รีเซต

"เด็กก็เครียดได้" ควรดูแลเด็กอย่างไรในวันที่ "โควิด-19" ทำให้พ่อแม่ต้องแยกกักตัว!

"เด็กก็เครียดได้" ควรดูแลเด็กอย่างไรในวันที่ "โควิด-19" ทำให้พ่อแม่ต้องแยกกักตัว!
Ingonn
16 มิถุนายน 2564 ( 13:55 )
357
"เด็กก็เครียดได้" ควรดูแลเด็กอย่างไรในวันที่ "โควิด-19" ทำให้พ่อแม่ต้องแยกกักตัว!

 


ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและแน่นอนว่าถ้าติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูง คนเหล่านี้จะต้องเข้ารับการรักษาหรือกักตัวเองให้ห่างจากคนอื่นเป็นระยะเวลาหนึ่งหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองใกล้ชิดเด็กถูกกักตัว หรือนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้ต้องแยกจากเด็กๆ ที่ดูแล ซึ่งอาจมีผลกระทบทางจิตใจตามมาได้ไม่มากก็น้อย เมื่อต้องห่างจากครอบครัว

 

 

แต่การกักตัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง เพราะการติดเชื้อแต่ไม่กักตัว อาจนำเชื้อไปสู่คนในครอบครัวได้ โดยเฉพาะลูกหลานที่เป็นห่วงที่สุด วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวมแนวทางการดูแลเด็กในวันที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองต้องกักตัวมาฝากกัน

 

 

 

ผลกระทบทางจิตใจอาจจะเกิดกับเด็กทุกวัย บางคนคิดว่าเด็กเล็ก ยังไม่รู้ประสีประสา ไม่น่าจะเข้าใจอะไรนัก แต่การที่ยังไม่ค่อยเข้าใจนี่แหละ กลับทำให้เกิดความเครียดได้ ด้วยบรรยากาศที่เขาเคยอยู่กับพ่อแม่คนที่ใกล้ชิด แต่กลับเปลี่ยนไป การที่เขาต้องไปอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่นๆ อาจจะเป็นญาติ ที่ไม่ได้สนิทนัก กิจวัตรต่างๆที่เขาเคยทำ อาจต้องเปลี่ยนไป ตัวแปรเหล่านี้ส่งผลต่อจิตใจเด็กแน่นอน

 

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กในสถานการณ์โควิด 19


1.หวาดกลัวต่อแยกจากสมาชิกในครอบครัว 


2.หวาดกลัวต่อการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก (โดยเฉพาะเมื่อมีญาติติดเชื้อโควิด19)


3.การไม่ได้เล่น หรือพบปะกับเพื่อนๆ


4.ขาดกิจกรรมยามว่างในพื้นที่ปลอดภัย เช่น สนามเด็กเล่น หรือสนามกีฬา


5.ถูกกีดกัน หรือมีปฏิกิริยารังเกียจจากโรงเรียนหรือชุมชน


6.ประสบกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว

 

 

 

 


เด็กต้องการอะไรจากผู้ดูแล เมื่อต้องถูกแยกกักจากครอบครัว


1.อธิบายเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา และชัดเจน 


แต่ควรอธิบายด้วยท่าทีที่สงบว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะอะไรเด็กจึงต้องถูกกักตัวแยกไปอยู่ที่อื่น และต้องแยกจากครอบครัวนานเท่าใด เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย

 


2.เปิดโอกาสให้เด็กพูดคุยสื่อสารกับครอบครัว


โดยพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้รู้สึกมั่นคงมากขึ้น และลดความกลัวการแยกจากครอบครัว

 


3.สอบถามความต้องการของเด็ก 


พูดคุยกับเด็กว่าต้องการอะไร ต้องเล่นของเล่นหรือของแทนใจอะไรเพื่อให้หายคิดถึงบ้านหรือแก้เหงาบ้าง

 


4.เข้าใจการแสดงออกของพวกเขา


โดยเข้าใจว่าเป็นการตอบสนองปกติในสถานการณ์ที่วิกฤต

 


5.สอนให้เด็กรู้จักและเข้าใจว่า อารมณ์ที่รู้สึกตอนนี้คืออะไร 


เสียใจ โกรธ วิตกกังวล จะช่วยให้พวกเขาเลือกวิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 


6.ช่วยดูแลกิจวัตรประจำวันให้คงที่และคาดเดาได้


เพื่อลดความกังวลหรือหวาดกลัวลดลง

 

 

 

 

 

 

การดูแลใจเด็กถ้าพ่อแม่ถูกกักตัว

 

ในวันที่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่และผู้ปกครองที่ใกล้ชิด คนรอบข้างที่เข้ามาช่วยดูแลจะช่วยให้เด็กจัดการความรู้สึกแย่ๆ ได้อย่างไร

 

1.ควรให้เด็กได้ติดต่อพูดคุยกับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดที่ต้องกักตัวสม่ำเสมอ ซึ่งดีที่ยุคนี้มีเทคโนโลยีที่เด็กได้พูดคุยผ่านอุปกรณ์ต่างๆ การคุยกันวีดีโอคอล เห็นหน้ากัน หรือคุยโทรศัพท์ ปลอบโยนให้เด็กรู้สึกสบายใจ ถือเป็นการให้เวลาที่มีคุณค่ากับเด็ก

 


2.คนที่ดูแลควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันให้น้อยเท่าที่พอทำได้ ถ้าจำเป็นจะต้องเปลี่ยน ก็คงจะต้องอธิบาย และสร้างความคุ้นเคยกับเด็กในการทำอะไรใหม่ๆ เช่น การต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนๆ ทำไม่ได้แล้ว เป็นต้น และควรเป็นคนที่เด็กพอจะคุ้นเคยอยู่เดิมจะดีกว่า

 


3.ต้องเข้าใจว่า การแสดงออกทางความรู้สึกไม่สบายใจของเด็กนั้นเป็นไปได้หลายทาง เพราะเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ยังไม่ได้เหมือนผู้ใหญ่ที่จะพูดบอกความรู้สึกตัวเองได้ จึงจะแสดงออกในรูปแบบพฤติกรรม เช่น ติดผู้เลี้ยงมากขึ้น พฤติกรรมถดถอย อะไรที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ หงุดหงิด โกรธ ดื้อ ต่อต้าน ปัสสาวะรดที่นอน

 


4.การตอบสนองต่อปฏิกิริยาของเด็กที่เกิดควรจะใช้ความเข้าใจ ไม่ใช่การดุ ตำหนิ ขู่ หรือไปโมโหเด็ก 

 


5.สำคัญที่สุดคือรับฟังความไม่สบายใจของเขา เปิดโอกาสให้เขาพูด หรือถามคำถามที่สงสัยในเรื่องที่เกิดขึ้น 

 


6.ให้ความรักเอาใจใส่เด็กอย่างเหมาะสม อย่าคิดว่าที่เด็กมีความเครียดหรือพฤติกรรมถดถอย เป็นการเรียกร้องความสนใจ เพราะเป็นธรรมดาที่เด็กๆ จะต้องการความรักความสนใจมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าตามใจไปหมด การให้ความรักความสนใจคือ การมีเวลาทำกิจกรรม เล่น คุยกับเด็ก 

 


7.เล่นและทำกิจกรรมผ่อนคลายกับเด็กมากขึ้น

 


8.ควรจะให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโรคโควิดกับเด็ก ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น จะต้องทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยใช้คำพูดที่เด็กเข้าใจง่าย ตามอายุของเขา 

 


9.ให้ข้อมูลว่าตอนไหนที่เด็กอาจจะต้องบอกผู้ใหญ่ เช่น ถ้าเด็กรู้สึกไม่ดี ไอ เจ็บคอ ตัวร้อน หายใจแล้วเหนื่อย บอกเขาว่าผู้ใหญ่ก็จะช่วยหนูได้นะ จะพาหนูไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลเพื่อจะช่วยให้หนูดีขึ้นจ้ะ 

 


10.สุดท้ายผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กๆ ควรต้องรักษาสุขภาพกายและจิตใจให้ดี เพราะหากมีความเครียด กังวลมาก การไปช่วยเด็กๆ ก็คงทำได้ยาก และอาจจะทำให้เด็กมีผลกระทบทางจิตใจมากขึ้น

 

 

อย่างไรก็ตาม การรับเด็กมาดูแลระหว่างที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องกักตัว ผู้ดูแลควรให้ความใส่ใจเด็กเป็นอย่างมากเพื่อลดภาวะความเครียดและความวิตกกังวลในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด รวมถึงต้องช่วยกันสอนเด็กให้รู้จักการป้องกันโควิด-19 ที่ควรรู้ไว้ เพื่อไม่ให้เด็กต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกราย

 

 


ข้อมูลจาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย , สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง