ศึกพลาสติกโลกเดือด เจออิทธิพลธุรกิจฟอสซิล ขวางสนธิสัญญาลดพลาสติก

ในการประชุมภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสนธิสัญญาระดับโลกว่าด้วยการลดมลพิษจากพลาสติก กลับกลายเป็นเวทีที่เต็มไปด้วยแรงกดดันจากอุตสาหกรรมพลาสติกและกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ทรงอิทธิพล จนกระทั่งทำให้กระบวนการเจรจาตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด และเต็มไปด้วยการคุกคามนักวิทยาศาสตร์และผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ
หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ตกเป็นเป้า คือ “ศาสตราจารย์เบธานี คาร์นีย์ อัลมรอธ” นักพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน เธอถูกเจ้าหน้าที่จากบริษัทเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐล้อมและตะโกนใส่ในที่ประชุม โดยกล่าวหาว่าเธอบิดเบือนความจริง อีกทั้งยังถูกตัวแทนจากบริษัทบรรจุภัณฑ์พลาสติกข่มขู่และตะโกนใส่ในงานที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยสหประชาชาติ
ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังเปิดเผยว่าเธอถูกคุกคามหลายครั้งทั้งในงานประชุมวิชาการ อีเวนต์ข้างเคียง รวมถึงทางอีเมล ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยส่วนตัว เช่น การใช้ฟิล์มกันแอบมองหน้าจอโทรศัพท์ เพราะเคยถูกบุคคลจากฝั่งอุตสาหกรรมเดินตามและพยายามสอดส่องข้อมูลหรือบันทึกภาพหน้าจอขณะทำงาน
แหล่งข่าวหลายรายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเผยว่าการประชุมครั้งนี้ถูก “แทรกแซงอย่างเบ็ดเสร็จ” โดยกลุ่มทุนอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีผลประโยชน์จากการผลิตพลาสติกอย่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ “petrostates” ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และอิหร่าน
การเจรจาซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2022 และมีกำหนดจัดรอบต่อไปในเดือนสิงหาคมนี้ที่เจนีวา ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ โดยกว่าหลายร้อยประเทศ และนักวิทยาศาสตร์กว่า 1,100 ราย เรียกร้องให้มีการจำกัดการผลิตพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและผู้ประกอบการกลับผลักดันให้เน้นที่การจัดการขยะและการรีไซเคิลแทน อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การรีไซเคิลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ปัจจุบันมีพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ส่วนที่เหลือกลายเป็นมลพิษต่อดิน น้ำ อากาศ และสุขภาพของมนุษย์
การเจรจาที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีตัวแทนล็อบบี้ยิสต์จากภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมถึง 220 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้แทนจากประเทศเจ้าภาพ และมากกว่านักวิทยาศาสตร์อิสระถึง 3 เท่า โดยบางส่วนได้รับสิทธิเข้าร่วมในฐานะผู้แทนของประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้เข้าถึงห้องประชุมลับเฉพาะสมาชิก นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยังได้รับสิทธิเป็น “ผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาสังคม” เทียบเท่ากับกลุ่มผู้หญิง เยาวชน ชนพื้นเมือง และนักวิทยาศาสตร์ แม้จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน โดยกลุ่มนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 30 องค์กรในปี 2023 เพียงปีเดียว โดยกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดคือ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยบริษัทชั้นนำด้านพลาสติกและเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น Sabic, BP, Dow, Chevron และ Shell และยังมีบทบาทสำคัญในฐานะประธานกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมในการเจรจา
องค์กรสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม (UNEP) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการเจรจา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะผู้อำนวยการบริหาร “อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน” ที่ถูกกล่าวหาว่าขาดวิสัยทัศน์ และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจัดงาน UN หลายรายการในช่วงที่ผ่านมา และบริจาคเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์ให้กับ UNEP แม้ UNEP จะยืนยันว่าตนเป็นเพียงผู้จัดการประชุมและเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แต่หลายฝ่ายมองว่าควรมีนโยบายป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดออกมา
ส่วนเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ SCEPT ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยกว่า 450 คนจากทั่วโลก ไม่มีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมในฐานะกลุ่มที่ปรึกษาให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและการประชุมบางส่วนในรอบล่าสุดได้ และยังระบุว่า ความเห็นกว่า 300 รายการที่ส่งให้ UNEP ต่อรายงานสำคัญเรื่องแนวทางแก้ปัญหาพลาสติกในปี 2023 ไม่ได้รับการพิจารณา อ้างว่าอีเมล “ตกหล่นทางเทคนิค”
อย่างไรก็ตาม อีก 95 ประเทศได้รวมพลังกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน เรียกร้องให้มีสนธิสัญญาพลาสติกที่เข้มแข็ง ระบุว่า “ภูเขาพลาสติกกำลังทำลายระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร และอนาคตของลูกหลานเรา” และบรรยากาศของการเจรจาเต็มไปด้วยความตึงเครียดและอุปสรรค โดยเฉพาะจากกลุ่มทุนและประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ถูกมองว่าเจตนาขัดขวางกระบวนการไม่ให้เดินหน้า
ด้านศาสตราจารย์ คาร์นีย์ อัลมรอธ กล่าวว่า กลุ่มล็อบบี้ยิสต์สามารถเข้าถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง พูดคุยกับรัฐมนตรี และเข้าห้องประชุมที่นักวิทยาศาสตร์ธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะพวกเขามีกำลังทรัพย์มากกว่า เธอสรุปว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวทีเจรจาเรื่องพลาสติกนั้น คล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดกับอุตสาหกรรมยาสูบในอดีต คือ การบิดเบือนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ กดดันผู้วิจัย และสร้างความสับสนในสาธารณชนเพื่อชะลอการออกกฎหมายที่ส่งผลต่อธุรกิจ ถึงแม้เธอจะเผชิญกับการคุกคามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอยังคงยืนหยัดและเชื่อมั่นว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตของโลกได้ หากมีคนกล้าพอจะพูดความจริง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
