รีเซต

มีโรคอะไรบ้าง ที่สาเหตุเกิดจาก 'ยุง'

มีโรคอะไรบ้าง ที่สาเหตุเกิดจาก 'ยุง'
TrueID
15 มิถุนายน 2564 ( 14:20 )
363
มีโรคอะไรบ้าง ที่สาเหตุเกิดจาก 'ยุง'

เข้าสู่ฤดูฝนมักจะมีโรคร้ายที่มากับฤดูนี้ เนื่องจากเป็นฤดูที่เจ้ายุงตัวร้ายแพร่พันธุ์ได้หลายพื้นที่จากน้ำท่วมขัง หากเราไม่ดูบริเวณที่เราอยู่อาศัยให้ดีพอ ก็อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตัวร้ายได้ วันนี้ trueID ได้รวบรวมหลากหลายโรคที่มาพร้อมกับยุง จะมีอะไรบ้างไปติดตามกัน

 

 

โรคที่มาพร้อมกับ "ยุง" 

 

1. ไข้เลือดออก  (Dengue fever)

 

พาหะ : ยุงลาย ที่ออกหากินตอนกลางวัน (ปัจจุบันพบยุงลายตอนกลางคืน ช่วงโพล้เพล้อยู่บ้าง)

อาการ : หลังถูกยุงลายกัด 5-8 วัน จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร หรืออาจอาเจียน มีผื่นแดงๆ ตามร่างกาย อาจเลือดออกง่าย ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ และเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ช็อก ชัก บวม แน่นหน้าอก ปวดท้อง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบชนิด NSAIDS

สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสเสียชิวิตจากโรค ไข้เลือดออกเดงกี่ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ร้อยละ 62.5 เสียชีวิตจากภาวะช็อกนาน  และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกมาก  นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 37.5 เกิดจากภาวะน้ำเกิน และอีกร้อยละ 12.5 หรือ 1 ใน 8 ของผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตจากอาการทางระบบประสาทเช่น ชัก สมองบวม ฯลฯ

 

 

2. มาลาเรีย (Malaria)

 

พาหะ : ยุงก้นปล่อง พบได้มากในป่า พื้นที่รกๆ อากาศร้อนชื้น แหล่งน้ำต่างๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป

อาการ : มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน หน้าซีดปากซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เริ่มเข้าสู่ภาวะโลหิตจาง ตัวเหลืองเหมือนดีซ่าน และอาจมีปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีน้ำปลา

 

ภาวะแทรกซ้อน

1. เชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง (Cerebral malaria) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ falciparum  ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท สับสน เพ้อคลั่ง ชักเกร็งกระตุก ระดับความรู้ตัวน้อยลงจนไม่รู้สึกตัว หมดสติ อาจพูดไม่ได้ อัมพาตครึ่งซีก และบางรายอาจเสียชีวิตได้

2. เนื่องจากเชื้อมาเลเรียทำให้เม็ดเลือดแดงแตก จนเกิดภาวะโลหิตจาง และเมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะปล่อยสารเกลือแร่ออกมาด้วย ทำให้สมดุลเกลือแร่ในกระแสเลือดผิดปกติ ที่อันตรายคือสารโพแทสเซียมที่สูงขึ้นจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติได้

3. เชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์ vivax และ ovale มีคุณลักษณะพิเศษคือเมื่อรักษาจนกระทั่งหายจากโรคมาลาเรียแล้ว แม้จะไม่ได้รับเชื้อเข้ามาใหม่ แต่ผู้ป่วยสามารถกลับมามีอาการและตรวจพบเชื้อพลาสโมเดียมได้อีก เพราะเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์นี้สามารถหลบซ่อนอยู่ภายในเซลล์ตับและเจริญเติบโตต่อไป ด้วยเหตุนี้ขณะรับการรักษาจึงตรวจไม่พบเชื้อในกระแสเลือด และเมื่อเวลาผ่านไป เชื้อที่ซ่อนอยู่ที่ตับก็สามารถแพร่สู่กระแสเลือดได้อีก ทำให้มีไข้กลับซ้ำ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าตอนที่ติดเชื้อครั้งแรก

 

 

3. โรคเท้าช้าง

 

พาหะ : เกิดจากหนอนฟิลาเรียอุดทางเดินน้ำเหลือง โดยมียุงลายเสือเป็นพาหะ

อาการ : มีไข้สูงเฉียบพลัน หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยอาจพบได้บริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น ขา ช่องท้องด้านหลัง ท่อน้ำเชื้ออสุจิ หรือเต้านม ผิวหนังบริเวณที่อับเสบจะบวมแดง มีน้ำเหลืองคั่ง คลำเป็นก้อนขรุขระ แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการบวมชัดเจน

 

 

4.ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนย่า)

 

พาหะ : ยุงลาย

อาการ : อาการคล้ายไข้เลือดออกมาก แต่ไม่พบการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการช็อก มีอาการปวดตามข้อโดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือและข้อมือ ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะจึงรักษาไปตามอาการ รวมถึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

 

 

5. ไข้สมองอักเสบ (Japanese Encephalitis)

 

พาหะ : ยุงรำคาญ พบในนาข้าว เพราะเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และมีหมูเป็นรังของโรค โดยยุงรำคาญไปกัดหมูที่เป็นโรค และแพร่เชื้อต่อสู่คน และสัตว์อื่นๆ

อาการ :  หลังรับเชื้อ 5-15 วัน จะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะลดลง ซึม หรือ เพ้อ คลั่ง ชัก หมดสติ หรืออาจมือสั่น เป็นอัมพาต ซึ่งหลังจากอาการของโรคหายไป อาจหลงเหลือความผิดปกติของสมองอยู่บ้าง เช่น พูดไม่ชัด เกร็ง ชัก หรือสติไม่ค่อยปกติ

 

 

6.โรคไข้ซิกา

 

พาหะ : การติดเชื้อซิกาซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสแดง และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเหมือนกันกับไข้เลือดออก ไข้ซิกาจริงๆแล้วไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอะไรหากเกิดขึ้นกับคนปกติ แต่หากเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์จะถือว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากไวรัสอาจจะแพร่จากแม่ไปสู่ลูกได้ผ่านทางรกหรือเลือดที่มีการแลกเปลี่ยนกันและอาจส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมานั้นมีภาวะสมองเล็กและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ได้

อาการ : ผู้ป่วย มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดข้อ ปวดศีรษะ ซึ่งจะคล้ายกับไข้หวัด โดยจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์แล้วหายไป หญิงตั้งครรภ์หากเป็นโรคนี้อาจทำให้เด็กเกิดมามีศีรษะเล็กกว่าปกติ 

 

 

 

ข้อมูล : Rama Channel 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง