รีเซต

รู้จัก “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” สู่ “โควิดทองหล่อ” ที่วัคซีนป้องกันได้?

รู้จัก “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” สู่ “โควิดทองหล่อ” ที่วัคซีนป้องกันได้?
Ingonn
12 เมษายน 2564 ( 15:45 )
498

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้ยาก โดยมีจุดเริ่มต้นใหญ่ๆมาจาก “คลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ” ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่พบผู้ป่วยมีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอีกด้วย

 

 

วันนี้ True ID จะพาทุกคนมารู้จัก “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดครั้งใหญ่นี้กัน

 

 

รวม 10 ข้อต้องรู้ เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์อังกฤษ


1.โควิดสายพันธุ์อังกฤษ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า B.1.1.7


2.สายพันธุ์นี้ติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์ธรรมดาอยู่ประมาณ 1.7 เท่า


3.พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน 2563 ส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษ มีการกระจายไปในประเทศอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป


4.ตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษ อยู่บนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของ "โปรตีนหนาม" (spike protein) ของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นส่วนแรกที่หนามของไวรัสจะสัมผัสกับพื้นผิวเซลล์ในร่างกายคนเรา และมีประสิทธิภาพในการแบ่งตัวดีขึ้น สัมพันธ์กับอัตราการป่วยและเสียชีวิตมากกว่าเดิมเล็กน้อย


5.พบครั้งแรกในไทยเมื่อ 3 ม.ค.2564 จากครอบครัวชาวอังกฤษ ในสถานกักกันตัว กระทั่งแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ อย่างรวดเร็ว


6.ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดสายพันธุ์อังกฤษ "มีต้นตอมาจากไหน"


7.ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ต้นต่อของการระบาดในประเทศไทยครั้งนี้ ที่เกิดจากสายพันธุ์อังกฤษ ไม่น่าจะมาจากสถานกักกัน ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่น่าจะมาจากการเคลื่อนย้ายของประชาชนระหว่างประเทศเขมรและไทย


8. โควิดสายพันธุ์อังกฤษแค่แพร่เร็ว แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ปกติ 


9.ปัจจัย 3 อย่าง ที่ทำให้ต้องจับตามองไวรัสชนิดนี้อย่างใกล้ชิด คือ 1.แพร่ระบาดแทนที่เชื้อโรคโควิด-19 อีกชนิดอย่างรวดเร็ว2.เกิดการกลายพันธุ์ที่น่าจะส่งผลสำคัญต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ 3.การกลายพันธุ์บางอย่างได้แสดงให้เห็นในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) แล้วว่า ทำให้เชื้อชนิดใหม่นี้มีความสามารถทำให้เซลล์ติดเชื้อได้มากขึ้น


10.หลายประเทศพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษนี้ เช่น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย อิตาลี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ สวีเดน เยอรมนี แคนาดา เลบานอน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

 

 

โควิดสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในไทยมาจากกัมพูชา

 


จากการถอดรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์ทองหล่อโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์โควิด-19 ที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในประเทศกัมพูชา เนื่องจากความเหมือนของรหัสพันธุกรรมในส่วนของ "โปรตีนหนาม" (spike protein) ของเชื้อที่พบในสถานบันเทิงมีความเหมือนกับสายพันธุ์กัมพูชา 100% เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อังกฤษที่พบในประเทศอื่นๆและที่ศูนย์ฯเคยตรวจสอบไว้ จะเห็นว่ารหัสพันธุกรรมไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์

 

จากข้อมูลดังกล่าวจึงสนับสนุนว่าสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยกับสายพันธุ์ที่พบในกัมพูชามีความเหมือนกัน

 

รวมถึงเชื้อโควิด-19 นี้ระบาดที่กัมพูชาก่อนถึง 6 สัปดาห์จึงมาตรวจพบในประเทศไทย
จึงเป็นการยืนยันได้ว่า สายพันธุ์จากประเทศไทยที่สถานบันเทิงเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันกับสายพันธุ์กัมพูชาอย่างแน่นอน

 

 


วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ไหม?


ทางกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าวัคซีนขณะนี้ที่ใช้ในไทย ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ดี และป้องกันการเสียชีวิต ไม่แตกต่างจากวัคซีนอื่นๆ ขอให้มั่นในในประสิทธิภาพวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งวัคซีนที่ใช้ทั่วโลกการป้องกันการเสียชีวิตเกือบ 100% ไม่ว่าจะซิโนแวค แอสตร้าเซนเนกา โมเดอร์นา หรือ ไฟเซอร์-ไบออนเทค ก็มีผลลัพธ์ไม่ต่างกัน

 

 

โควิด-19 เป็นไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการ และการกลายพันธุ์ส่งผลให้ตั้งแต่การติดต่อง่าย ความรุนแรงของโรค ความคงอยู่ของเชื้อ แต่ความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยพบในไทย ดังนั้นวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา และวัคซีนซิโนแวค หรือวัคซีนอื่นๆ จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้

 

 

หมอเตือนการ์ดอย่าตก


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุโดยรวมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ มีต้นตอจากสถานบันเทิง ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอายุไม่มาก อาการจึงไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุม เพราะผู้ติดเชื้อจะไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อจึงสามารถแพร่กระจายโดยไม่รู้ตัว

 

เมื่อเปรียบเทียบปีที่แล้ว เรามีมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ทั้งเลื่อนวันสงกรานต์ เคอร์ฟิว ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดกิจกรรมต่างๆที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และสแกนไทยชนะ ควบคู่กัน ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือย่างดีมากกว่าปีนี้

 

หากการระบาดครั้งนี้มากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่าและมาตรการต่างๆของเราน้อยกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า เท่ากับว่าความรุนแรงของการระบาดในปีนี้เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว 100 เท่า 

 

 

 

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊กนพ.ยง ภู่วรวรรณ , PPTV, กระทรวงสาธารณสุข

ภาพจาก เฟซบุ๊กนพ.ยง ภู่วรวรรณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง