รีเซต

รู้จักตำแหน่งกลายพันธุ์ (Spike Protein) ของโควิดที่เสี่ยงทำให้เชื้อรุนแรง ติดง่าย ระบาดเร็ว

รู้จักตำแหน่งกลายพันธุ์ (Spike Protein) ของโควิดที่เสี่ยงทำให้เชื้อรุนแรง ติดง่าย ระบาดเร็ว
Ingonn
22 กรกฎาคม 2564 ( 15:05 )
169

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ เมื่อ หมอนคร ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวขอโทษประชาชนที่นำเข้าวัคซีนล่าช้า เนื่องจากโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ เป็นสถานการณ์ไม่คาดคิด และการกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า ทำให้เป็นที่สงสัยกันว่าทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์จากต่างประเทศ เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่พัฒนาสายพันธุ์ตลอดเวลา คาดเดาไม่ได้จริงหรือ

 

 

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า “ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ทางสถาบันวัคซีนฯ แม้ว่าจะได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ในการระบาดโควิด-19 ที่เราไม่เคยเจอ และ การกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า ทำให้การระบาดรวดเร็วกว่าช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ตรงสถานการณ์ ต้องขอกราบอภัยอีกครั้ง ”

 

 

 

จากที่หมอนครกล่าวมาข้างต้น ทาง TrueID จึงขอพาทุกคนไปรู้จักการกลายพันธุ์ของโควิด-19 อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร การกลายพันธุ์จุดไหนที่น่ากลัวและต้องเฝ้าระวังบ้าง

 

 

 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

 

สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยรอบแรกเป็นเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อุ่ฮั่น การระบาดระลอก 2 เป็นสายพันธุ์จีเอช และการระบาดระลอก 3 เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)ขณะนี้มีแนวโน้มพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสแพร่กระจายได้มากขึ้นจนแทนที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ในอนาคต เพราะการติดต่อของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) นั้นง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นคลัสเตอร์ ซึ่งพร้อมที่จะแพร่กระจายเชื้อได้ตลอดเวลา

 

 

สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่มีการพูดถึงในขณะนี้ถึงแม้จะมีความสามารถทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ความสามารถในการแพร่กระจายช้ากว่าสายพันธุ์เดลตา

 

 

สิ่งที่สำคัญคือสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนเริ่มลดลง การติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสจึงสำคัญ โดยทั่วโลกเริ่มมีการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสและพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง 

 

 

การให้วัคซีนในคนหมู่มากอย่างรวดเร็ว เป็นวิธีหนึ่งในการสกัดสายพันธุ์กลายพันธุ์ไม่ให้มีการแพร่ระบาด ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นถึงแม้ว่าจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังมีส่วนช่วยสกัดไม่ให้สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดได้

 

 


ทำไมโควิดต้องกลายพันธุ์และติดง่าย


เนื่องจากเชื้อโควิด-19 รู้จักพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เพื่อความอยู่รอด จึงมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยปุ่มหนามโปรตีนของไวรัส (Spike Protein) จะยึดเกาะเซลล์ในร่างกายเราไว้ ส่งผลให้ไวรัสกลายพันธุ์สามารถแพร่ระบาดหรือติดต่อกันได้ง่ายขึ้นและแอนติบอดีในตัวเราที่วัคซีนช่วยสร้าง ก็อาจไม่รู้จักไวรัสกลายพันธุ์ จึงต้องมีการจัดทำวัคซีนรุ่น 2 ปรับปรุงให้ต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของโควิดได้

 

 

ปุ่มหนามของเชื้อโควิด (Spike Protein) สายพันธุ์ใหม่ที่เปรียบเหมือนลูกกุญแจจะมีรูปทรงที่เสียบได้พอดีกับตัวรับบนผิวเซลล์มนุษย์ (Receptor) ซึ่งเปรียบเหมือนแม่กุญแจ โควิดสายพันธุ์ใหม่จึงสามารถเกาะและเข้าสู่เซลล์ร่างกาย และไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของเราอย่างง่ายดาย

 

 

 

ตำแหน่งกลายพันธุ์บริเวณ Spike Protein ที่อันตราย

 

ตำแหน่ง E484Q 


หากตำแหน่ง 484 ตัว E ถูกแทนที่ด้วยตัว Q การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้่ภูมิคุ้มกันจำตัวเชื้อไวรัสไม่ได้ หรือเรียกว่า หลบภูมิคุ้มกัน ทำให้กังวลว่าวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้จะป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ไม่ได้เป็นตำแหน่งเดียวกับ B.1.617 หรือสายพันธุ์อินเดีย

 

 

ตำแหน่ง L452R 


หากตำแหน่ง 452 ตัว L ถูกแทนที่ด้วยตัว R การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้การติดต่อมากขึ้นกว่าเดิม เป็นตำแหน่งเดียวกับ B.1.617 หรือสายพันธุ์อินเดีย

 

 

ตำแหน่ง P681R 


หากตำแหน่ง 681 ตัว P ถูกแทนที่ด้วยตัว R การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เชื้อไวรัสเข้าเซลล์ได้ง่ายขึ้น เป็นตำแหน่งเดียวกับ B.1.617 หรือสายพันธุ์อินเดีย

 

 

ตำแหน่ง K417N


เมื่อมีกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ จะทำให้เชื้อไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ได้แน่นขึ้น โดยในบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวลนั้น มีสายพันธุ์ B.1.351 (แอฟริกาใต้) ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้

 


ตำแหน่ง K417T


เป็นการกลายพันธุ์นี้จะทำให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ได้แน่นขึ้น การกลายพันธุ์นี้พบในสายพันธุ์ P.1 (บราซิล) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับ K417N ในสายพันธุ์ B.1.351 (แอฟริกาใต้)

 

 

ตำแหน่ง P681H


หากตำแหน่งกลายพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อสร้างโปรตีนหนามใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพบในสายพันธุ์ B.1.1.7 (อังกฤษ) 

 

 

ตำแหน่ง N501Y


การกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ ทำให้เชื้อไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์แน่นขึ้น และเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายขึ้น โดยการกลายพันธุ์ตำแหน่งนี้พบได้ในหลายสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ B.1.1.7 (อังกฤษ), B.1.351 (แอฟริกาใต้) และ P.1 (บราซิล)

 

 

 

สรุปเกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC)


1.ปัจจุบันเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) มี 4 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สายพันธุ์เบต้า (แอฟฟริกาใต้) และสายพันธุ์แกมมา (บราซิล)

 


2.เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อง่ายขึ้น และการกลายพันธุ์แต่ละชนิดสามารถลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง โดยลดลงมากน้อยต่างกันขึ้นกับวัคซีนแต่ละชนิดที่จะตอบสนองกับชนิดของสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์

 


3.สายพันธุ์ของไวรัส SAR-COV-2 นั้นมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง มีความจำเป็นต้องติดตามประเภทของเชื้อที่กลายพันธุ์ว่าเป็นสายพันธุ์ใด เพื่อที่จะเลือกวัคซีนที่เหมาะสมกับสายพันธุ์นั้นๆ

 


4.โควิด-19 เป็นโรคที่มีความแน่นอนสูง การคาดการณ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก การคาดการณ์ผิดจึงเป็นเรื่องที่น่าให้อภัยถ้าคาดการณ์ผิดแล้วมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

 

 

จะเห็นได้ว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ทำให้เชื้อเกาะติดกับเซลล์ในร่างกายมากขึ้น ทำให้ติดง่าย แพร่ระบาดเร็ว และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ ปฏิบัติตัวตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข และป้องกันตัวเองด้วยการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

 

 


ข้อมูลจาก สำนักงานโครงการขับเคลื่อนกรมอนามัย 4.0 เพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน  , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย , thematter , BBC

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง