รีเซต

หมอโอภาส ยันเอกสารถกวัคซีนไฟเซอร์ไม่ใช่ของจริง ยังไม่มีมติที่ประชุม

หมอโอภาส ยันเอกสารถกวัคซีนไฟเซอร์ไม่ใช่ของจริง ยังไม่มีมติที่ประชุม
มติชน
5 กรกฎาคม 2564 ( 13:44 )
57
หมอโอภาส ยันเอกสารถกวัคซีนไฟเซอร์ไม่ใช่ของจริง ยังไม่มีมติที่ประชุม
 

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไฟเซอร์ ที่ประเทศไทยได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า ในการประชุมวิชาการ ต้องการความเห็นที่หลากหลายเพื่อให้ได้ข้อสรุป ซึ่งกรรมการต่างออกความเห็น แต่ความเห็นนั้นไม่ได้เป็นทางการ ดังนั้น ต้องดูบริบทด้วยว่าพูดอะไร การเอาเพียงบางส่วนไปเปิดเผย ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าประชุม อย่างไรก็ตาม ตนเข้าร่วมประชุม แต่ไม่ได้อยู่จนจบ ดังนั้น จึงไม่ทราบว่าใครพูดอย่างไรบ้าง และโดยมารยาทก็ไม่ควรพูด

 

 

“ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่ใช่เอกสารหลุด แต่เป็นการเผยแพร่เอกสารที่ไม่จริง ไม่ถือว่าเป็นฉบับจริงของที่ประชุม เพราะวันนั้นเป็นการประชุมหลักๆ คือ ด้านวิชาการ 3 คณะ คือ คณะวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการด้านวิชาการและวิจัยในการฉีดวัคซีน ซึ่งเน้นในด้านวิชาการ คนเข้าประชุมเยอะ ทั้งในที่ประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ความเห็นทางวิชาการที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่จะมีวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามาในอนาคต เช่น ไฟเซอร์ ว่าจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายอย่างไร เพราะมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ จึงต้องเตรียมการล่วงหน้า” นพ.โอภาสกล่าว

 

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า โดยกระบวนการ เมื่อการประชุมเสร็จสิ้น จะมีการเสนอรายงานการประชุมต่อคณะกรรมการที่ดูแลต่อไป เช่น คณะกรรมการวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ ก็ต้องเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ความเห็น เป็นข้อสั่งการต่อไป หรือคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ก็ต้องเสนอต่อคณะกรรมการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการด้านวิชาการและวิจัยในการฉีดวัคซีน ก็ต้องเสนอต่อคณะอนุกรรมการในการจัดการฉีดวัคซีน

 

 

“พอคณะ ที่เป็นทางการทั้ง 3 คณะ เห็นชอบแล้ว ก็ต้องเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อเห็นชอบต่อไป อีกประเด็นคือ ไม่ใช่เอกสารหลุด ผมต้องเรียกว่า เอกสารที่ไม่จริง เพราะคนที่เขียนไม่ใช่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการการประชุมนั้น และถ้าสังเกตดู จะเห็นว่า เอกสารนั้น เขียนแบบอ่านเอาเอง ไม่ใช่รูปแบบที่ฝ่ายเลขาฯ เขาทำการเขียนสรุป ดังนั้น ไม่มีเอกสารหลุด แต่เป็นเอกสารที่ไม่จริง ความเห็นในที่ประชุมมีหลากหลาย แต่สุดท้ายต้องมีมติในที่ประชุมออกมา ซึ่งเราเน้นเรื่องวิชาการไม่ได้เน้นในเรื่องของการจัดการหรือการนำไปใช้จริง แต่เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณา สั่งการปฏิบัติในภาพรวมของประเทศต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า เอกสารนั้นไม่ใช่เอกสารจริงใช่หรือไม่ นพ.โอกาส กล่าวว่า หากสังเกตดีๆ เหมือนเอกสารที่เขียนเอง อ่านเอง และเอกสารนั้น เหมือนเอาสไลด์การประชุมไปปะติด ยืนยันว่าไม่ใช่เอกสารจริงจากฝ่ายประชุม ทั้งนี้ ไม่ควรเผยแพร่ต่อ เพราะถ้าเผยแพร่ต่อก็จะเป็นเรื่องไม่จริงไปกันใหญ่

 

 

เมื่อถามถึงข้อเท็จจริงของวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนซิโนแวค ตามเอกสาร นพ.โอภาสกล่าวว่า เรานำเรียนหลายครั้ง โดยสัปดาห์ที่แล้วก็มีการเปิดเสวนา จาก นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นพ.นคร เปรมศรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร และ รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ตรงกันว่า วัคซีนที่ไทยใช้ผ่านการรองรับจากองค์การอนามัยโลก และผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

 

 

ซึ่งที่ผ่านมา ใช้เพื่อควบคุมการระบาดใน จ.สมุทรสาคร และช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และเป็นตัวอย่างให้เห็นจากการใช้งานจริง เช่น ที่ จ.ภูเก็ต ลดการติดเชื้อได้ ร้อยละ 80-90 ส่วนที่ จ.เชียงราย ที่พบติดเชื้อโควิด-19 ก็พบว่าได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ลดโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าบุคลากรที่ยังไม่ได้ฉีด หรือยังฉีดไม่ครบ 2 เข็มอย่างชัดเจน

 

 

“เป็นข้อมูลจากการใช้จริง ประสิทธิผลสามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลง กลายพันธุ์ตลอดเวลา ฉะนั้น ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามข้อมูล และ สธ.จะนำวัคซีนที่เรามีอยู่มาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

 

 

เมื่อถามต่อว่า กรณีไฟเซอร์ที่จะได้รับการบริจาค 1.5 ล้านโดส ยังไม่มีข้อสรุปการบริหารจัดการฉีดให้กลุ่มไหน ใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการสรุปเป็นทางการว่าจะส่งให้ไทย เมื่อไร อย่างไร ก็ต้องติดตามกันก่อน ต้องเอาข้อมูลมาประมวลก่อน และจะมาบริหารจัดการอีกที เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

  •  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง