รีเซต

เจาะลึก! "โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ - สายพันธุ์เบต้า" สรุปไทม์ไลน์เข้าไทยได้อย่างไร

เจาะลึก! "โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ - สายพันธุ์เบต้า" สรุปไทม์ไลน์เข้าไทยได้อย่างไร
Ingonn
21 มิถุนายน 2564 ( 15:52 )
368
เจาะลึก! "โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ - สายพันธุ์เบต้า" สรุปไทม์ไลน์เข้าไทยได้อย่างไร

 

พูดได้เลยว่า ประเทศไทยกำลังเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์โควิด-19 แทบจะทุกสายพันธุ์แล้ว ทั้งสายพันธุ์อู่ฮั่นในการระบาดครั้งแรกทั่วโลก สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดียและล่าสุดสายพันธุ์แอฟริกาที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างนิยามให้สายพันธุ์นี้น่ากลัวที่สุดกว่าทุกๆสายพันธุ์ที่เคยมีในไทย เพราะสายพันธุ์ลดประสิทธิวัคซีนโควิด-19 ได้

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมาไล่เรียงสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่เข้ามาในไทยแล้ว แม้ทางกระทรวงสาธารณสุข จ.นราธิวาส ยืนยันว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้หายป่วยแล้ว พร้อมเจาะไทม์ไลน์การติดเชื้อกลายพันธุ์นี้ว่าเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร

 

 

 

สถานการณ์โควิดกลายพันธุ์ในไทย (21 มิ.ย. 64)

 

ในประเทศไทยตอนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ส่วนสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เป็นอันดับรองลงมา แต่พบในแคมป์คนงานเพิ่มขึ้นทั้งแถวนนทบุรี ส่วนภาคใต้เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งจำนวนหนึ่งเจอนอกจังหวัดนราธิวาส โดยเป็นจังหวัดในภาคใต้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนตัวเลขต่างๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไม่ได้ปกปิด ขณะที่สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) นั้น ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่ความสามารถในการแพร่โรคไม่เร็วเท่าอังกฤษและอินเดีย

 

 


รู้จักโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้

 

โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 หรือ 20H/501Y.V2 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่ไม่ได้แปลว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อเกิดการป้องกันระดับประชากร โดยสายพันธุ์ B.1.351 ที่ระบาดอยู่ในแอฟริกาใต้ สามารถหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และอาจมีผลต่อการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยสายพันธุ์ดั้งเดิม 

 

 

พบครั้งแรกในอ่าวเนลสันแมนเดลา เขตปริมณฑลของจังหวัดอีสเทิร์นเคปของแอฟริกาใต้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ถูกรายงานโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จากการวิเคราะห์ รหัสพันธุกรรมชี้ให้เห็นว่าไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณอ่าว Nelson Mandela แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2563

 

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นเป็นสายพันธุ์ เจ้าพ่อเบอร์ 1 ส่วนสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในไทยตอนนี้นับว่าเด็กอนุบาล เพราะสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นมีความสามารถในการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรง และผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าสายพันธุ์ดังกล่าวดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด

 

 

ขณะที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการตรวจพบผู้ติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในอ.ตากใบ จ.นราธิวาสว่า ทางสาธารณสุขมีข้อมูลการตอบสนองของวัคซีนในสายพันธุ์นี้อาจไม่ดีเท่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่วัคซีนทุกชนิดยังมีความสามารถลดเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ ยังมีประโยชน์ในการให้วัคซีนกรณีนี้อยู่ ส่วนความสามารถการกระจายของโรคใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่พบในบ้านเราทั้งอังกฤษ อินเดีย ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปกติ อย่างผู้ที่ติดเชื้อกลุ่มก้อนนี้ 80 กว่าคนอาการไม่รุนแรง

 

 

 

โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้เข้าไทยมาได้อย่างไร


สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่เกิดขึ้นใน จ.นราธิวาส มีลักษณะใกล้เคียงกับที่พบในมาเลเซีย รวมกับประวัติที่สอดคล้องว่าผู้ป่วยคนแรกมีประวัติสัมผัสญาติที่ลักลอบมาจากมาเลเซีย น่าจะเชื่อได้ว่ามีการติดมาจากมาเลเซีย แต่ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบสายพันธุ์นี้เข้าไทยอย่างไรบ้าง

 

 

 

วันที่ 14 ก.พ. 64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าชายไทย อายุ 41 ปี ติดเชื้อ เดินทางกลับมาจากแอฟริกา ตรวจพบเชื้อโควิด สายพันธุ์แอฟริกาใต้หลังทำการรับซื้อพลอยในแทนซาเนียนาน 2 เดือนระหว่างที่อยู่ในแทนซาเนียได้ก็เข้าร่วมงานเลี้ยงโดยมีผู้เข้าร่วมงานไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย โดยผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็น หืดความดันโลหิตสูง แต่สายพันธุ์นี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทย จากยังคงเป็นการตรวจพบจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและเข้าสู่สถานการณ์ของรัฐ 

 

 

วันที่ 16 ก.พ. 64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ตรวจพบรายแรกเป็นพ่อค้าพลอยชายไทย พบว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรงที่ด้านขวาล่าง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง ปริมาณไวรัสแทบไม่ลดลงเลยหลังรับยาฟาวิพิราเวียร์ ภูมิคุ้มกันก็ขึ้นช้ามาก ต้องรักษาแบบประคับประคอง และต้องเปลี่ยนมาให้ยาเรมดิซีเวีย แต่รักษาดีขึ้นแล้ว และยังตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้เพิ่มอีก 2 ราย ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเช่นกัน อยู่ระหว่างการรายงานเข้าในระบบ รวมแล้วพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้ว 3 ราย ดังนั้น ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้สายพันธุ์นี้กระจายในประเทศไทยได้ 

 

 

แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกาหายแล้ว เวลานั้นจึงยังไม่มีสายพันธุ์นี้ ระบาดกันเองในประเทศไทย

 

 

วันที่ 2 พ.ค. 64 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งขณะนี้ คือการระบาดของ covid 19 ในมาเลเซีย จะพบว่ามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ใน 5 สายพันธุ์นี้สายพันธุ์ที่ถือว่าจะต้องระวังการแพร่ระบาดอย่างมากคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่อยู่ในมาเลเซีย เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ไม่ควรให้สายพันธุ์นี้มาระบาดในประเทศไทยได้

 

 

วันที่ 12 พ.ค. 64 จากกรณีคลัสเตอร์ใหม่ที่จังหวัดจันทบุรี ในกลุ่มชาวแอฟริกัน ที่ทำธุรกิจค้าขายพลอย ซึ่งถือเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อกลุ่มใหญ่ โดยระบุว่าส่วนใหญ่เป็นชาวกินี ถึง 90 % ชาวไทย 7% แอฟริกา 2% มาลี 1 % จากการตรวจหาเชื้อ 992 ราย พบติดเชื้อ 137 ราย โดยสายพันธุ์โควิดที่ตรวจพบนั้นไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกาใต้

 


วันที่ 22 พ.ค. 64 กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ซึ่งประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ที่สังกัดสถาบันในไทยและต่างประเทศ ที่ได้รับการประสานจากกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนคลัสเตอร์ ที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทยจากผู้ลักลอบเข้าเมือง ล่าสุดได้รายงานผลการตรวจสอบพบว่า เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้

 


วันที่ 22 พ.ค. 64 เพจเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ได้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ขอเรียนว่า ณ ปัจจุบัน ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ได้หายป่วยทั้งหมด ไม่มีติดเชื้อเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งนี้เรือนจำยังคงถือปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังครั้งก่อนซ้ำอีก จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

 

 

 

วันที่ 23 พ.ค.64 เวลา 09.00 น. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยจากกรณีที่มีสื่อมวลชนหนึ่งเผยแพร่ข้อมูลผ่านออนไลน์ว่า “มีการพบโควิด สายพันธุ์แอฟริกา เกิดขึ้นเป็นคลัสเตอร์ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส” นั้น กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากในปัจจุบัน เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียว ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เคยติดเชื้อได้รับการรักษาจนหายหมดทุกรายแล้วและไม่ปรากฏยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม
วันที่ 23 พ.ค.64 เวลา 11.43 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในผู้ป่วย COVID- cluster อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พบเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา จำนวน 3 ราย โรงพยาบาลตากใบได้ทำการตรวจภูมิคุ้มกัน ขณะนี้ผู้ป่วยจำหน่าย กลับบ้านแล้วทั้ง 3 ราย

 


วันที่ 23 พ.ค.64 เวลา 13:12 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการตรวจพบผู้ติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในอ.ตากใบ จ.นราธิวาสว่า กรมควบคุมโรครับแจ้งพบผู้ติดแอฟริกาใต้ 3 ราย ในอ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยเป็นการระบาดในกลุ่มผู้ติดเชื้อ 83 ราย พบการระบาดจากชายไทย อายุ 32 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว ทั้งนี้ ใน 83 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และรักษาหายแล้ว 16 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 67 ราย และพบว่า มี 3 ราย เป็นเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนี้รักษาหายแล้ว

 

 

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 11:52 น. จากกรณีคลัสเตอร์ "ศูนย์มัรกัสยะลา" ที่ตรวจพบเป็น "โควิดสายพันธุ์เบต้า" หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ขณะที่ กลุ่มผู้ติดเชื้อได้กระจายไปแล้ว 12 จังหวัดภาคใต้ ล่าสุด วันนี้ (21 มิ.ย.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เบต้าในพื้นที่ภาคใต้ ได้ลุกลามออกนอก จ.นราธิวาส แล้ว แต่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่ลุกลามไปยังภาคอื่น

 

 


วัคซีนป้องกันโควิดสายพันธุ์แอฟริกาได้ 


บริษัทโมเดอร์นา อิงค์ประกาศว่า วัคซีนของบริษัทสำหรับฉีดกระตุ้น (booster shot) เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 นั้น สามารถเสริมสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 และ P.1 ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้และบราซิลตามลำดับ โดยข้อมูลขั้นต้นดังกล่าวได้จากการทดลองทางคลินิกที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ 

 


โมเดอร์นายังระบุว่า การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนตัวใหม่ของบริษัทซึ่งเรียกว่า mRNA-1273.351 ยังสามารถเสริมสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อฉีดเพิ่มเติมนอกเหนือจากวัคซีนตัวปัจจุบันของบริษัท

 

 

ส่วนศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ยังใช้ได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการว่า มีการตอบสนองแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร จุดสังเกตของเชื้อตัวนี้คือ ติดได้ง่ายขึ้น และอาจจะรุนแรงมากขึ้นด้วย ขอติดตามดูอีกระยะหนึ่ง

 

 

ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Manop Pithukpakorn” ระบุว่าวัคซีนที่ได้ผลกับสายพันธุ์นี้มีแค่ไฟเซอร์ (Pfizer) (และอาจรวมถึง Moderna ด้วย) ที่ 75%, J&J ที่ 64-66% และ Novavax ที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV) ส่วน AstraZeneca เหลือแค่ 10.4% สำหรับ Sinovac ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้วคาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน

 

 

 

 


ข้อมูลจาก TNN , Manop Pithukpakorn , นพ.ยง ภู่วรววรรณ , ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา , Center for Medical Genomics

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง