รีเซต

เตือน! อย่าทิ้งหน้ากากอนามัยในขวดน้ำดื่มพลาสติก เพราะอะไร?

เตือน! อย่าทิ้งหน้ากากอนามัยในขวดน้ำดื่มพลาสติก เพราะอะไร?
Ingonn
23 กรกฎาคม 2564 ( 13:16 )
245

 

รู้หรือไม่ การทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ขวดพลาสติกแล้วปิดฝา อาจไม่ได้ช่วยให้ป้องกันการติดเชื้อให้คนเก็บขยะ แต่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่คนคัดแยกขยะจะติดโควิดได้

 

 

หลังจากที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบันทำให้มีการใช้หน้ากากอนามัยกันอย่างแพร่หลาย ในช่วงที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งมีบางครัวเรือนที่แยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วใส่ลงในขวดพลาสติกเนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รับผิดชอบงานเก็บขนขยะ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ต้องรบกวนขอความร่วมมือ พี่น้องประชาชน ไม่ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในขวดน้ำดื่มพลาสติกดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลดังนี้

 


1.การใส่ขยะติดเชื้อในขวดพลาสติกจะทำให้ไม่สามารถกำจัดได้โดยง่าย นอกจากการนำไปเผา ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่าเดิม เพราะต้องเผาขวดพลาสติกไปด้วย 

 


2. หากไม่นำไปเผา พนักงานเก็บขยะจะต้องเปิดขวดเพื่อดึงหน้ากากออกมา จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเพิ่มภาระให้กับพนักงานเก็บขนขยะ 

 


3. ขวดพลาสติก PET ยังมีมูลค่าและราคาค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ หากมีการนำเอาหน้ากากอนามัยออกเพื่อนำขวดไปขายจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเชื้อโรคและการระบาดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น 

 


4. ร้านรับซื้อของเก่าหรือโรงงานรีไซเคิลจะไม่รับซื้อขวดพลาสติกที่มีของแข็งหรือของเหลวใดๆ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดังนั้น ขวดพลาสติกที่มีหน้ากากอนามัยจะถูกคัดทิ้งกลับไปเป็นขยะพลาสติกอีกครั้ง จึงเป็นการก่อให้เกิดมลภาวะอย่างไม่รู้จบ

 

 


ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี หากขวดพลาสติกเหล่านี้ไม่มีการปนเปื้อนก็จะถูกนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการนำพลาสติกภายในประเทศกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 

 


นายอรรถพล อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ย้ำว่า เมื่อรู้แบบนี้แล้ว จึงขอความร่วมมือช่วยกันแชร์ ช่วยกันบอกต่อ ส่งต่อคำแนะนำและองค์ความรู้ดังกล่าวให้ทั่วถึง อย่างน้อยให้คนในครอบครัวได้ช่วยกันจัดการขยะหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกวิธี ไม่เพิ่มความเสี่ยงอันตรายให้กับพนักงานเก็บขนขยะและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล กล่าว

 


ขวดพลาสติก PET ใส รีไซเคิลได้ 100% ไม่ควรทิ้งหน้ากากอนามัย หรือ ถ่านไฟฉายลงในขวด ทำให้ปนเปื้อนรีไซเคิลไม่ได้ สร้างปัญหาในการกำจัด แพร่กระจายเชื้อโรค ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 


หน้ากากอนามัยใช้แล้วอาจมีสารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย น้ำมูกหรือเสมหะป่นเปื้อนอยู่ จึงถือเป็นขยะติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อโรค เช่น เชื้อโรคโควิด–19 ให้กับคนที่สัมผัสหน้ากากอนามัยใช้แล้วได้ ดังนั้นเพื่อให้หน้ากากอนามัยของเราไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นโดยเฉพาะพนักงานเก็บขยะที่เสี่ยงต่อโรคโควิด – 19 จำเป็นต้องทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี นอกจากจะช่วยลดการติดเชื้อโควิดแล้ว ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดภาวะมลพิษให้กับประเทศอีกด้วย

 

 

การทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี

 

1.ถอดหน้ากากอนามัย โดยจับที่สายคล้องหู ไม่สัมผัสบริเวณด้านในและด้านนอกของหน้ากากอนามัย

 


2.พับ หรือม้วนหน้ากากอนามัย เก็บส่วนที่สัมผัสร่างกายไว้ด้านใน

 


3.ใช้สายรัดพันรอบหน้ากากอนามัย

 


4.นำหน้ากากอนามัยใส่ถุงพลาสติกและรัดปากถุงให้แน่น

 


5.เขียนบนถุงพลาสติกว่า ขยะติดเชื้อ โดยเขียนให้เห็นชัดเจน

 


6.ทิ้งถุงพลาสติกที่บรรจุหน้ากากอนามัยใช้แล้วลงในถังขยะที่แยกไว้สำหรับขยะติดเชื้อ

 


7.ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสถังขยะ

 

 

 

สถานการณ์ขยะติดเชื้อในไทย


ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้มีมูลฝอยติดเชื้อตั้งแต่เดือน ม.ค.- มิ.ย. 2564 รวมทั้งหมด 31,709.84 ตัน เฉพาะในเดือน มิ.ย.เพียงเดือนเดียว พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน

 

 

จากการประชุมหารือในระดับกระทรวงสาธารณสุขต่อนโยบายที่ให้มีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) นั้น อาจส่งผลทำให้มีการเพิ่มมูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) เป็นต้น รวมถึงชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง ซึ่งถือว่า เป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีการแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

 

 


ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากากชาดไทย , สำนักข่าวอิศรา

 

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง