รีเซต

ความคืบหน้านำเข้า “วัคซีนโมเดอร์นา” ตอนนี้อยู่ไหนแล้ว

ความคืบหน้านำเข้า “วัคซีนโมเดอร์นา” ตอนนี้อยู่ไหนแล้ว
Ingonn
5 กรกฎาคม 2564 ( 12:53 )
12.3K

 

สังคมเริ่มกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งเมื่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือก โมเดอร์น่า ที่เตรียมนำเข้ามาในไทย ไม่มีความคืบหน้า องค์การเภสัชกรรม ทำอะไรอยู่ ? จากโพสต์นี้ทำให้หลายคนเริ่มถามถึงการนำเข้าวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ที่แม้อนุมัติผ่าน อย. แล้ว โรงพยาบาลเอกชนเปิดจองฉีดแล้ว แต่การจัดซื้อทำไมยังล่าช้าอยู่

 

 

 

 


วันนี้ TrueID จึงได้เรียบเรียงไทม์ไลน์การเจรจาซื้อ “วัคซีนโมเดอร์นา” ว่าตอนนี้อยู่ระหว่างในขั้นตอนไหน หลังจาก อย. อนุมัติใช้ในประเทศไทยได้ แต่ทำไมยังไม่มาถึงไทยสักที

 

 

วัคซีนที่ อย. ไทย อนุมัติแล้ว 


20 ม.ค.2564 วัคซีนแอสตราเซเนกา (Vaccine AstraZeneca) นำเข้าโดยบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

 


22 ก.พ.2564 วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) หรือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.)

 


25 มี.ค.2564 วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) หรือ COVID-19 Vaccine Janssen นำเข้าโดย บริษัท แจนเซ่น - ซีแลก จำกัด

 


13 พ.ค.2564 วัคซีนโมเดอร์นา (Vaccine Moderna) นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด

 


28 พ.ค.2564 วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หรือ Vaccine (Vero Cell), Inactivated COVILO (BIBP) นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

 

 

วัคซีนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง มี 2 ตัว คือ วัคซีน Sputnik V นำเข้าโดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และวัคซีน Covaxin นำเข้าโดยบริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด

 

 

 

 

 

ไทม์ไลน์วัคซีนโมเดอร์นาเข้าไทยแต่ยังไม่มา

 


9 เมษายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม ศบค. ชุดเล็ก เพื่อหารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์ ศบค. เป็นประธานคณะกรรมการจัดหาวัคซีน เพื่อนำเข้าเพิ่มอีก 5 ล้านโดส จากแผนการนำเข้า 35 ล้านโดส เพื่อจัดฉีดให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น หรือ 40 ล้านคน

 

 

3 พฤษภาคม 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ภายหลังการหารือร่วมกับผู้แทนบริษัทนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ว่า บริษัทเข้ามาหารือโดยมีวัตถุประสงค์นำวัคซันเข้ามาขึ้นทะเบียนเพื่อขายให้กับโรงพยาบาลเอกชน แต่ยังไม่มีการเจรจาในสัดส่วนของภาครัฐ  แต่สิ่งสำคัญคือทางบริษัทจะไม่ขายให้เอกชนโดยตรง ต้องขายผ่านรัฐบาล หรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้าวัคซีน แต่ภาคเอกชนต้องคอนเฟิร์มยอดการซื้อมาให้ อภ. เพราะ อภ.ไม่สามารถซื้อมาสต็อกเพื่อรอให้เอกชนมาซื้อต่อได้อีกทอดหนึ่งได้ และทางโรงพยาบาลเอกชนจะต้องรับผิดชอบและมีมาตรการในการดูแลหากเกิดผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์

 

 

7 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน ถึงแนวทางในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของสถานพยาบาลเอกชนนั้น ที่ประชุมคณะทำงานฯ มีความเห็นว่า ควรเป็นวัคซีนโควิด-19 ในรายการอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้บริการโดยภาครัฐและสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อให้เป็นวัคซีนทางเลือกอย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับภาครัฐ เช่น Moderna, Sinopharm หรือวัคซีนอื่นที่มีการขึ้นทะเบียนต่อไปในอนาคต

 

 

8 พฤษภาคม 2564  องค์การเภสัชกรรม(อภ.) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวออนไลน์ เรื่อง องค์การเภสัชกรรมพร้อมจัดหาวัคซีนให้กับโรงพยาบาลเอกชน การใช้วัคซีนโควิดภาวะฉุกเฉินทั่วโลก บริษัทผู้ผลิตจะติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น เนื่องจากจะมีเรื่องความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องรับ รวมทั้งเรื่องไม่ให้เกิดการเกร็งกำไรมากขึ้น จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะกำหนดให้คู่สัญญาต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น และจะมีเอกสารและข้อตกลงทางกฎหมาย (อ่านเพิ่มเติม)

 

 

 

 

 


13 พฤษภาคม 2564 องค์การอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนรับรอง วัคซีนโควิด โมเดอร์นา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

23 พฤษภาคม 2564 ภญ. ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีนทางเลือกเป็นวัคซีนที่นอกเหนือจากวัคซีนที่อยู่ในแผนการจัดซื้อของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ในระหว่างที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนรวบรวมจำนวนความต้องการ เบื้องต้นสมาคมโรงพยาบาลเอกชนคาดการณ์ ปริมาณสั่งซื้อจำนวน 5 ล้านโดส ซึ่งอยู่ในระหว่างทบทวนจำนวนร่วมกันอีกครั้ง ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกนั้น มีเงื่อนไขการขายของผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศเองที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศผู้ซื้อวัคซีน เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการตามแนวทางของการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นานี้ ผู้ผลิตต้องการให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ องค์การเภสัชกรรมจึงเข้ามาร่วมดำเนินการ ส่วนยี่ห้ออื่นนั้นขึ้นกับอยู่เงื่อนไขการขายของผู้ผลิตว่าจะเป็นอย่างไร

 

 

25 พฤษภาคม 2564 นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา เบื้องต้นได้มีข้อตกลงกับตัวแทนจำหน่ายวัคซีนว่าจะสามารถจัดหาโควตาวัคซีนได้เพิ่มเป็น 10 ล้านโดส จากเดิม 5 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยนำเข้ามาผ่านองค์การเภสัชกรรม และขายต่อให้กับโรงพยาบาลเอกชนไปให้บริการกับประชาชน คาดว่าการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาของโรงพยาบาลเอกชนจะทำได้เร็วกว่ากำหนดเดิมในเดือน ต.ค.64 โดยจะเร่งขึ้นมาเป็นในช่วงไตรมาส 3/64 และเมื่อมีความชัดเจนในการสั่งซื้อแล้วโรงพยาบาลเอกชนจะต้องวางเงินมัดจำ 100% ให้กับองค์การเภสัชกรรมเพื่อเตรียมสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่ายเข้ามาต่อไป

 

 

เบื้องต้นราคาค่าบริการฉีดวัคซีน 1 เข็ม จะอยู่ที่ราคาไม่เกิน 2,000 บาท และทั้งหมด 2 เข็ม จะมีค่าบริการไม่เกิน 4,000 บาท ยังไม่รวมค่าประกันอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งทางสมาคมโรงพยายบาลเอกชนจะพยายามกำหนดอัตราค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ใกล้เคียงกัน ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะทราบค่าบริการชัดเจนออกมาด้วย

 

 

7 มิถุนายน 2564 รพ.เอกชน เคาะแล้ว! ราคากลางวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ เข็มละ 1,900 บาท หรือครบ 2 โดส จำนวน 2 เข็ม ราคา 3,800 บาท เริ่มนำเข้าช่วงต.ค.64

 

 

8 มิถุนายน 2564 นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ในที่ประชุมสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการกำหนดราคาวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” เพราะต้องรอให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้กำหนดราคาวัคซีนมาก่อน

 

 


19 มิถุนายน 2564 นายพิจิตต์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลผู้สั่งจองและชำระค่าวัคซีนโมเดอร์นา พร้อมขยายเวลารับชำระค่าวัคซีนกับโรงพยาบาล จากเดิมภายในวันที่ 19 มิ.ย.ออกไปเป็นวันที่ 27 มิ.ย. เพื่อให้สอดคล้องกับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเลื่อนระยะเวลาการรายงานยอดความต้องการสั่งซื้อจากเดิมภายใน วันที่ 20 มิ.ย.เป็นวันที่ 28 มิ.ย. และโอนชำระค่าวัคซีนเต็มจำนวน 100% ภายในเดือน ก.ค.64

 

 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะทยอยโทรศัพท์นัดผู้จองและชำระค่าวัคซีนทางเลือก ตามลำดับการโอนเงิน คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนคิวแรกในเดือน ต.ค.64

 

 

จากไทม์ไลน์ทั้งหมดนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า "วัคซีนโมเดอร์นา" ได้ทำการสั่งซื้อจากองค์การเภสัชกรรมหรือยัง ซึ่งจากไทม์ไลน์ที่ไล่เรียงมารวมเป็นเวลา 76 วันแล้ว แต่หลังสรยุทธ ได้โพสต์ไปทางองค์การเภสัชฯ ได้ออกมาชี้แจงความคืบหน้าอีกครั้ง

 

 

23 มิถุนายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวชี้แจงถึงการนำเข้าวัคซีนทางเลือก "โมเดอร์นา" ที่ต้องมีหน่วยงานรัฐโดยองค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางนั้น การดำเนินการไม่ได้ล่าช้า ก่อนหน้านี้ อย.ก็ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นตัวกลางไม่สามารถเร่งการดำเนินการได้ เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการนั้น เป็นหน้าที่ รพ.เอกชน ต้องเป็นผู้เจรจากับกับทางบริษัท 

 

 

 

23 มิถุนายน 2564 ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมอยู่ใน ขั้นตอนการจัดทําร่างสัญญา ระหว่างองค์การฯ กับบริษัทชิลลิกฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศใกล้เสร็จแล้ว อาทิ สัญญาซื้อขาย สัญญาบริการ หลังจากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะส่งร่างสัญญา ซื้อขายดังกล่าวให้อัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขาย (Supply Agreement) กับบริษัทชิลลักๆ ได้ในต้นเดือนสิงหาคม 2564 

 

 

องค์การฯ ได้มีการชี้แจงแนวทางการดําเนินการดังกล่าวให้กับทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า องค์การฯ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัทชิลลิกฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตทะเบียนวัคซีน ในประเทศไทย จํานวน 5 ล้านโดส โดยทางบริษัทชิลลิกฯ จะทยอยจัดส่งให้องค์การฯ ในไตรมาสที่ 4/2564 ถึงเดือน มกราคม 2565

 

 

30 มิถุนายน 2564 องค์การเภสัชกรรมมีการกำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว โดยขายโดสละ 1,100 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคล ซึ่งหลังจากนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะไปกำหนดราคากลางค่าบริการฉีดที่เป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลต่อไป  

 

 

ณะเดียวกันแต่ละโรงพยาบาลจะได้ประกาศให้ประชาชนสั่งจองหรือยืนยันการจองอย่างเป็นทางการในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อส่งจำนวนการจองของแต่ละโรงพยาบาลให้กับองค์การฯอย่างเป็นทางการ เพื่อองค์การฯจะได้ดำเนินการจัดสรรให้สอดคล้องกับจำนวนที่บริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด นำเข้ามา โดยทางบริษัทจะทยอยจัดส่งให้ในงวดแรกในไตรมาส 4/2564 ประมาณ จำนวน 3.9 ล้านโดส และงวดที่ 2 ในไตรมาสที่ 1/2565 จำนวน 1.1 ล้านโดส 

 

 

 

 

 

1 กรกฎาคม 2564 แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้เคาะราคาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์ใหม่ อีกรอบ เหลือเข็มละ 1,650 บาท รวม 2 โดส ราคา 3,300 บาท

 

 

ขณะที่ ความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นานายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนว่า ยังอยู่ระหว่างการร่างสัญญากับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เพื่อนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โมเดอร์นา ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยและต่างประเทศ และต้องส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณา จึงคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้

 

 

 

3 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา มีการตกลงกันว่าวัคซีนโมเดอร์นาจะเป็นวัคซีนทางเลือก และการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ทำให้ อภ.ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนดำเนินการสั่งซื้อให้เอกชน

 

สาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากเป็นการจัดซื้อด้วยงบของเอกชน ไม่ใช่งบประมาณภาครัฐ จึงต้องรอเอกชนรวบรวมยอด ซึ่ง อภ.ประสานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาตลอด พบว่ามีความต้องการกว่า 9 ล้านโดส แต่จากการเจรจาบริษัทระบุว่าส่งให้ได้ไตรมาส 4 ปี 2564 ประมาณ 4 ล้านโดส และไตรมาส 1 ปี 2565 ประมาณ 1 ล้านโดส ถือว่าเร็วขึ้น จึงต้องรวบรวมยอดและเงินมาให้ อภ.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ถึงไปเซ็นสัญญาได้ ซึ่งวางไว้ที่ต้นเดือนสิงหาคม

 

 

5 กรกฎาคม 2564สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการโดยเร่งด่วนจนการพิจารณา ตรวจร่างสัญญาแล้วเสร็จในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาในวันเปิดทำการในวันนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงส่งคืนร่างสัญญาให้องค์การเภสัชกรรมไปดำเนินการต่อไป

 

 

 

การสั่งซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” 


แบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง คือ 

 


เส้นทางที่ 1 ระหว่าง อภ. กับบริษัท ซิลลิค ในเดือนพ.ค. หลังจากที่วัคซีนโมเดอร์นา ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เรียบร้อยแล้ว จากนั้นทาง อภ. ได้จัดทำร่างสัญญา Supply Agreement พร้อมตรวจสอบในต้นเดือนมิ.ย. และเมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ จะส่งต่อร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบในเดือนก.ค. ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญา Supply Agreement กับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ในต้นเดือนส.ค. 

 

 

เส้นทางที่ 2 ระหว่าง อภ. กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จะต้องยืนยันยอดจองวัคซีนภายในวันที่ 20 มิ.ย. พร้อมกับแจ้งจำนวนการจัดสรรให้สมาชิกแต่ละราย ก่อนที่จะลงนามสัญญาซื้อขายและเงื่อนไขต่างๆ นอกจากนั้นพร้อมให้โรงพยาบาลที่สั่งซื้อวัคซีนโอนเงินเข้าบัญชีอภ. แบบ 100% ในเดือนก.ค.

 

 


คาดการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นา 


ลอต 1 เดือน ต.ค. 2564 จำนวน 4 ล้านโดส


ลอต 2 ภายในปี 2564 จำนวน 3 ล้านโดส


ลอต 3 ต้นปี 2565 จำนวน 3 ล้าน โดส 

 


โดยดูจากช่วงเวลาการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา คาดว่าน่าจะถูกนำมาใช้เป็นเข็ม 2 หรือ เข็ม 3 ในการเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เพื่อพร้อมรับการขยายพื้นที่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

ราคาวัคซีนโมเดอร์นาในไทย


ราคากลางค่าบริการวัคซีนทางเลือก วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ที่จะจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขายโดสละ 1,100 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคล

 

 


ยอดจองวัคซีนโมเดอร์นา


ยอดจองวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดส พบว่า มีโรงพยาบาลเอกชนสั่งจองทั้งสิ้นจำนวน 129 แห่ง แบ่งเป็นยอดจอง 1-100 ขวด จำนวน 85 แห่ง , 101-1,000 ขวด จำนวน 47 แห่ง , 1,001-10,000 ขวด จำนวน 19 แห่ง , 10,001- 100,000 ขวด จำนวน 4 แห่ง และมากกว่า 100,001 ขวด จำนวน 1 แห่ง

 

 

ล่าสุดสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และองค์การเภสัชกรรม ในฐานะหน่วยงานรัฐที่เป็นตัวแทนสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ระบุ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบร่างสัญญาจัดซื้อ ก่อนเสนอให้อัยการสูงสุดตรวจขั้นสุดท้ายภายในเดือนกรกฎาคม และลงนามสัญญากับ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ต้นเดือน สิงหาคม

 

 


การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล


ตามที่ตั้งเป้าจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ เพื่อฉีดให้คนไทย 50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากร ปัจจุบันได้เจรจากับผู้ผลิตวัคซีนจำนวน 6 ราย ได้แก่ ไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม จนสามารถลงนามในสัญญาจองซื้อวัคซีนไปแล้วรวม 105.5 ล้านโดส เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ วัคซีนทั้งหมดจะทยอยส่งมอบจนครบตามยอดสั่งซื้อภายในปีนี้ และหากวัคซีนส่งมาเพียงพอในแต่ละเดือน รัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนเฉลี่ยเดือนละกว่า 10 ล้านโดส จึงคาดว่า เมื่อถึงช่วงประมาณต้นเดือนตุลาคม จะมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกจำนวน 50 ล้านคน โดยรัฐบาลยังวางแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกสำหรับปีหน้าด้วย

 

 

 

ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ , สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี , TNN , มติชน , Hfocus , รายการเรื่องเล่าเช้านี้

 

 

 

 

-------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง