รีเซต

ทุกประเทศต้องเอาจริงเรื่องแก้ไขปัญหาโลกร้อน ไม่เช่นนั้นอาจถูกฟ้องร้องได้

ทุกประเทศต้องเอาจริงเรื่องแก้ไขปัญหาโลกร้อน ไม่เช่นนั้นอาจถูกฟ้องร้องได้
TNN ช่อง16
24 กรกฎาคม 2568 ( 08:06 )
17

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ในกรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ ระบุว่าประเทศต่างๆ ต้องทำตามคำมั่นสัญญาเรื่องการแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจเปิดช่องทางให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศออกมาฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้ในอนาคต 

คำแนะนำล่าสุดจาก ICJ ซึ่งอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ให้แต่ละประเทศหันมามีความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศให้มากขึ้น ซึ่ง ICJ บอกว่าเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง และเป็นภัยคุกคามที่ไม่มีอาณาเขต เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ แม้ว่าประเทศนั้นจะไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก หากเทียบกับประเทศอื่น แต่กลับต้องรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมหาศาล  

ICJ จึงมองว่าการไม่ดำเนินการอย่างเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ อาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นการทำให้ประเทศอื่นเดือดร้อนตามไปด้วย พร้อมย้ำว่าสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและยั่งยืน ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศและทุกคนบนโลกใบนี้สมควรได้รับ

หากเรามาดูกันว่าประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจากมากที่สุดในโลก ก็จะเห็นว่ามีแต่ประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างจีน อเมริกา อินเดีย รัสเซีย ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยหรือเป็นมหาอำนาจกันทั้งนั้น แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด กลับกลายเป็นประเทศเล็ก ๆ ประเทศยากจน อย่างประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ต้องเจอกับความเสี่ยงเรื่องระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุที่รุนแรงขึ้น หรือประเทศในแอฟริกา หรือเมริกาใต้ที่เสี่ยงเจอกับภาวะแห้งแล้ง หรือประเทศที่อยู่ห่างไกล อยู่ที่สูงอย่างภูฎาน ก็เสี่ยงเจอกับเรื่องน้ำแข็งละลาย ประเทศเหล่านี้ เขาแทบไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเลย แต่กลับต้องกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องโลกร้อนมากที่สุด ที่สำคัญ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ยากจนอยู่แล้ว ดังนั้น ทาง ICJ มองว่าประเทศเหล่านี้ควรจะมีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยจากประเทศใหญ่ ๆ ที่เป็นต้นตอหลักของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้

แม้คำแนะนำของ ICJ จะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายโดยตรง หรือไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษใด ๆ แต่ ICJ ชี้ว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะชาติอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีพันธะทางกฎหมายในการเป็นผู้นำด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ตามสนธิสัญญาและข้อตกลงสภาพอากาศที่มีอยู่ เช่น ข้อตกลงปารีส ซึ่งที่ผ่านมา อาจจะไม่ถูกนำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมากเท่าที่ควร แต่คำแนะนำของ ICJ ก็จะเป็นแรงกดดันที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เอาจริงเรื่องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง