ทำไม? 'ความเครียด' กำลังทำร้ายเรา ถอดบทเรียน ฆ่ายกครัว-ยิงยกครัว รับมือได้ ต้องช่วยกัน!
สะเทือนขวัญ วินจักรยานยนต์ คลั่ง ฆ่ายกครัว 4 ศพ ย่านแจ้งวัฒนะ ก่อนยิงตัวเองเป็นศพที่ 5 หรือ สลด! ฆ่ายกครัว ภายในคอนโดย่านแจ้งวัฒนะ หลายสำนักข่าวพาดหัวข่าวร้อนแรงของวันที่ 8 เดือนสิงหาคม 2566 สร้างความสลดใจอย่างมาก
ฆ่ายกครัว
ข่าวร้อนชวนเศร้าและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้มีให้เห็นบ่อย ๆ โดยปัจจัยทางสังคมที่พบในคนที่ ฆ่าตัวตาย หรือเกิดเหตุ ฆ่ายกครัว เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องปากท้อง วิกฤตโควิด ต้องตกงาน รายได้หด ผู้คนต้องดิ้นรน แข่งขัน ส่งผลให้เกิดความเครียด นำไปสู่ ฆ่าตัวตาย ฆ่ายกครัว ยิงยกครัว ในสังคมเพิ่มมากขึ้นในที่สุด
ถอดบทเรียนชนวนเหตุ ฆ่าตัวตาย-ยิงยกครัว-ฆ่ายกครัว
หากย้อนกลับไปหลายคนต้องจำข่าวเมื่อ ปี 2564 กันได้บ้าง เมื่อ สมรักษ์ คำสิงห์ ช็อก! โศกนาฏกรรม 4 ศพ ส.จ.ดำ หรือนายธวัชชัย ทองอ่อน ยิงเมียและลูกดับยกครัว คาดปมหนี้สิน
เมื่อถอดบทเรียนจากคดี สจ.ดำ ยิงฆ่ายกครัว มาจากปมหนี้สิน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้น ทางออก "ฆ่าตัวตาย" ไปสู่ "ฆ่ายกครัว" หนีหนี้จึงมีให้เห็นในสังคมไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์บีบีซีไทยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย (จีดีพี) ปรับสูงขึ้น จากร้อยละ 53.5 เมื่อต้นปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 78.7 ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ภาระหนี้ที่สะสมมากขึ้นทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้จำนวนมากไปผ่อนชำระหนี้ ทำให้มีเงินเหลือเพื่อยังชีพลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่รายได้เติบโตไม่ทันกับการก่อหนี้
ขาด ทักษะความรู้ทางการเงิน
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงของปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้น มีผลจากพฤติกรรมของครัวเรือนอาจเป็นไปได้ที่ขาด "ทักษะความรู้ทางการเงิน" พ่วงด้วยค่านิยมมองความสุขแค่ปัจจุบันที่ไม่คำนึงถึงอนาคต เช่น ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน หรือ 1 ปี เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด ภาพที่เห็นคนไทยรายได้ลดลง เกิดภาวะตกงาน
รวมทั้ง กระแสการบริโภคนิยม มีความสะดวก รวดเร็วขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินกู้ แอปกู้เงินถูกกฎหมายง่ายขึ้น และติดกับดักโปรโมชั่น รูปแบบการเลือกผ่อนชำระ ตกหลุมดอกเบี้ย 0% หรือแบ่งจ่ายได้หลายงวด ซึ่งช่วยให้ภาระผ่อนต่อเดือนดูต่ำลง แต่ถ้าวิเคราะห์กันในหลากหลายมิติจะพบว่า ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยและก่อหนี้ได้ง่ายมากขึ้น
เมื่อมาดูผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 ราย มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน โดยแยกข้อมูลรายปีได้ดังนี้
- ปี 2560 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 4 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย
- ปี 2561 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 4 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 คน
- ปี 2562 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 12 ราย มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ไม่เสียชีวิต 3 คน
- ปี 2563 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 20 ราย มีผู้เสียชีวิต 26 ราย ไม่เสียชีวิต 1 ราย
- ปี 2564 เกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 10 ราย มีผู้เสียชีวิต 12 ราย
และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของคณะทำงานฯ เมื่อแยกตามอาชีพ พบกลุ่มอาชีพที่มีอัตราฆ่าตัวตายมากสุดคือ
- กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ได้แก่ ค้าขาย ร้อยละ 36, รับจ้าง ร้อยละ 18
- กลุ่มที่มีรายได้ประจำ ได้แก่ พนักงานทั่วไป ร้อยละ 20
- กลุ่มอื่น ๆ เช่น ธุรกิจส่วนตัวและอาชีพอิสระ ร้อยละ 8, รับราชการ ร้อยละ 6เกษตรกร พบเป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราส่วนการเสียชีวิตน้อยสุด เพียงร้อยละ 4
ทั้งนี้ จากการวิจัยยังพบปัญหาหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ และบางรายเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ สาเหตุการเป็นหนี้มาจากหลายปัจจัย โดยหลักมักมาจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากสุด คิดเป็นร้อยละ 31 รองมาคือ หนี้จากการลงทุนค้าขาย ร้อยละ 21, หนี้จากพนันออนไลน์ ร้อยละ 8, การลงทุนในธุรกิจ ร้อยละ 7, หนี้จากการค้ำประกันนอกระบบให้คนอื่น ร้อยละ 6 และอื่น ๆ เช่น ค่างวดรถ
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินเป็นชนวนเหตุเกิดความเครียดสะสมได้ไม่รู้ตัว และหากขาดทักษะการจัดการความเครียดด้วยแล้ว อาจส่งผลถึงชีวิตของตัวเองด้วยการใช้ทางออกคือ "ฆ่าตัวตาย" "ฆ่ายกครัว" "ยิงยกครัว
ดังนั้น คำถามต่อมา "ทำไม? ความเครียดกำลังฆ่าเรา"
ทำไม? "ความเครียด" กำลัง "ฆ่าเรา"
ต้องยอมรับว่า สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ทุกคนต่างต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนทำให้การพูดคุยกับคนในครอบครัวน้อยลง หรือไม่มีเวลาคุย รวมทั้งสถานการณ์โควิดระบาดอย่างหนัก การสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่าคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตา ทำให้เกิดช่องว่างของความสัมพันธ์ และนี่จึงเป็นหนึ่งข้อหลัก ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดความเครียดสะสมมากขึ้น โดยบางคนไม่รู้จักระบายความเครียด หรือไม่รู้วิธีคลายเครียด ลดความวิตกกังวลได้ และอาจนำไปสู่โรคที่เกิดจากความเครียด เช่น เกิดภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ฆ่ายกครัวได้ในที่สุด
จะรู้ได้อย่างไร? เกิดความเครียดสะสม
ความเครียด (Stress) เป็นภาวะของอารมณ์ ความรู้สึก ที่ถูกบีบคั้น กดดัน ทำให้แสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- บางคนเกิดวิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดหัว ซึมเศร้า
- บางคนอาจมีอาการประสาทหลอนได้
- ฯลฯ
ซึ่งแต่ละคนจะมี "วิธีการปรับตัว" ให้ผ่านพ้นไปได้ ล้วนขึ้นอยู่กับทักษะการจัดการความเครียดของแต่ละคน แต่กลับกันบางคนที่เกิดความเครียด ไม่สามารถหาทางระบายความเครียดออกได้ กลายเป็นความทุกข์ทรมานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และที่ร้ายกว่านั้น การเกิดความเครียดยังพัฒนาเป็น "โรคซึมเศร้า" (Depressive disorder) หรือ "โรควิตกกังวล" (Anxiety disorders)
ความเครียดกับครอบครัว
การฆ่าตัวตาย พบว่ากว่าร้อยละ 60 มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เนื่องจากปัญหาความใกล้ชิดกับคนในครอบครัวนั้น มีผลมากไม่แพ้ปัญหาด้านอื่น ๆ เพราะผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตาย จะมีความอ่อนไหวกับเรื่องครอบครัวเป็นหลัก ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ คนในครอบครัวต้องมีการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกในบ้าน เอาใจใส่กันมากขึ้น พร้อมที่จะรับฟัง เพราะการฟังเป็นอาวุธสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายได้ปลดปล่อย ได้ระบายความเครียด
สำหรับคนที่มีภาวะหดหู่อยากฆ่าตัวตาย สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ต้องหาใครซักคนอยู่ด้วย อย่าอยู่คนเดียวเด็ดขาด หรือหากไม่มีใครให้โทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
8 สัญญาเตือนของคนที่จะ ฆ่าตัวตาย
- มีสีหน้าทุกข์หม่นหมอง เศร้าซึม ร้องไห้
- รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีค่า ผิดหวังรุนแรง
- ดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง ดื่มหนัก ดื่มจนเมา
- มีการวางแผนฆ่าตัวตาย หรือทําร้ายตัวเอง
- เข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยการฆ่าตัวตายมาก่อน หรือเจ็บป่วยทางจิตเวชโดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าและโรค
จิตอารมณ์แปรปรวนหรือ - เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์
- มีความเครียด รู้สึกกดดันอย่างหนัก สูญเสียของรัก (คนรัก เงินทอง หรือบุคคลอันเป็นที่รัก หน้าที่การงาน)
- มีคนในครอบครัวมีประวัติฆ่าตัวตาย
เมื่อเราพบเห็นต้องรีบเข้าไปพูดคุย หรือรับฟังห้ามปล่อยให้อยู่คนเดียว พูดคุยให้เขาได้ระบาย เพื่อจะได้ไม่เกิดโศกนาฎกรรมเศร้างอีก
ทางรอดของคนมีหนี้ ใครช่วยได้?
สำหรับทางออกของการปัญหาที่เกิดจากตัวเราเอง ทำให้เกิดความครียด คือ ต้องยอมรับว่ามีความทุกข์ หาสาเหตุของความทุกข์ ระบายความทุกข์โดยพูดคุยปรึกษากับคนที่เราไว้ใจ หรือหากิจกรรมทํา เพื่อผ่อนคลาย เช่น ออกกําลังกาย ฟังเพลง ทํางานบ้าน ปลูกต้นไม้ และหาคนช่วยเหลือ เช่น เพื่อน ญาติเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ หรือสามารถขอรับคําปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.dmh.go.th หรือคลินิกคลายเครียด ในสถานบริการสุขภาพจิตทั่วประเทศ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1323 หรือฝาก ข้อความได้ที่โทรศัพท์อัตโนมัติหมายเลข 1667 เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อน และค่อยหาทางออกในแต่ละเรื่อง เช่น ปัญหาหนี้สิน ที่สามารถขอคำปรึกษาจากสถาบันการเงิน หรือโครงการจากรัฐ เช่น คลินิกแก้หนี้ เป็นความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีหนี้เสียโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่ไม่สามารถชำระได้ เป็นต้น
เชื่อว่า ผู้ที่มีความเครียดสะสมจากปัญหาหนี้สิน หากได้รับการช่วยเหลือจากโครงการทางภาครัฐที่จัดขึ้น หรือได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทักษะทางการเงินที่ถูกต้อง ข่าวโศกนาฎกรรมฆ่าตัวตาย ยิงยกครัวจากปัญหาหนี้สินย่อมลดลงอย่างแน่นอน
ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต, เดลินิวส์, มติชน
ภาพ : pixabay.com by whoismargot
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- เครียดแล้วต้องโทรหาใคร? รวมสายด่วนเช็กใจ สำหรับคนอยากระบายแทนพิมพ์แชท
- "เด็กก็เครียดได้" ควรดูแลเด็กอย่างไรในวันที่ "โควิด-19" ทำให้พ่อแม่ต้องแยกกักตัว!
- “โควิด-19” ทำให้เครียดหรือเปล่า? รับมือให้ทันก่อนจะเครียดเพราะโควิด
- Fake News เยอะ? เสพข่าว "โควิด19" ยังไงไม่ให้เครียดหรือเป็นโรคจิตเวชไปกว่านี้
- โควิดทำ 'เครียด' หนัก! เช็กวิธีรับมือไม่ให้ป่วยใจ
- ติดโควิดใครว่าไม่เครียด! รู้วิธีจัดการความเครียดสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
- ทดสอบ "ความเครียด" จากวิกฤตโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ที่ทำให้ใจพัง
- วิธีลดเครียด “เรียนออนไลน์” ในช่วงโควิด-19 ระบาด
- อย่าปล่อยให้เครียด! เช็คสุขภาพใจช่วงโควิด ไปกับกรมสุขภาพจิตกันเถอะ
- เช็ก 5 สัญญาเตือนภาวะหมดไฟหลัง WFH! พร้อมวิธีจุดไฟในตัวปรับสู่ New Normal อีกครั้ง