หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ชวนมาบริจาคพลาสมาช่วยชาติรอบ 2
สถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเร่งรักษาผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว อีกแนวทางการรักษา คือ การนำพลาสมาของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายแล้ว มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย
ล่าสุดพลาสมา จากผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 ที่เก็บไว้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้ได้ถูกใช้จนหมดแล้ว จากการที่มีผู้ป่วยที่มีอาการหนักจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนผู้ที่หายป่วยจากโควิด และมีสุขภาพแข็งแรงร่วมบริจาคพลาสมา ช่วยชาติรอบ 2
พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด 19
โครงการวิจัยการใช้พลาสมาเพื่อเสริมการรักษาโรค เนื่องจากพลาสมาของผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส สามารถนำไปใช้เสริมการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ โดยยับยั้งไวรัสก่อนที่จะเข้าไปทำลายเซลล์ปอดขั้นรุนแรงได้ ซึ่งภูมิต้านทานในพลาสมานี้ เปรียบเสมือนเป็นยาใช้รักษาโรคได้
โดยในรอบแรกมีผู้ป่วยที่หายแล้วมาลงทะเบียนกว่า 400 ราย แต่มีเพียง 152 รายที่สามารถบริจาคพลาสมาได้เป็นจำนวน 446 ถุง นำไปผลิตเป็น COVID-19 Convalescent Plasma หรือ CCP ที่มีภูมิต้านทานสูงได้จำนวน 383 ถุง ซึ่งได้นำไปดำเนินการ ดังนี้
1.เตรียมเป็นพลาสมาโควิด-19 (CCP) พร้อมใช้รักษาโรค 250-300 มล./ยูนิต จำนวน 342 ยูนิต
2.นำพลาสมา CCP 160 ถุง ไปผลิตเซรุ่ม COVID-19 Intramuscular Immunoglobulin (CIMIG) ได้ 700 ขวด
ขั้นตอนการลงทะเบียนบริจาคพลาสมาช่วยชาติรอบ 2
1.ลงทะเบียนออนไลน์ ได้ที่ Facebook fanpage ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนัดหมายคัดกรองในรายละเอียดต่อไป
2.ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://1th.me/ZJChu
3.สแกน QR Code ในภาพ
4.จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป เพื่อนัดหมายคัดกรองในรายละเอียดต่อไป สอบถามโทร. 0 2256 4300 หรือ 1664
คุณสมบัติผู้ที่จะมาบริจาคพลาสมา
1 ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วพำนักอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เดินทางได้สะดวก
2 รักษาหายแล้วออกจากโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วันและมีผลตรวจเป็นลบแล้ว
3 หรือออกจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่บ้านรวมกันแล้วครบ 28 วัน
4 อายุ 18 ถึง 60 ปี
5 น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 55 กก. ขึ้นไป
6 สุขภาพแข็งแรงดี
ขั้นตอนการบริจาคพลาสมา
1.ประเมินเส้นเลือดที่ข้อพับแขน ต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร
2.ตรวจสุขภาพเบื้องต้น เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ตรวจความเข้มข้นโลหิต (ผู้ชาย 13.00 กรัม/เดซิลิตร ผู้หญิง 12.5 กรัม/เดซิลิตร) ตรวจหมู่โลหิต (เฉพาะผู้บริจาคใหม่)
3.ตรวจหาการติดเชื้อ COVID-19 และตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ COVID-19 โดยการตรวจเชื้อในโพรงจมูกและเก็บตัวอย่างโลหิต กรณีที่ผลการตรวจผ่าน จึงนัดหมายมาบริจาคพลาสมา
4.การบริจาคพลาสมา บริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ ใช้เวลาในการบริจาค 45 นาที
5.หากผลการตรวจภูมิต้านทานต่อเชื้อ COVID-19 สูง (สูงกว่า 1:160) จะนัดครั้งต่อไป ทุก 14 วัน และถ้าภูมิต้านทานยังสูงอยู่ สามารถบริจาคได้ถึง 6 ครั้ง
ข้อมูลจาก สภากาชาดไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง