หมดปัญหา นอนรอคิวตรวจโควิด กับ “Rapid Antigen Test” ชุดตรวจโควิดเร็ว ผลลบก็ติดโควิดได้
ก่อนหน้านี้เราจะเห็นข่าวประชาชน ต้องไปรอตรวจโควิด-19 ที่วัด และจุดตรวจโควิดอีกหลายแห่ง บางรายต้องรอจองคิวข้ามวัน และกางเต้นท์นอนบริเวณวัดเพื่อให้ตนเองและครอบครัวได้ตรวจเชื้อ ซึ่งการมาจองคิวรอแบบนี้ ยิ่งทำให้ติดเชื้อโควิด เพราะเกิดความแออัด และหากมีผู้ติดเชื้อในกลุ่มคนรอคิวอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้แนะนำให้ใช้ ชุดตรวจโควิดแบบเร็วหรือ Rapid Antigen Test เพื่อระบายความหนาแน่นของคนมารอรับบริการและลดความเสี่ยงจากโควิด-19
วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมารู้จักกับ “Rapid Antigen Test” ชุดตรวจโควิดเร็ว ว่ามีประสิทธิภาพอย่างไร สามารถช่วยลดเวลาตรวจโควิด-19 ได้ แต่ผลการตรวจอาจต้องรอคอนเฟิร์มหรือไม่
ทำความเข้าใจชุดตรวจโควิดเร็ว
ชุดตรวจแบบเร็วหรือ Rapid Test มี 2 แบบ คือ 1.Antigen Test เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส จะเก็บตัวอย่างจากทางจมูก ลึกถึงคอหรือเก็บจากลำคอ และ 2.Antibody Test เป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน จะใช้การเจาะเลือดตรวจ ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ เพราะปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือวัคซีนก็ได้ ซึ่งไม่สามารถแยกได้
การใช้ Rapid Antigen Test จึงเป็นแบบการตรวจ Antigen Test โดยการตรวจแบบนี้ต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันมีขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ ซึ่งการใช้จะเป็นการอนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และดำเนินการโดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองในการตรวจวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300 แห่งเท่านั้น
ผลตรวจเป็นบวก ใช่ว่าจะป่วย และผลตรวจเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ
การตรวจด้วย Rapid Antigen Test เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจจะน้อยและตรวจไม่เจอ ดังนั้น หากผลเป็นลบยังต้องกลับไปกักตัว และรอติดตามมาตรวจภายหลัง ส่วนผลเป็นบวก เนื่องจากอาจเป็นผลบวกลวงก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งหากเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป
ตรวจได้ที่ไหนบ้าง
ชุดตรวจ Rapid Test COVID-19 ต้องผ่านการรับรองจาก อย. โดยให้ขายได้เฉพาะ
-สถานพยาบาลของรัฐ
-โรงพยาบาลทั่วไป
-โรงพยาบาลเฉพาะทางคลินิกเวชกรรม
-คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม
-คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือสหคลินิก
การตรวจต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อมาตรวจเอง
ชุดตรวจ Rapid Test ที่เป็นข่าวตอนนี้ คือ “การตรวจหาภูมิคุ้มกัน” หรือ Antibody Test ที่ใช้วิธีเจาะเลือด เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากรับเชื้อประมาณ 5 - 7 วัน ดังนั้นหากตรวจแบบนี้จะได้ผลเป็นบวกหรือลบ ต้องตรวจหลังรับเชื้อ 5 -10 วันขึ้นไป กว่าจะรู้ผลยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ และหากไปตรวจหลังเสี่ยงรับเชื้อวันที่ 1 หรือ 3 เมื่อได้ผลเป็นลบก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ส่วนที่เร็ว คือ ขั้นตอนการตรวจใช้เวลาแค่ 5 นาที แต่ในแง่ของการวินิจฉัยโรคถือว่า ช้า จึงสรุปได้ว่า “เร็วตอนตรวจแต่วินิจฉัยโรคได้ช้า”
สธ. แนะนำการใช้ Rapid Antigen Test ดังนี้
1. ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.
2. ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ใช้โดยสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองทางห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
3. ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจากการแหย่จมูกตามที่ชุดตรวจกำหนด
4. ผู้ป่วยที่มีอาการให้มีการพิจารณาการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ก่อน
5. กรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้ใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ถ้าให้ผลบวกให้ตรวจยืนยันด้วย RT-PCR
6. ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการให้ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Rapid Antigen Test
การตรวจ RT-PCR ต่างจาก Rapid Test อย่างไร
การตรวจ RT-PCR เป็นการเก็บตัวอย่างเชื้อจากด้านหลังโพรงจมูก หรือลำคอ ด้วยก้านเก็บตัวอย่าง (Swab) โดยใช้ระยะเวลาในการรับบริการ 10-30 นาที จากนั้นนำไปหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่การตรวจแบบ Rapid test เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเชื้อไวรัส (Antigen) หรือภูมิคุ้มกัน (Antibody) ขึ้นอยู่กับชุดตรวจ ใช้งานได้ง่าย แต่ก็มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงกว่าแบบ PCR เนื่องจากมีปัจจัยที่อาจทำให้ผลไม่แม่นยำได้ ดังนี้
1.จะต้องตรวจหลังจากหลับเชื้อมาแล้ว 5-14 วัน ผลจึงจะมีความแม่นยำ ไม่อย่างนั้นอาจตรวจไม่พบเชื้อ
2.หากตรวจหาภูมิคุ้มกัน จะต้องตรวจในวันที่ 10 เป็นต้นไปจนกว่าจะหายจากโรค
แต่ผู้ที่รับการตรวจมักไม่รู้ว่ารับเชื้อมาตั้งแต่ตอนไหน จึงทำให้การตรวจประเภทนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้
ซื้อไปตรวจเองที่บ้านหรือตรวจที่คลินิกได้ไหม
การตรวจแบบนี้ ยังไม่ได้เป็นการเปิดให้คลินิกไหนก็ได้ที่ไม่ได้รับการรับรองนำมาใช้ตรวจ เพราะเมื่อตรวจเป็นบวกแล้วต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ จึงต้องให้สถานพยาบาลหรือแล็ปที่ตรวจ RT-PCR ได้เป็นผู้ตรวจ Antigen test นี้ และยังไม่สามารถนำไปใช้ตรวจเองที่บ้านได้ แต่ในอนาคตจะวางระบบให้ตรวจเองที่บ้านได้ต่อไป
ส่วนแนวทางการใช้ชุดตรวจ Antigen test แบบ Home use หรือชุดทดสอบด้วยตนเอง (Self test) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพิจารณาแนวทางการดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินการ มีความเหมาะสม ปฏิบัติได้จริง เกิดประโยชน์ และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด นอกจากนี้ กำลังพิจารณาการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ร่วมกับการใช้วิธีอื่นๆ เช่น การตรวจน้ำลาย, การตรวจแบบรวมตัวอย่าง (Pooled Samples) เป็นต้น
สรุปได้ว่า
1.ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ไม่ได้มีไว้สำหรับใช้เองที่บ้าน ต้องไปตรวจกับโรงพยาบาลหรือจุดตรวจโควิดเท่านั้น รอ สธ. พัฒนาชุดตรวจสำหรับใช้ที่บ้าน
2.ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ตรวจเร็ว ลดความแออัด ไม่ต้องรอคิวนาน
3.ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ไม่มีความแม่นยำ เท่ากับ การตรวจโควิดแบบ RT-PCR
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลCOVID-19 , Hfocus
-------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.เสนอ 6 แนวทางใช้ Rapid Antigen Test ตรวจโควิด 19
- อ.เจษฎารีวิว ‘ชุดตรวจโควิดเร่งด่วน’ ยังไม่ยืนยันแต่ใช้ง่ายมาก
- อัพเดท! เปิดสถานที่ตรวจ "โควิด-19 ฟรี" เช็คเลย!