับขณะพักอยู่เฉยๆ การทำแบบนี้ทำให้เราแยกผู้ป่วยที่เริ่มมีปอดอักเสบในระยะแรกได้ง่ายและเร็วขึ้น

 

 

 

นอกจากนั้นยังมีวิธีการตรวจโควิด-19 ที่ได้มาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขอีก

 

 

1. Real-time RT PCR
วิธีแรกเป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและประเทศไทยพร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำ การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ มีความไว มีความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ ได้

 

เก็บตัวอย่างด้วยวิธีแยงจมูกด้วยสำลีพันไม้ (SWAB) นักวิจัยจะเก็บตัวอย่างจากเสมหะมาตรวจสอบด้วยวิธีเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของไวรัส จึงเป็นวิธีที่เราสามารถยืนยันผลการพบไวรัสได้โดยตรง ตรวจพบการติดเชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 3 เมื่อนับจากการติดเชื้อวันแรก

 

หากพบเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยก็ต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งอาจจะต้องตรวจด้วยวิธี RT PCR นี้ซ้ำ 3-4 ครั้ง ในระยะรักษาตัว 14 วัน จนกว่าจะยืนยันได้ว่า “ไม่พบเชื้อ”

 

ค่าตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT PCR จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ระบุอยู่ในประกันโควิด-19 บางประกันรวมไว้กับค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด แต่ยกเว้นว่าจะจ่ายค่าตรวจโควิดให้เฉพาะการพบเชื้อครั้งแรก ซึ่งราคาการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT PCR อยู่ราว 3,500 - 6,500 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล

 

2. Rapid test
การตรวจแบบ Rapid Test เป็นการ "เจาะเลือด" เพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว ที่สามารถทราบผลได้ใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค


ดังนั้นการใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกันในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น สำหรับชุดตรวจหากนำเข้าจากต่างประเทศราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพัฒนาชุดตรวจของไทยขึ้นมา ซึ่งจะมีราคาประมาณชุดละ 200 บาท

 

 

สรุปแล้ว การตรวจโควิด-19 มี 2 วิธี คือ “ตรวจเลือด” และ “RT PCR” แต่วิธีที่ยืนยันว่าพบเชื้อโควิด-19 ได้แม่นยำกว่า คือการทำ RT PCR เพราะเป็นการตรวจจับสารพันธุกรรมจากเชื้อไวรัสโดยตรง 

 

 

 


ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , กรมควบคุมโรค , เฟซบุ๊กNittha Oer-areemitr , เฟซบุ๊กอนุชิต นิยมปัทมะ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง