SOCIAL DISTANCING สร้างระยะห่างทางสังคมอย่างไรให้ไกลโควิด-19
ระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นมาตรการที่หน่วยงานสุขภาพทั่วโลกได้เริ่มนำมาใช้ เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19)
มาตรการ Social distancing ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เพราะก่อนหน้านี้เคยถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์การระบาดทั่วโลกในหลายครั้ง เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ในระหว่างปี ค.ศ. 1918-1920 พบว่าการทำ Social Distancing สามารถช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดระดับความรุนแรงของการระบาดได้จริง
สำหรับประเทศไทย Social Distancing เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำและแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ เพื่อช่วยป้องกันการสัมผัสกับเชื้อไวรัสจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนอื่นในสังคม และหากประชาชนร่วมมือกันได้ 80% ก็จะสามารถเปลี่ยนเส้นทางการแพร่เชื้อในประเทศให้ลดลงได้
ระดับของ Social Distancing
1.ระดับบุคคล
โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อง่ายกว่ากลุ่มอื่น ควรหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนหมู่มาก ลดใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เช่น งดไปงานเลี้ยงสังสรรค์ สั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน
2.ระดับองค์กร
สถานที่ทำงานควรมีมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน หรือการทำงานที่บ้าน (Work from home) เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการแพร่เชื้อจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่มีความแออัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้สามารถป้องกันการแพร่เชื้อทั้งภายในและภายนอกที่ทำงาน รวมถึงสถานศึกษาควรจัดให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน
3.ระดับชุมชน
ควรลดหรืองดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬา พิธีกรรมทางศาสนา หากไม่สามารถงดหรือเลื่อนได้ ควรลดจำนวนของผู้ที่มาร่วมงาน จัดเก้าอี้ให้นั่งห่างกันประมาณ 1 เมตร และจัดพื้นที่สำหรับล้างมือ หรือให้บริการเจลแอลกอฮอล์สำหรับผู้ที่มาร่วมงาน และต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
10 วิธีสร้างระยะห่างทางสังคม
1.อย่าเข้าใกล้คนอื่นมากเกินไป เว้น 2 เมตร เลี่ยงการกระจายของเชื้อโรค
2.กักตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด จะลดโอกาสติดโรคน้อยลงเมื่อไม่ได้ออกไปข้างนอก
3.อย่าจัดหรือเข้าร่วมการประชุม หรือการชุมนุมขนาดใหญ่ ลองเผชิญหน้ากับสังคมที่มีคนน้อย
4.หลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วน และสถานการณ์ใด ๆ ที่มีแนวโน้มดึงดูดคนจํานวนมาก เปลี่ยนกําหนดการให้ห่างจากชั่วโมงเร่งด่วน
5.อย่าไปสถานที่ทํางาน โรงเรียน โรงภาพยนตร์กิจกรรมกีฬา หรือพื้นที่ผสมอื่น ๆ ใช้การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต เรียนทางไกลแทน
6.อย่ากอดหรือจูบ เปลี่ยนพฤติกรรมการสร้างสายสัมพันธ์
7.หลีกเลี่ยงพื้นที่ในห้องที่แออัด หลีกเลี่ยงพื้นที่ต้องเข้าไปในสถานที่ปิด
8.หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง กับการโต้ตอบอย่างใกล้ชิด เว้นระยะห่างการสื่อสารต่างๆ ที่เหมาะสม
9.ระวังการใช้สิ่งของสาธารณะ และพยายามหลีกเลี่ยง สิ่งที่คนอื่นสัมผัส เมื่อเจอสถานการณ์ที่ต้องสัมผัสบ่อยให้ล้างมือทันที
10.อย่าไปในสถานที่ที่จําเป็น เช่น ร้านขายของชํา หรือห้องซักรีดรวม ในช่วงเวลาเร่งด่วน เลือกไปในเวลาทํางานหรือเช้าตรู่แทน
มาตรการ Social Distancing เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน พร้อมทั้งตระหนักและมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หมั่นคอยดูแลสุขภาพ และป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงเพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะลดลงได้ในที่สุด
ข้อมูลจาก คู่มือ ดูแลตัวเองสำหรับประชาชน สู้โควิด-19 ไปด้วยกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ข่าวที่เกี่ยวข้อง