รีเซต

เปิดแผน "วัคซีนไฟเซอร์" เข้าไทยเมื่อไหร่ ใครได้ฉีด บุคลากรการแพทย์ได้ฉีดไหม

เปิดแผน "วัคซีนไฟเซอร์" เข้าไทยเมื่อไหร่ ใครได้ฉีด บุคลากรการแพทย์ได้ฉีดไหม
Ingonn
7 กรกฎาคม 2564 ( 13:32 )
1.2K

จากกระแสเอกสารหลุด เอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า “ถ้านำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ อาจถือเป็นการยอมรับว่า วัคซีนซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน” จากจุดนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก จนมีการติดแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ขึ้น เพื่อให้ด่านหน้าที่ต้องเสี่ยงชีวิตร่วมกับโควิดได้ปลอดภัย และป้องกันระบบสาธารณสุขล่ม

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมาไล่เรียงไทม์ไลน์ว่า ตอนนี้ทางกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ถึงหน่วยงานไหนแล้ว และจะได้เริ่มฉีดจริงเมื่อไหร่

 

 


ไทม์ไลน์ความคืบหน้าการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer

 

ก่อนเดือน เม.ย. 64 : ติดต่อไฟเซอร์

 


16 เม.ย. 64 : ประชุม ศบค.ครั้งที่ 5/2564 มีมติ จัดหาวัคซีน

 


20 เม.ย. 64 : ลงนาม Confidental Disclosure Agreement

 


3 พ.ค. 64 : คร.ส่งร่าง Binding Term Sheet ให้ อสส.พิจารณา

 


25 พ.ค. 64 : คร.ส่งร่าง Bingding Term Sheet ที่เจรจาเพิ่มเติมกับ ไฟเซอร์ ให้ อสส.พิจารณา

 


28 พ.ค. 64 : อสส.แจ้งผลการพิจารณา Bingding Term Sheet การตกลงจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จัดซื้อตามนโยบายรัฐบาล

 


10 มิ.ย. 64 : ลงนาม Bingding Term Sheet

 


11 มิ.ย. 64 : ขอขึ้นทะเบียน

 


24 มิ.ย. 64 : อย.ขึ้นทะเบียน

 


26 มิ.ย. 64 : ไฟเซอร์ ส่งเอกสารสัญญา Manufacturing and Supply Agreement

 


28 มิ.ย. 64 : ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด

 


5 ก.ค. 64 : อัยการสูงสุดส่งกลับ คร.

 


6 ก.ค. 64 : เข้า ครม.เห็นชอบก่อนลงนาม

 

 


ล่าสุด นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ หลังขึ้นทะเบียน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากการจัดซื้อ มีจำนวนมากประมาณ 20 ล้านโดส จึงต้องมีการพิจารณาเงื่อนไขและสัญญาอย่างรอบคอบ รวมถึงต้องปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

ขณะนี้สำนักอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาการจัดซื้อแล้ว คาดว่าจะเสร็จในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้จากนั้นวันที่ 6 กรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุขจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพราะร่างสัญญานี้ มีหลายเรื่องเป็นข้อผูกพันที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล หากผ่านขั้นตอนเห็นชอบจากทุกฝ่ายสามารถลงนามสั่งซื้อได้ และจะเดินหน้าเจรจาส่งมอบให้เร็วขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่มีจำนวนมากเช่นกัน

 

 

 

มีสัญญาอะไรบ้าง ทำไมต้องพิจารณานาน


การจัดซื้อวัคซีนต้องลงนามเอกสารทั้งหมด 3 ฉบับ


1.เอกสารที่สัญญาว่าเมื่อรับทราบข้อกำหนดเบื้องต้นจะไม่เปิดเผยข้อมูล


2.เอกสารการจองวัคซีน


3.เอกสารสัญญาซื้อวัคซีน

 

 

ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงนามเอกสารไปแล้ว 2 ฉบับ คือ เอกสารที่สัญญาว่าเมื่อรับทราบข้อกำหนดเบื้องต้นจะไม่เปิดเผยข้อมูล และเอกสารการจองวัคซีน ตั้งแต่ก่อน เม.ย. ตอนนี้เหลือสัญญาฉบับที่ 3 คือ เอกสารสัญญาซื้อวัคซีน ซึ่งต้องรอบคอบเพราะมีเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสัญญาแล้ว

 

 

 

ดราม่าเอกสารหลุด #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์


เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 มีการเปิดเผยเอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และ คณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

 

เนื้อหาเกี่ยวกับการได้รับวัคซีน ไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส ในเดือนกรกฎาคม 2564 และจะได้รับในไตรมาสที่ 4 รวม 20 ล้านโดส จึงมีแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ มุ่งเน้นไปที่บุคคลทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่

 

1.บุคคลอายุระหว่าง 12-18 ปี


2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์


3.บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งเป็นการฉีด เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 


 
แต่กลับมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยระบุว่า “ถ้านำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ อาจถือเป็นการยอมรับว่า วัคซีนซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น"

 

 

 

มติที่ประชุมดังกล่าว มีแนวทางใช้วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส ในเดือน ก.ค. - ส.ค. 64 แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง คือ กทม. และปริมณฑล เพื่อลดการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตและควรเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ฉีด และอุปกรณ์ในการฉีดที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีน

 

 


หลังจากเรื่องนี้ถูกแชร์ออกไป มีบุคลากรทางการแพทย์คนสำคัญต่างๆ วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการให้ฉีดวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นเข็มที่ 3 เพราะถือเป็นด่านหน้าสำคัญที่ต้องต่อสู้กับโรคโควิด-19 และหากแพทย์ พยาบาลติดโควิด จะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขล่มได้ จึงควรให้หมอเป็นลำดับแรก

 

 


อนุทินยอมรับเอกสารหลุดเป็นของจริงแต่กรมควบคุมโรคบอกไม่จริง


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับ อกสารดังกล่าวเป็นของจริง ที่มีการประชุมร่วมกันของทีมแพทย์ คณะกรรมการวิชาการ ซึ่งเป็นจิตอาสาที่เข้ามาร่วมประชุมด้วย ไม่ควรไปวิจารณ์ เพราะมันเป็นเรื่องวิชาการ ตราบใดที่ยังไม่นำมาปฏิบัติก็ยังไม่มีผล

 

 

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุไม่ใช่เอกสารหลุด แต่เป็นการเผยแพร่เอกสารที่ไม่จริง ไม่ถือว่าเป็นฉบับจริงของที่ประชุม คนที่เขียนไม่ใช่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการการประชุมนั้น และถ้าสังเกตจะเห็นว่า เอกสารนั้น เขียนแบบอ่านเอาเอง ไม่ใช่รูปแบบที่ฝ่ายเลขาฯทำการเขียนสรุป

 


กรมควบคุมโรค แจ้งแล้ว ขอเวลาศึกษาฉีดไฟเซอร์เข็ม 3


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม แล้วกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA จะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ต้องวัดได้หลายอย่าง เช่น ผลตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในห้องทดลอง แต่ผลแล็บกับความจริงก็แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เรามักเอาผลทางแล็บมาอ้างอิงกับผลจริง อย่างที่ทราบขณะนี้วัคซีนใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงไม่มีใครทราบผลระยะยาว อย่างเช่น บางยี่ห้อที่เป็นชนิด mRNA มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ใช้ไประยะหนึ่งก็พบว่ามีปัญหาในคนหนุ่มสาว ที่จะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจำนวนหลายพันราย ซึ่ง ณ ขณะนี้ ข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนรายสัปดาห์ รายวัน จึงต้องเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า อันไหนเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด

 

 

 

เคาะแล้วซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

 

ครม. อนุมัติลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส เพื่อนำเข้าประเทศไทย ภายในไตรมาส 4 หรือ ภายในเดือน ตุลาคม 2564 ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์คือวัคซีนหลัก ที่รัฐจะจัดหามาให้ประชาชนฉีดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมอบอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ลงนามในสัญญาพร้อมรับข้อสังเกตของอัยการสูงสุดไปดำเนินการในการเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ในเบื้องต้น ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในสัญญาได้เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ทางกรมควบคุมโรคจะต้องเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง 

 

 

 

แถมฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 ให้หมอ

 

หากวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสเข้ามาได้เร็ว ทางคณะที่ปรึกษา ศบค. จะให้คำแนะนำไปที่นายกรัฐมนตรีว่าควรจะให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดเป็นกลุ่มแรกก่อน ส่วนที่เหลือให้กับคนที่มีความเสี่ยงในกลุ่มโรคต่างๆ ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม และเมื่อผ่านไป 3-4 เดือน ควรมีการฉีดเข็มที่ 3 และต้องเป็นวัคซีนตัวอื่น เช่น แอสตร้าเซเนก้า หรือวัคซีนประเภท mRNA

 

 


ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , มติชน , ข่าวสด , TNN , ไทยรัฐ

 

 

 

 

-------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง