รีเซต

รู้จัก “แลมบ์ด้า” สายพันธุ์โควิดใหม่ ก่อนระบาดเข้าไทยอีก

รู้จัก “แลมบ์ด้า” สายพันธุ์โควิดใหม่ ก่อนระบาดเข้าไทยอีก
Ingonn
8 กรกฎาคม 2564 ( 13:03 )
336
รู้จัก “แลมบ์ด้า” สายพันธุ์โควิดใหม่ ก่อนระบาดเข้าไทยอีก

 

อีกหนึ่งสายพันธุ์โควิดที่ต้องจับตามากขึ้นนั่นก็คือ “สายพันธุ์แลมบ์ด้า” ที่ระบาดครั้งแรกในเปรู ก่อนจะระบาดกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ภายในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO เฝ้าจับตาสายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ 

 

 


วันนี้ TrueID จึงจะพามารู้จักสายพันธุ์ “แลมบ์ด้า” สายพันธุ์โควิดใหม่ที่ต้องจับตา แม้จะระบาดไปกว่า 30 ประเทศ แต่หากเข้าใกล้ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาจนำมาสู่การระบาดเพิ่มอีกได้

 

 


สายพันธุ์แลมบ์ดา


สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) หรือ C.37 ชื่อของเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ต้องระวัง จัดอยู่ใน สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (variant of interest) ลำดับที่ 7 ซึ่งเบื้องต้นมองว่ายังเป็นภัยคุกคามที่น้อยกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) สายพันธุ์นี้มีความน่ากังวลมากกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่น เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่ผิดปกติและแพร่ระบาดในหลายประเทศ พบการรายงานครั้งแรกที่ประเทศเปรู และมีข้อมูลว่าสายพันธุ์แลมบ์ดานี้อาจดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และยังแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อัลฟาและแกมมา

 


โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว มาจากการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม รวมถึงตำแหน่ง G75V, T76I, del247/253, L452Q, F490S, D614G และ T859N ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม ตำแหน่ง del247/253 เป็นตำแหน่งที่น่ากลัว ส่วนตำแหน่ง L452Q ไม่เคยเจอมาก่อนและ F490S เป็นตำแหน่งที่น่าสนใจ

 

 


ติดเชื้อได้รวดเร็วและรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้าหรือไม่


การศึกษาวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิลี ในกรุงซานติอาโก เพื่อตรวจสอบผลกระทบของแลมบ์ดา ที่มีต่อคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม พบว่า สายพันธุ์แลบ์ดาสามารถติดเชื้อได้รวดเร็วและรุนแรง กว่าสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์แกมมา สามารถหลบหลีกสารภูมิต้านทาน ที่ผลิตโดยวัคซีนโควิด-19 ได้ดีกว่า

 

 

ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาเพิ่มเติม เพราะตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไวรัส แลมบ์ดา มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายรูปแบบ ทำให้มันแพร่เชื้อได้ง่าย และมีฤทธิ์ต้านทานโปรตีนต่อต้านเชื้อโรคในร่างกายมนุษย์ 

 

 


สถานการณ์การระบาดของแลมบ์ดาในต่างประเทศ


พบครั้งแรกในประเทศเปรู ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2563 และมีรายงานว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้มีการแพร่ระบาดเร็วมาก ทำให้เปรูมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบอัตราประชากร ซึ่งตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า ประมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อ มีอัตราการเสียชีวิตสูง คิดเป็น 600 คนต่อประชากร 1 แสนคน ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 พบการระบาดกระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกา และตรวจพบในอีก 29 ประเทศ 

 


ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศชิลีพบสายพันธุ์แลมบ์ดา ในอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เช่นเดียวกับเอกวาดอร์และอาร์เจนตินา ที่กำลังมีการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์นี้

 

 

ส่วนประเทศออสเตรเลียประกาศแล้วว่า พบเชื้อแลมบ์ดาในประเทศแล้ว โดยไปนักเดินทางต่างชาติติดเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ หลังกักตัวอยู่ภายในโรงแรมในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในเดือนเมษายน ในเบื้องต้นยังมีข่าวดี ว่า ทางการยังไม่พบว่าเชื้อตัวนี้แพร่กระจายในหมู่ชุมชนในออสเตรเลีย

 

 

แต่ใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดากว่า 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว นักวิทยาศาสตร์แสดงความวิตกว่า ไวรัสแลมบ์ดามีความร้ายแรงในการติดเชื้อ มากกว่าไวรัสเดลต้า หรือไวรัสสายพันธุ์อินเดีย และมีภูมิต้านทานวัคซีนมากกว่าไวรัสชนิดอื่นๆ รวมถึงไวรัสแกมม่า และไวรัสอัลฟ่า

 

 

 

ประเทศที่แลมบ์ดาระบาดแล้ว


ชิลี สหรัฐอเมริกา เปรู เยอรมนี เม็กซิโก อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ สเปน อิสราเอล กัมพูชา ฝรั่งเศส อิตาลี เซนต์คิตส์และเนวิส สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ สหราชอาณาจักร บราซิล แคนาดา โปแลนด์ อารูบา ออสเตรเลีย คูราเซา สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ตุรกี อุรุกวัย ซิมบับเว

 

 


นักวิจัยไทยชี้ ยังไม่น่ากังวลเท่าสายพันธุ์เดลต้า


ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค จากสวทช. ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีข้อมูลใดที่บ่งชี้ว่าโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา หรือ C.37 ซึ่ง พบครั้งแรกในเปรูเมื่อปีที่แล้ว แพร่กระจายได้เร็วกว่า หรือ รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า และไม่มีอะไรน่ากังวลเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะเรื่องการหลบหนีภูมิจากวัคซีน โดยงานวิจัยล่าสุดของเปรู หรือ ทีมวิจัยจากสหรัฐฯพบว่าโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาหนีภูมิจากวัคซีนได้น้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา อาจเร็วเกินไปที่จะบอกว่า "แลมบ์ดา" มีความร้ายแรงกว่าสายพันธุ์อื่น หรือสามารถต้านทานวัคซีนหรือวิธีการรักษาต่างๆ และการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่า ไม่ได้หมายความว่าตัวกลายพันธุ์นั้น จะมีความอันตรายร้ายแรงกว่าตัวดั้งเดิม

 

 


การจัดกลุ่ม "ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวล" เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุข เช่น สามารถทำให้เชื้อโรคโควิดติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือทำให้เชื้อต้านทานวัคซีนได้

 

 

 

วงจรระบาดจะเปลี่ยนจากเชื้อกลายพันธุ์แบบเก่าไปใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนว่าจะไปถึง 70% ของประชากรโลก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วแค่ไหน แต่อุปสรรคคือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำที่มีวัคซีนไม่พอ 

 

 

 

ดังนั้น แผนระยะยาวจะต้องดูที่การบริหารจัดการป้องกันตามพรมแดนประเทศ ที่พบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ และพิจารณาว่า มาตรการตรวจเข้มคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จะสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุขทุกประเทศทั่วโลกได้หรือไม่

 

 

 


ข้อมูลจาก TNN , TNN World , posttoday

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง