รีเซต

รู้จักโรค "หินปูนในหู" หรือ โรค"บ้านหมุน" เป็นแล้วรักษาได้ไหม?

รู้จักโรค "หินปูนในหู" หรือ โรค"บ้านหมุน" เป็นแล้วรักษาได้ไหม?
TrueID
30 กันยายน 2564 ( 09:52 )
818
รู้จักโรค "หินปูนในหู" หรือ โรค"บ้านหมุน" เป็นแล้วรักษาได้ไหม?

จากประเด็นข่าว ไบรท์ พิชญทัฬห์ หายป่วยกลับมาเล่าข่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้แล้ว แชร์ประสบการณ์ป่วยโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ทำให้มีอาการบ้านหมุน จะเป็นลม อาเจียน วันนี้ trueID จะพาไปรู้จักกับโรค"หินปูนในหู"ว่าเป็นอย่างไร และว่ามีวิธีการรักษาได้อย่างไร

 

 

รู้จักโรค "หินปูนในหู"

เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะเป็นๆหายๆ โดยมีพยาธิสภาพอยู่ที่หูชั้นใน โดยอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ  โรคนี้พบได้ในคนอายุ 30 – 70 ปี (พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก)  และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 1.5-2 : 1 และมักพบในคนสูงอายุ (อายุ > 60 ปี)  โรคนี้สามารถเกิดในหูทั้งสองข้างได้ประมาณร้อยละ 15 และอาจพบร่วมกับโรคไมเกรนได้ 

 

สาเหตุ

ปกติ ภายในหูชั้นใน ของมนุษย์ มีอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว และการได้ยิน ในอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวมีตะกอนหินปูน ที่เคลื่อนไปมาโดยไม่หลุด เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ  เมื่อมีสาเหตุให้ตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุด [ เช่น จากความเสื่อมตามวัย, อุบัติเหตุโดยเฉพาะการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณศีรษะ, โรคของหูชั้นใน, การผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน, การติดเชื้อ, หลังผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนนานๆ, การเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำๆ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องก้มๆเงยๆ หรือทำความสะอาด หรือเช็ดฝุ่นที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ ]  ไปอยู่ในอวัยวะควบคุมการทรงตัวอีกชนิดหนึ่ง เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ จะทำให้ตะกอนหินปูนดังกล่าว เคลื่อนที่ไปมาใน semicircular canal (canalithiasis) และส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนขึ้นมาได้ 


สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคนี้ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี คือ อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ   สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคนี้ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี คือ ความเสื่อมของอวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นในตามอายุ   อย่างไรก็ตาม ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ไม่ทราบสาเหตุ

 

อาการ

ผู้ป่วย มักมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน  รู้สึกโคลงเคลง หรือเสียการทรงตัว  เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะโดยเฉพาะในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น ล้มตัวลงนอน หรือลุกจากที่นอน ก้มหยิบของ หรือเงยหน้ามองที่สูง ก้มหน้ามองที่ต่ำ เอียงคอ ซึ่งท่าเหล่านี้ แรงดึงดูดของโลกจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนหินปูน   อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนตามมาได้   ผู้ป่วยมักจะมีอาการเวียนศีรษะไม่นาน   มักเป็นวินาที หรือนาที  หลังมีการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะและมักจะมีตากระตุก ทำให้มอง หรืออ่านไม่ชัด ขณะมีอาการ แต่ตามักจะกระตุกอยู่นาน 30 วินาทีถึง 1 นาทีเท่านั้น  และอาการเวียนศีรษะดังกล่าว จะค่อยๆหายไป  แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมอีก ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้อีก แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรกๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะได้หลายครั้ง เป็นๆหายๆใน 1 วัน และอาจมีอาการเวียนอยู่ได้เป็นวันหรือสัปดาห์ แล้วจะค่อยๆดีขึ้นได้ในเวลาเป็นวัน หรือสัปดาห์ หรือเดือน  หลังจากหายแล้วผู้ป่วยบางรายอาจกลับเป็นซ้ำได้อีกในเวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี


ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มักไม่มีอาการหูอื้อ หรือ เสียงดังในหู   ไม่มีแขนขาชา หรืออ่อนแรง หรือ พูดไม่ชัด  ไม่มีอาการหมดสติ หรือเป็นลม  ยกเว้นจะมีโรคอื่นๆร่วมด้วย  บางภาวะ อาจกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นได้ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ เช่น ฝนตก, หิมะตก, มีพายุ, ลมแรง, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, เครียด

 

การรักษา


1. รักษาด้วยยา
ได้แก่ ให้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ เวลาผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงจากท่าที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ  อาจให้ยาก่อนจะทำกายภาพบำบัดในข้อ 2 เพื่อลดอาการเวียนศีรษะที่อาจจะเกิดขึ้นขณะทำกายภาพบำบัด ทำให้ผู้ป่วยทนต่อการทำกายภาพบำบัดได้ดีขึ้น 

 

2.การทำกายภาพบำบัด (physical therapy) เป็นการขยับศีรษะ และคอโดยใช้แรงดึงดูดของโลกเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนออกจากอวัยวะควบคุมการทรงตัว semicircular canal ที่ตะกอนหินปูนเคลื่อนไปรบกวน จนเกิดอาการ ให้เข้าที่เดิมคือ utricle ซึ่งไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ


(canalith repositioning therapy)   การเคลื่อนไหว จะเป็นการเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ และช้าๆของศีรษะ ในแต่ละท่า หลังจากอาการเวียนศีรษะ หรือการเคลื่อนไหวแบบผิดปกติของลูกตา หยุดหรือหายไปแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยคงอยู่ในท่านั้นอีกประมาณ 30 วินาทีได้แก่ วิธีของ Semont และ Epley (canalith repositioning procedure) ซึ่งแนะนำให้ทำขณะผู้ป่วยมีอาการ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเวียนศีรษะได้เร็วกว่าการไม่ทำกายภาพบำบัด  การทำเพียง 1-2 ครั้ง ก็มักจะได้ผล  วิธีดังกล่าวนี้ อาจให้แพทย์ทำให้ หรือผู้ป่วยทำเองก็ได้   นอกจากนั้น แพทย์อาจจะแนะนำการบริหาร และฝึกระบบประสาททรงตัว (vestibular rehabilitation) เพื่อให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้นด้วย


3. การผ่าตัด มักจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยรักษาด้วยยา และทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล คือ ยังมีอาการเวียนศีรษะอยู่ตลอด และรุนแรง  ไม่ดีขึ้น หรือกลับเป็นซ้ำบ่อย  จุดประสงค์ของการผ่าตัดคือ ทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลง หรือหายไป  การผ่าตัดที่นิยมทำคือ canal plugging surgery คือใช้ชิ้นส่วนของกระดูกอุดอวัยวะควบคุมการทรงตัว semicircular canal ซึ่งจะทำให้ semicircular canal ไม่สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนตัวของหินปูนได้

 

 การปฏิบัติตัวบางอย่างในชีวิตประจำวัน อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคนี้กำเริบได้เช่น


 - เวลานอน ควรหนุนหมอนสูง (เช่นใช้หมอนนอน 2 ใบ) หรือใช้เตียงนอนปรับระดับให้ศีรษะสูง  หลีกเลี่ยงการนอนราบ
 - หลีกเลี่ยงการนอนที่เอาหูด้านที่กระตุ้นให้เกิดอาการลง
 - ตอนตื่นนอนตอนเช้า ควรลุกขึ้นจากเตียงนอนช้าๆ และนั่งอยู่ตรงขอบเตียงสัก 1 นาที
 - หลีกเลี่ยงการก้มเก็บสิ่งของ หรือเงยหยิบสิ่งของที่อยู่สูง
 - ระวังเวลาไปทำฟัน และต้องนอนบนเก้าอี้ทำฟัน หรือไปสระผม และต้องนอนบนเตียงสระผม อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนได้
 - ไม่ควรออกกำลังกาย ที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะ หรือลำตัวมาก
 - เวลาหยอดยาหยอดตา พยายามหยอด โดยไม่เงยศีรษะไปข้างหลัง
 - เวลานอน หลีกเลี่ยงการนอนหงาย ในท่าเงยคอ และหันไปทางหูด้านที่จะทำให้เกิดอาการ
 - เวลาจะทำอะไร ควรค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ

 

ข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง