กรมวิทย์ฯ ยัน "โควิดสายพันธุ์เบต้า" ระบาดออกนอก "นราธิวาส" แล้ว
จากกรณีคลัสเตอร์ "ศูนย์มัรกัสยะลา" ที่ตรวจพบเป็น "โควิดสายพันธุ์เบต้า" หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ขณะที่ กลุ่มผู้ติดเชื้อได้กระจายไปแล้ว 12 จังหวัดภาคใต้ ล่าสุด วันนี้ (21 มิ.ย.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เบต้าในพื้นที่ภาคใต้ ได้ลุกลามออกนอก จ.นราธิวาส แล้ว แต่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่ลุกลามไปยังภาคอื่น ส่วนจะแพร่ไปกี่จังหวัด อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เบต้า การแพร่ระบาดไม่เร็วเท่าสายพันธุ์เดลต้า กับอัลฟ่า ซึ่งตามหลักแล้วนั้น หากพบเจอเชื้อกลายพันธุ์จะแจ้งให้ในพื้นที่ทำการควบคุมเพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปเพิ่มไปวงที่ 2 และ วงที่ 3
ทั้งนี้ สายพันธุ์เบต้า มีที่มาจากประทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการฝ้าระวังในพื้นที่ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างแห่งเดียว และได้รายงานให้ฝ่ายความมั่นคงช่วยในการเฝ้าระวังกลุ่มลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน
ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 7 เม.ย. -13 มิ.ย.2564 จำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษ 4,528 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.6 สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย 496 ราย พบใน 20 จังหวัด และพบมากที่สุดอยู่ใน กทม. ส่วนสายพันธุ์เบต้า หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ 31 ราย อยู่ใน จ.นราธิวาส 28 ราย และในสถานกักกันตัวของรัฐ จ.สมุทรปราการ 3 ราย
สำหรับ "สายพันธุ์อัลฟ่า" หรือสายพันธุ์อังกฤษ พบว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้
ส่วน "สายพันธุ์เดลต้า" หรือสายพันธุ์อนเดีย พบว่า มีการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าแต่อย่างใด วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้
ขณะที่ "สายพันธุ์เบต้า" หรือสายพันธุ์ แอฟริกาใต้ พบว่า มีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งวัคซีนที่ไทยมี "แอสตร้าเซนเนก้า" มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการร้อยละ 10.4 แต่ไม่สามารถประเมินการป้องกันอาการรุนแรงได้ ส่วนวัคซีน "ซิโนแวค" มีผลการศึกษาในห้องทดลองว่า น้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความสามารถในการยับยั้งสายพันธุ์เบต้าลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม