รีเซต

MIT พัฒนาเครื่องกลั่นน้ำทะเลแบบพกพาน้ำหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดใช้ดื่มได้

MIT พัฒนาเครื่องกลั่นน้ำทะเลแบบพกพาน้ำหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดใช้ดื่มได้
TNN ช่อง16
4 มิถุนายน 2565 ( 17:55 )
192

ผลงานวิจัยชิ้นสำคัญที่อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต เครื่องกลั่นน้ำทะเลแบบพกพามีน้ำหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ น้ำดื่มที่ผลิตจากเครื่องกลั่นน้ำทะเลขนาดพกพานี้มีความสะอาดสามารถดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก


ก่อนหน้านี้เครื่องกลั่นน้ำทะเลมักใช้วิธีการกรองด้วยไส้กรองที่มีความละเอียดสูงสามารถแยกเกลือออกจากน้ำ แต่เครื่องกลั่นน้ำทะเลที่นักวิจัยจาก MIT พัฒนาขึ้นใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ขจัดอนุภาคเกลือออกจากน้ำทะเลเรียกว่ากระบวนการโพลาไรเซชันความเข้มข้นของไอออน (ICP)


กระบวนการดังกล่าวใช้สนามไฟฟ้ากับเมมเบรนที่วางอยู่เหนือและใต้ช่องที่น้ำไหลผ่นา เมมเบรนจะขับไล่อนุภาคที่มีประจุบวกหรือลบ รวมทั้งโมเลกุลของเกลือ แบคทีเรีย และไวรัส อย่างไรก็ตามยังคงมีเกลือบางส่วนเหลืออยู่ในน้ำ นักวิจัยใช้วิธีการที่เรียกว่า อิเล็กโตรไดอะไลซิส (Electrodialysis) เพื่อขจัดไอออนของเกลือที่เหลืออยู่ทั้งหมดในน้ำทำให้สามารถผลิตน้ำสะอาดพร้อมดื่มโดยไม่จำเป็นต้องใช้ไส้กรองเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาการเปลี่ยนไส้กรองแบบเดิมที่มีความยุ่งยากซับซ้อน


การวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ออนไลน์ในเว็บไซต์งานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ผลงานของนักวิจัย จงยุน ฮัน (Junghyo Yoon) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และสมาชิกของห้องปฏิบัติการวิจัยอิเล็กทรอนิกส์ (RLE) ที่เปิดเผยว่างานวิจัยเครื่องกลั่นน้ำทะเลแบบพกพาใช้เวลาในการพัฒนานานกว่า 10 ปี ใช้องค์ความรู้ในด้านของฟิสิกส์และไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยคนอื่น ๆ เช่น ฮยอกจิน เจ คโว (Hyukjin J. Kwon) และซุงกู กัน (SungKu Kan) จากมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern University) รวมไปถึงอีริค แบรค (Eric Brack) จากหน่วยบัญชาการพัฒนาความสามารถในการต่อสู้ของกองทัพสหรัฐฯ (DEVCOM)


เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกกว่า 785 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาด ในขณะเดียวกันพื้นผิวโลกกว่า 70% เป็นผืนน้ำขนาดใหญ่ นักวิจัยหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการผลิตน้ำสะอาดเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การเกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ ภาวะแห้งแล้งผิดปกติและการเกิดสงคราม ซึ่งกรณีฉุกเฉินทั้งหมดประชาชนยากต่อการเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดเพียงพอสำหรับการดื่ม



ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ news.mit.edu 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง