รีเซต

ติดโควิดใครว่าไม่เครียด! รู้วิธีจัดการความเครียดสำหรับผู้ป่วยโควิด-19

ติดโควิดใครว่าไม่เครียด! รู้วิธีจัดการความเครียดสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
Ingonn
31 พฤษภาคม 2564 ( 19:44 )
608

รู้หรือไม่ ว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ก็เกิดความเครียดได้เหมือนกันและความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น มักส่งผลต่อสุขภาพจิตใจมากกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อถึง 2 เท่า พร้อมทั้งอาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า และโรคนอนไม่หลับมากกว่าเมื่อเทียบกับอาการเจ็บป่วยอื่นๆอีกด้วย โดยสาเหตุหลักมาจากอาการรังเกียจโควิด-19 โดยไม่รู้ตัวในสังคมไทย ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดเหมือนถูกซ้ำเติมจนเกิดความเครียด

 

 

 

สำรวจสถิติคนติดเชื้อโควิดเครียดกว่าคนทั่วไป 2 เท่า


จากข้อมูลความชุกปัญหาสุขภาพจิตภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ข้อมูลช่วงเดือนมกราคม 2564 พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะหมดไฟ ภาวะความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และซึมเศร้ารุนแรง ร้อยละ 1.52, 1.44, 13.37, 2.26 และ 0.32 ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มผู้ติดเชื้อมีภาวะเครียดสูงกว่ากลุ่มประชาชนทั่วไปถึง 2 เท่า นอกจากนั้นยังพบว่า บุคลากรทาง การแพทย์มีภาวะหมดไฟสูงถึงร้อยละ 2.54 และมีความเครียดในระดับสูงถึงร้อยละ 5.21

 

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า บุคคลที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ผู้ที่ต้องกักตัวหรือผู้ติดเชื้อ ที่เสี่ยงต่อการถูกสังคมตีตรา พบว่าสุขภาพจิตของผู้กักตัวเฉลี่ยดีคงที่ ในสัปดาห์แรก แต่ในสัปดาห์ที่ 2 จะเริ่มมีความเครียดมากขึ้น ดังนั้น ควรวางแผนถึงกิจกรรมที่ทำระหว่างกักตัวจะทำให้ความเครียดน้อยลงได้ นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในสถานกักกันของรัฐ ครอบครัวและคนรอบข้างถือเป็นสิ่งสำคัญ การสื่อสารผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น วีดีโอคอล ไลน์ ถือเป็นการสร้างกำลังใจให้ผู้กักตัวได้ดี อีกส่วนหนึ่งคือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเหนื่อยล้า หมดไฟ คนกลุ่มนี้ ญาติ ๆ จะต้องเอาใจใส่พวกเขาให้มากขึ้น

 

 


รู้จัก “อาการรังเกียจโควิด-19”


การรังเกียจผู้ป่วยโควิด หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบไปด้วย เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และไม่น่าแปลกใจในสถานการณ์ขณะนี้ เพราะปรากฏการณ์ปัจจุบันเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

 

อ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์ว่า สถานการณ์โรคระบาดที่มีความไม่แน่นอน และเป็นโรคใหม่ที่ไม่เคยมีคนรู้จักมาก่อนยิ่งส่งผลให้คนมีความกลัวครอบงำ เมื่อกลัวแล้วจะยิ่งเกิดอาการวิตกกังวล ระแวดระวังภัยสำหรับตัวเองมาก

 

 

กลไกทางจิตวิทยาของมนุษย์ เพราะว่าเราเป็นสัตว์สังคมเราเลยต้องระแวดระวังภัยให้แก่คนในกลุ่มเดียวกัน ข้อมูลที่เป็นข้อมูลเชิงลบหรือเป็นข้อมูลสุดโต่งแง่ลบจะถูกนำมาเชื่อไว้ก่อน เพราะเราจะคิดถึงกรณีเลวร้ายที่สุดเพื่อเอาไว้ระวังตัว

 

 

ขณะเดียวกัน เมื่อมีความกลัวครอบงำ ก็ยิ่งเกิดการลดคุณค่าหรือรังเกียจผู้อื่น ถึงแม้จะไม่ได้มีอาการป่วยหรือเป็นผู้ติดเชื้อก็ตาม แต่ก็ถูกรังเกียจไปด้วย ซึ่งรวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกรังเกียจ ทั้งๆที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นผู้เสียสละ

 

 

ความวิตกกังวลหรือความกลัวที่เกิดขึ้นขณะนี้ในหมู่ประชาชนเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และจะไปสั่งให้ประชาชนอย่าตระหนก หรืออย่าวิตกกังวล เป็นเรื่องยากที่จะทำ แต่สามารถลดความวิตกกังวลของประชาชนได้โดยการให้ข้อมูลที่แท้จริงโดยไม่ปกปิดข้อมูล

 

 

ภาครัฐเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลอยู่ในมือ ควรจะนำข้อมูลที่มีอยู่ใช้ให้เป็นประโยชน์และสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน และควรใช้คำพูดอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่แสดงอาการเหยียดหยามผู้อื่น หรือใช้คำแนวกลางๆ สำหรับสื่อมวลชนเองก็ควรรายงานข่าวที่ไม่กระตุ้นเร้าอารมณ์ และไม่รายงานข่าวหรือข้อมูลเท็จ โดยเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสม ไม่ขายข่าว และไม่สร้างกระแส เป็นต้น

 

 

ดังนั้นก่อนที่จะรู้สึกถูกสังคมตีตรา เราต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเองเป็นเกราะป้องกันความเครียดและความรู้สึกไม่ดีจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสียก่อน 

 

 

การดูแลจิตใจตนเองของผู้ป่วยโควิด-19


1.ดูแลรักษาสุขภาพ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หายใจเข้า-ออกช้า ๆ ยืดกล้ามเนื้อ หลีกเลี่ยงการใช้สุราและสารเสพติด


2.หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง


3.ทำความเข้าใจว่าความเครียด ความกังวล หรือความกลัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ พยายามทำกิจกรรมที่ชอบหรือผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง เพื่อให้ความรู้สึกเหล่านี้ ค่อย ๆ บรรเทาลงในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ


4.มองหาสิ่งที่สามารถควบคุมและจัดการได้ในปัจจุบัน เช่น การดูแลตนเอง การมีความหวังและความคิดด้านบวกต่ออนาคต


5.เลือกรับข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากบุคลากรทางการแพทย์ และหลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่มากเกินไป จนทำให้เกิดความเครียด


6.เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น บอกเล่าความรู้สึกกับครอบครัวหรือเพื่อนยอมให้ตนเองพึ่งพาผู้อื่นได้ในช่วงเวลานี้ รวมถึงช่วยเหลือดูแลคนรอบข้าง และแบ่งปันเรื่องราวด้านบวกแก่ผู้อื่น


7.ติดต่อขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเริ่มรู้สึกว่าจัดการความเครียดไม่ได้ หรือเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น หงุดหงิดมาก นอนไม่หลับ ซึมเศร้า หรืออยากตาย

 

 

 

 


10 ข้อแนะนำด้านจิตใจและสังคมสำหรับ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม

 

1.ทำแบบทดสอบด้านสุขภาพจิต


Mental Health Check In จะช่วยให้เราได้รับข้อมูลที่สำคัญซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะเป็นความลับ ใช้เพื่อประเมินอาการด้านสุขภาพจิต จึงขอความร่วมมือในการกรอกข้อมูล เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

 

 

 

2.หากประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต


ในระหว่างการพัก อาจประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตต่างๆ ได้ เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หากรู้สึกมีความคิดอยากตายหรือทำร้ายตัวเอง ให้แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทันที

 

 

3 ผ่อนคลายความเครียด


มีส่วนช่วยเสริมสุขภาพทางกาย สามารถทำกิจกรรมผ่อนคลายได้ เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ รวมไปถึงการนั่งสมาธิ ช่วยลด ความเครียดได้ดีเช่นเดียวกัน

 


4.ตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิต


การตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน และทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นจะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น เช่น การตั้งเป้าอ่านหนังสือ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตั้งเป้าหมายการพักผ่อน

 


5.การติดต่อสื่อสาร


การพูดคุยกับคนในครอบครัวคนสนิท แฟน และเพื่อนๆจะช่วยให้ลดความเหงาและความกังวลของตนเองและคนทางบ้านได้ดี

 


6.ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่


การได้พูดคุยระบายความรู้สึกร่วมกันจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกัน อาจได้รับคำแนะนำหรือข้อคิดดีดีจากเพื่อนใหม่ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามอีกด้วย

 


7. เป็นจิตอาสา


สามารถช่วยเหลือโรงพยาบาลสนามด้วยการมีจิตอาสา ช่วยแนะนำการปฏิบัติตัวต่อผู้ที่มาใหม่หยิบยืนความช่วยเหลือต่างๆ ทั่วไป

 


8 เคารพกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน


การเคารพกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโรงพยาบาลสนาม เช่น การช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่รบกวนผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง

 


9 ระวังการถ่ายภาพและวีดีโอ


เนื่องจากโรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก การถ่ายภาพอาจเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่นและอาจก่อให้เกิดการร้องเรียนทางกฎหมายตามมาได้

 


10 สิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วย


การปฏิบัติต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ความช่วยเหลือ ด้วยความสุภาพให้เกียรติ เห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องสุขภาพกายและจิตของทุกท่าน

 

 


ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , PPTV

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง