รีเซต

"กาดต้มโป่ง ฮอมสุข" จ.เชียงราย โมเดลการจัดตลาดสีเขียวในท้องถิ่น

"กาดต้มโป่ง ฮอมสุข" จ.เชียงราย โมเดลการจัดตลาดสีเขียวในท้องถิ่น
TNN ช่อง16
29 กันยายน 2566 ( 18:29 )
347


 


“เห็ดหูหนูป่า” เกิดเองตามธรรมชาติ ถูกบรรจงห่อด้วยใบไม้อย่างสวยงาม วางขายห่อละ 10 บาท 


“จิ๊กกุ่ง” ตัวละ 3 บาท ใส่มาในถังพลาสติกสีขาว วางโชว์เรียกลูกค้าที่เดินผ่านไปมา


“ด้วงสาคู” พากันดิ้นดุกดิกในน้ำที่เกือบเต็มกะละมังใหญ่ กับป้ายบอกราคาขีดละ 35 บาท


“หนอนรถด่วน” ในกระบอกไม้ไผ่ กระบอกละ 80 บาท วางปะปนไปกับ“วุ้นไม้ไผ่” ของอร่อย และเป็นอาหารหายากทางภาคเหนือ มีให้กินแค่ปีละครั้ง สนนราคาขายถุงละแค่ 20 บาท 




นอกจากนี้ ยังมีผักพื้นบ้าน ผักสลัดอินทรีย์ เนื้อหมูอินทรีย์ น้ำผึ้งป่า โกโก้ที่ปลูกแบบอินทรีย์  ฯลฯ ก็มาออกร้านในงานวันนัดพบเกษตรกร “กาดต้มโป่ง ฮอมสุข”  ณ น้ำพุร้อนป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย จัดโดยโครงการสร้างระบบอาหารเพื่อสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมผลักดันสู่ภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยขยายผล ภายใต้การสนับสนุนแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)  ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์(สสช.) และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง 


นายณฐกรณ์  ใจรังสี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง ยืนยันถึงการสร้างตำบลสุขภาวะ ประชาชน อยู่ดี มีสุข มีตั้งใจให้เกิดตลาดเขียวแบบนี้ กระจายไปสถานที่ราชการทุกๆ แห่งของตำบลป่าตึง

สำหรับตำบลป่าตึง มีพื้นที่ทั้งหมด 220 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ 70 เปอร์เซนต์เป็นภูเขา ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้มาจากแม่น้ำแม่จัน ที่ไหลลงมาจากประเทศเมียนมาร์  ไหลผ่านทำให้สภาพหน้าดิน และสภาพภูมิอากาศสมบูรณ์มาก  

“พี่น้องประชาชน เดิมเป็นคนล้านนา มีความสามารถในการปลูกผัก รวมถึงผักปลอดสารพิษ ซึ่งวิถีชีวิตของเขาปลูกผักปลอดสารพิษบริโภคอยู่แล้วในครัวเรือน เหลือถึงนำมาจำหน่าย” นายก อบต.ป่าตึง ให้ข้อมูล และโชว์สินค้าเด่นของตำบลป่าตึง คือ ข้าวสายน้ำแร่  พื้นที่ป่าตึงเราผลิตข้าวสายน้ำแร่ เรามีบ่อน้ำพุร้อน โป่งน้ำร้อนน้ำที่พุ่งขึ้นมา สุดท้ายก็ไหลลงสู่พื้นที่ทางการเกษตรแทบทั้งสิ้น ข้าวที่ผลิตจากบ้านป่าตึง จึงเพาะปลูกจากน้ำแร่ 100 เปอร์เซนต์ 


นายก อบต.ป่าตึง มองว่า  การเปิดตลาดกาดต้มโป่ง ฮอมสุข เป็นแค่จุดเริ่มต้น เป็นการจุดประกายให้ชาวบ้านมีเวที มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า “ต่อไปผมจะให้อบต.ป่าตึง เป็นพื้นที่ผลิตผักปลอดสารพิษ และของอ.แม่จัน ของจ.เชียงรายด้วย ร้านค้า โรงเรียน ร้านอาหารสามารถหาซื้อผักปลอดสารพิษได้จากที่นี่ วันนี้ 10 หมู่บ้านโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริม และกำลังขยายออกไปอีก 10 หมู่บ้าน เท่ากับตำบลป่าตึงเราทำเต็มพื้นที่ ปลูกผักปลอดสารพิษ


แต่ปัญหาที่เราพบ ประชาชนในพื้นที่ยังเข้าไม่ถึง ยังไม่สามารถหาซื้อผักปลอดสารพิษมาบริโภคได้  เพราะผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งไปจำหน่ายที่กรุงเทพ อนาคตเมื่อทุกคนปลูกผักทานเองได้ อบต.ป่าตึงจะสนับสนุนเรื่องของการตลาด เราจะทำตลาดเพื่อเติมเต็ม ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวโป่งน้ำร้อน ตำบลป่าตึง จะเป็นจุดศูนย์กลางอาหารปลอดภัย เรามีอาหารของพี่น้องชนเผ่าทั้ง 9 ชนเผ่าจำหน่าย สารพัดอาหารเกิดขึ้นที่นี่ นี่คือเสน่ห์ที่หากินที่ไหนไม่ได้ เมื่อคุณอาบน้ำแร่ได้เรื่องของสุขภาพแล้ว คุณยังหิ้วผลิตภัณฑ์ของพี่น้องเกษตรกร ผักปลอดสารพิษ กลับไปยังบ้าน ส่งต่อสุขภาพดีถึงคนในครอบครัวท่าน”




ขณะที่ นพ.ดร. ไพโรจน์  เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงตลาด กาดต้มโป่ง ฮอมสุข  ถือการเชื่อมโยงให้เห็นตลอดห่วงโซ่อาหาร ระบบการผลิตอาหารของตำบลป่าตึง ยังมีมติของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ อาหารที่มีความหลากหลาย 

“วันนี้ สสส.เน้นตลาดสินค้าในชุมชน เน้นเรื่องตลาดเขียวที่มีผักผลไม้ปลอดสารพิษจำหน่าย และเป็นจุดให้เกษตรกรตัวจริงได้มาพบเจอกับผู้บริโภค แม้ไม่สามารถทำให้เกิดตลาดเขียวได้ทั่วประเทศ อย่างน้อย สสส.ก็ทำให้เกิดตลาดตัวอย่างในพื้นที่ได้แล้ว” 

ส่วน สุพจน์  หลี่จา ผู้จัดการโครงการสร้างระบบอาหารเพื่อสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ จ.เชียงรายฯ  บอกว่า เดิมตลาดเขียว กาดต้มโป่ง ฮอมสุข จัดขึ้นปีละครั้ง แต่ต่อไปนี้จะจัดตลาดเขียว ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ณ น้ำพุร้อนป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคพื้นที่ และนักท่องเที่ยว เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของจังหวัดเชียงรายได้อีกแห่งหนึ่ง


“กาดต้มโป่ง ฮอมสุข ไม่ได้เพียงแค่ตลาด เรายังได้เห็นวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ที่เป็นเกษตรกร ซึ่งมีองค์ความรู้ มีภูมิปัญญาในการจัดการระบเกษตรที่ยั่งยืน มีวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ยิ่งสถานการณ์คุณภาพอากาศ ปัญหาหมอกควัน P.M.2.5 คนพื้นที่เองก็อยากจะเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตร เปลี่ยนพื้นที่ Hot spot ให้กลายเป็นพื้นที่ Healthy spot

ดังนั้นการเปิดตลาดเขียวหรือตลาดอาหารปลอดภัย จึงเป็นตอกย้ำภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่แต่เดิม  เป็นการส่งเสริมให้พี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นเกษตกร ให้เกิดความภาคภูมิใจในการผลิตอาหารเลี้ยงตนเอง และยังช่วยสังคม ทำให้คนในสังคมมีสุขภาพดี”

สุดท้าย วรรณศรี อาสายศ  จากบ้านแม่คำน้อย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งกำลังเดินเลือกซื้อผักคะน้า ผักกาดจากร้านนายเกาซิง แซ่กง เกษตรกรดีเด่น บ้านป่าตึง ที่มาออกร้าน บอกว่า พอรู้ข่าวมีการเปิดตลาดเขียวที่น้ำพุร้อนป่าตึง ก็ชวนเพื่อนมาเดินเที่ยว 


“ปกติจะหาซื้อผักปลอดสารที่ห้างสรรพสินค้า ที่ถนนคนเดิน และตามตลาด แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจ การมาซื้อที่ตลาด กาดต้มโป่ง ฮอมสุข เขายืนยัน เป็นสินค้าออร์แกรนิกจริง ก็สบายใจได้ระดับหนึ่ง อีกทั้ง โดยส่วนตัวชอบทานอาหารพื้นเมืองอยู่แล้ว จึงสนับสนุนให้เกิดตลาดเขียวแบบนี้ใกล้ๆ บ้าน 


“กาดต้มโป่ง ฮอมสุข”  ต้นแบบในการพัฒนาแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ตลาดเขียวในอัตลักษณ์และมิติของชุมชนชาติพันธุ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง