โลกร้อนดันสารหนูในข้าวพุ่ง ห่วงสุขภาพคนเอเชีย

ผลการศึกษาล่าสุดจาก Columbia University’s Mailman School of Public Health เผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ระดับ “สารหนูอนินทรีย์” (inorganic arsenic – iAs) ในข้าวที่ปลูกในพื้นที่น้ำขังหรือ "ข้าวเปลือก" เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชากรในเอเชียอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2050
แม้ข้าวจะเป็นอาหารหลักของคนหลายร้อยล้านคนในเอเชีย แต่ผลกระทบจากโลกร้อนที่มีต่อการสะสมสารหนูในข้าวยังไม่เคยมีการศึกษาร่วมกันในระดับนี้มาก่อน โดยการวิจัยนี้จัดทำร่วมกับ Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health และ Chinese Academy of Sciences และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Planetary Health
“ฝุ่นควันพิษทางอากาศไม่ใช่แค่ภัยเดียว ข้าวที่เรากินก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน”
ดร.ลูอิส ซิสกา (Lewis Ziska) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจาก Columbia กล่าวถึงผลการศึกษาว่า สารหนูที่สะสมในข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเคมีในดินที่เกิดจากโลกร้อน ทำให้สารหนูดูดซึมเข้าสู่เมล็ดข้าวได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งปอด กระเพาะปัสสาวะ และผิวหนัง
นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงกับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ พัฒนาการของสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน และโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ข้าวเป็นอาหารหลัก เช่น จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้
นักวิจัยใช้เทคนิค FACE (Free-Air CO₂ Enrichment) ทดลองปลูกข้าว 28 สายพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่จำลองภาวะโลกร้อนเป็นเวลากว่า 10 ปี และประเมินความเสี่ยงใน 7 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
แบบจำลองระบุว่า ภายในปี 2050 จีนอาจมีผู้ป่วยมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับสารหนูในข้าวมากถึง 13.4 ล้านราย และในแต่ละประเทศ ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ จากข้าวจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
แนวทางรับมือเพื่อปกป้องสุขภาพ
ทีมวิจัยเสนอแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ เช่น
• การปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเพื่อลดการดูดซึมสารหนู
• การจัดการดินในนาข้าวให้ปลอดภัยมากขึ้น
• ปรับวิธีการแปรรูปข้าว
• รวมถึงการให้ความรู้ประชาชน การตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหาร และนโยบายด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นขึ้น
“การศึกษานี้ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการลดการสัมผัสสารหนูในข้าวให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในบริบทที่โลกร้อนขึ้นและความมั่นคงทางอาหารกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก” ดร.ซิสกากล่าวทิ้งท้าย