รีเซต

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้ายแค่ไหน?

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้ายแค่ไหน?
TeaC
30 กันยายน 2564 ( 11:52 )
267
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้ายแค่ไหน?

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้ายแค่ไหน? หลังมีข่าว "เอกพจน์ วงศ์นาค" อดีตนักร้องชื่อดังเจ้าของเพลงฮิต "ทหารเกณฑ์คนจน" หรือแวดวงการเมืองอาจเคยคุ้นหน้าเขาระยะหนึ่ง ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง วันนี้ TrueID จะพาไปรู้จักโรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกที แถมเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย

 

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) คืออะไร?

 

ข้อมูลจาก อ.พญ.กีรติกานต์ บุญญาวรรณดี หน่วยรังสีรักษา และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายเกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเว็บไซต์ rama.mahidol ว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคที่มีเนื้องอกร้ายชนิดหนึ่งเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองหรือโครงสร้างต่อม ซึ่งระบบน้ำเหลืองก็เป็นระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกัน ประกอบไปด้วย อวัยวะน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม และไขกระดูก ซึ่งภายในอวัยวะเหล่านี้จะเต็มไปด้วยน้ำเหลือง มีหน้าที่นำสารอาหารและเซลล์เม็ดเลือดขาวไปทั่วร่างกาย และเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้เกิดความผิดปกติ จึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นมา

 

ขณะที่ ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย ประธานคณะทำงานการวิจัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย (Thai Lymphoma Study Group) อดีต ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กล่าวภายในงาน “ปาฏิหาริย์-เปลี่ยนมะเร็ง-ให้เป็นสุข : Miracle is all AROUND 2021” เนื่องใน "วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก" จัดโดย ชมรม โรคมะเร็ง ต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ผ่านระบบออนไลน์ Zoom ได้ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จากข้อมูลของชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฯ เผยพบผู้ป่วย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 600,000 รายต่อปี และพบว่า มีผู้ป่วยใหม่ในประเทศไทยที่เป็น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปีละกว่า 7,000 ราย หรือ เทียบเท่า 19 รายต่อวัน มากขึ้นกว่าเท่าตัว

 

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้ายขนาดไหน? 

 

จากข้อมูลตัวเลขที่กล่าวข้าวงต้น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนับเป็น "โรคร้าย" ใกล้ตัว ที่พบบ่อยเป็นอับดับ 1 ของ มะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำในสองปีแรกได้อีกด้วย

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการคาดการณ์เบื้องต้นพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ทั้งปัจจัยทางเคมี 
ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน ปัจจัยทางพันธุกรรม และสาเหตุจากไวรัส การติดเชื้อไวรัส  

 

ดังนั้น การสังเกตตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยหากคลำตามร่างกายแล้วพบก้อนในบริเวณต่าง ๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น โดยก้อนเหล่านี้จะไม่มีอาการเจ็บ แตกต่างจากการติดเชื้อที่จะมีอาการเจ็บที่ก้อนเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น มีเหงื่อออกมากในกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลดเร็ว ฯลฯ ซึ่งอาการนี้มักพบบริเวณต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท ทั้งนี้ ควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจคล้ายโรคอื่น เพื่อป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อคลำเจอก้อน ควรรีบพบแพทย์ ตรวจเช็กอย่างละเอียดหากเป็นโรคดังกล่าวจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

 

วิธีการรักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 

สำหรับวิธีการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาใหม่ ได้แก่ การใช้เคมีบำบัด ยาแอนติบอดีการฉายแสงสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดหรือก้อนมะเร็งที่โตเฉพาะที่ และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งมีผู้ป่วย 60% ตอบสนองกับการรักษามาตรฐาน และอีกกว่า 40% ที่ไม่ตอบสนองกับการรักษา ซึ่งแบ่งเป็น 15% ที่ดื้อต่อการรักษา และ 25% ที่กลับมาเป็นซ้ำภายในระยะเวลา 2 ปี

 

อย่างไรก็ตาม เราทุกคนต้องศึกษาหาความรู้ เพิ่มความเข้าใจ รวมทั้งในการดูแลสุขภาพตัวเอง หมั่นสังเกตร่างกาย รวมถึงการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีโอกาสในการหายจากโรคได้มากขึ้นอีกด้วย

 

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

 


ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง