รีเซต

แนวทางให้กำลังใจผู้ป่วยโควิด-19 โรคร้ายที่ไม่มีโอกาสได้บอกลาก่อนเสียชีวิต

แนวทางให้กำลังใจผู้ป่วยโควิด-19 โรคร้ายที่ไม่มีโอกาสได้บอกลาก่อนเสียชีวิต
Ingonn
21 พฤษภาคม 2564 ( 13:15 )
2.8K

ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ของการแพร่กระจายเชื้อครั้งนี้ มักเป็นกลุ่มครอบครัว ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 กันทั้งบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะได้รับความเสี่ยงอาการหนักจากการติดเชื้อสูงจนถึงขั้นสูญเสียคนที่รักในครอบครัวไป

 

 


อีกเรื่องสะเทือนใจ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nittha Oer-areemitr ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร แพทย์อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเอกชัย โพสต์ภาพไอเดียการนำถุงมือยางใส่น้ำมาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับสัมผัสครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิต โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

 

 

 

 

คุณหมอเล่าว่าความเจ็บปวดหนึ่ง ที่คนไข้โควิดที่ใกล้เสียชีวิต และญาติคนไข้ต้องเจอ คือ ความโดดเดี่ยว ในช่วงที่กำลังจะจากไป โรคมันโหดร้าย ไม่ให้โอกาสคนในครอบครัวได้บอกลา ซึ่งคุณหมอได้เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยโควิดที่กำลังร้องไห้ ระบุว่า มักจะเสียใจที่เป็นต้นเหตุให้คนที่รักติดเชื้อ กลัวโรคลุกลาม และมีคนใกล้ชิดป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตแล้ว เวลาคุณหมอเจอผู้ป่วยแบบนี้ จะเข้าไปสอบถามเขา ไม่อยากให้เขาต้องเก็บความรู้สึก เพราะการอยู่คนเดียวให้ห้องผู้ป่วย อาจจะทำให้เขายิ่งจมดิ่งได้ การให้เขาได้เล่า อาจทำให้เขารู้ว่ามีเราที่รับรู้ความรู้สึกเขาอยู่

 

 

นอกจากนั้นคุณหมอยังบอกอีกว่า เสียง คือ สัมผัสสุดท้าย ที่คนไข้จะเสียไปรองมา คือ การสัมผัส ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ ให้ใช้โทรศัพท์ของคนไข้เองให้ญาติโทรเข้าไป เอาไปวางข้างหู ให้ครอบครัวได้ร่ำลาคนไข้เป็นครั้งสุดท้าย

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงรวบรวมแนวทางการให้กำลังใจผู้ป่วยโควิด-19 ให้กลับมามีพลังพร้อมที่จะพิชิตโรคร้ายนี้ให้หาย รวมถึงแนวทางการบอกลาครั้งสุดท้ายที่ครอบครัวและผู้ป่วยพอจะทำได้ก่อนจะเสียชีวิต

 

 

 

แนวทางให้กำลังใจผู้ป่วยโควิด พิชิตโรค

 

1.กรณีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้สูงอายุ
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีความดื้อหรือมีภาวะต่อต้านกับการรักษาจากแพทย์พยาบาล ครอบครัวสามารถส่งกำลังใจให้ผ่านทางโซเชียล หรือพูดคุยผ่านวีดิโอคอลได้ โดยการให้กำลังใจผ่านคำพูดแนะนำให้รักษาตัวเอง และมั่นใจว่าจะต้องได้กลับมาเจอกันที่บ้าน รวมถึงต้องให้ความสบายใจกับผู้ป่วยว่า ไม่ต้องเป็นห่วงลูกหลาน เพราะยังสามารถดูแลตัวเองได้ 

 

 

2.เปิดโอกาสให้พูดป่วยได้พูดคุย
ถามถึงผู้ป่วยเสมอ เพื่อให้ได้มีการพูดคุยระหว่างกัน การได้ระบายให้คนอื่นฟังอาจจะช่วยทำให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจำเป็นต้องพูดเกี่ยวกับโรคหรือไม่พูดเกี่ยวกับโรค ซึ่งต้องตั้งใจรับฟัง เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องราว ความคิด และความรู้สึกของผู้ป่วยเกี่ยวกับตัวโรค ระหว่างฟังควรจะใช้ภาษากายด้วย เช่น สบตาผู้ป่วย ใช้การพยักหน้าเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการสื่อสารว่าเรากำลังรับฟังด้วยความตั้งใจ 

 

 

3.ระวังการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย
คนส่วนใหญ่มักคิดว่า มีคำแนะนำมากมายที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ จึงพูดออกมาทันทีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วย ทั้งๆที่บางครั้งเราอาจยังไม่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ป่วยกับโรค หรืออาการล่าสุดของผู้ป่วยเลยก็ได้ ดังนั้นก่อนจะให้คำแนะนำควรจะถามผู้ป่วยก่อนว่า ที่ผ่านมาผู้ป่วยใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างไรบ้างและได้ผลเป็นอย่างไรแทน

 


 
4.การให้ข้อมูลต่างๆแก่ผู้ป่วยควรจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด 
การพูดความจริงกับผู้ป่วยไม่ได้เป็นการลดทอนกำลังใจ แต่เป็นการสร้างความจริงใจ ความเชื่อใจ ไม่โกหก เพราะการบอกความจริงของอาการ ผ่านความรู้สึกของเราออกมา เป็นการสื่อว่าเรามีความจริงใจในการพูดคุยกับผู้ป่วย 

 

 

5.ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของผู้ป่วย และให้กำลังใจ
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเวลาเราพูดคุยกับผู้ป่วยเกี่ยวกับตัวโรคนั้น ผู้ป่วยอาจจะเกิดอารมณ์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ เสียใจ ผิดหวัง ไม่เชื่อในสิ่งเราพูดหรือพยายามอธิบาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ดังนั้นครอบครัวต้องเข้าใจ และฝึกการจัดการกับอารมณ์ของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยค่อยๆถามผู้ป่วยว่าเกิดอะไรขึ้น มีสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ รวมทั้งต้องหาปัจจัยอื่นๆ เช่น ประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะ delirium หรือความรู้สึกสับสน ซึมเศร้า ร่วมด้วยหรือไม่

 

 

6.ช่วยผู้ป่วยให้ยังคงความสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อน 
โดยการต่อโทรศัพท์ให้ได้คุยกับญาติมิตรสหายที่สนิทกัน หรือช่วยเขียนจดหมายตามคำบอก

 

 

7.ไม่ตัดสินผู้ป่วย
ในขณะพูดคุยกับผู้ป่วย ให้รับรู้ความคิดเห็นของผู้ป่วย ไม่ตัดสินสิ่งที่ผู้ป่วยคิด หรือพูด จนเกิดเป็นประเด็นถกเถียงกัน อย่าชวนทะเลาะ หรือทำให้เข้าใจผิดต่อกัน ควรสร้างสีสัน ตลกขบขัน หัวเราะไปด้วยกัน เพื่อสร้างความสุขทางจิตใจแก่ผู้ป่วย

 

 

 


แนวทางกำลังใจตัวเองสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้สู้ต่อ

 

การให้กำลังใจตัวเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และต้องรักษาพร้อมกับกักตัวเอง 10-17 วันเพียงลำพัง อาจทำให้มีอาการจิตตก จากภาวะกังวลในหลายด้าน ผู้ป่วยจึงควรให้กำลังใจตัวเอง ดังนี้

 

 

1.คิดอยู่เสมอว่าฉันต้องหายและฉันจะต้องผ่านมันไปให้ได้แม้ว่ามันจะหนักแค่ไหนก็ตาม


2.เสพหรืออ่านข่าวการติดเชื้อโควิด-19 อย่างระมัดระวังและไม่มากจนเกินไป


3.หากิจกรรมคลายเครียดในช่วงที่ต้องรักษาตัว และกักตัวในโรงพยาบาล เช่น อ่านหนังสือ


4.ตรวจสอบอาการทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของตัวเองสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังอาการซึมเศร้า 


5.อย่าทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ไม่ว่าจะเป็นการโทษตัวเอง รู้สึกท้อถอย หมดหวัง แต่ควรสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง และพร้อมจะผ่านมันไปได้

 

 

 

แนวทางการบอกลาผู้ป่วยโควิดครั้งสุดท้ายผ่านโทรศัพท์


การได้ยินเสียงคนที่เรารักเป็นครั้งสุดท้ายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ป่วยโรคร้ายทุกโรค แต่ด้วยโรคนี้ไม่สามารถทำให้ครอบครัว หรือคนรักพบเจอหน้ากันเป็นครั้งสุดท้าย เพราะต้องรักษาระยะห่างตามเกณฑ์การควบคุมโรค การบอกลาทางโทรศัพท์จึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่สามารถทำให้กันได้ โดยมีวิธีดังนี้

 

 

1.ให้ความสนใจและรับฟังเรื่องราวของผู้ป่วยอย่างตั้งใจเป็นครั้งสุดท้าย

 

2.หากพูดคุยกันหลายคน ควรให้ทุกคนมีโอกาสได้บอกลาผู้ป่วย

 

3.พูดว่า ฉันรักเธอ เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อสร้างความรู้สึกดี อบอุ่นใจ แก่ผู้ป่วย

 

4.ขอบคุณผู้ป่วยสำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

 

5.ขอโทษที่เคยทำไม่ดีต่อกัน ขออโหสิกรรมแก่กันและกัน

 

6.ให้อภัย ไม่ว่าใครจะผิดหรือถูก เพราะการให้อภัยเป็นครั้งสุดท้าย เสมือนเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากความขุ่นเคือง หรือบาดแผลในใจและทำให้จิตใจสงบขึ้น

 

7.แบ่งปันเรื่องราว ช่วงเวลาที่ก้าวข้ามผ่านมาด้วยกัน ชวนผู้ป่วยย้อนเวลาความทรงจำด้วยกันเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้จากไปพร้อมความรักและเสียงหัวเราะ

 

 


ไม่มีใครชอบการบอกลาคนที่เรารัก หรือต้องรู้ว่าคนที่เรารักต้องจากไปแบบไม่มีวันกลับด้วยโรคโควิด-19 หรือโรคร้ายต่างๆ การให้กำลังใจกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะทำให้ผู้ป่วยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ แม้สุดท้ายจะลงเอยด้วยการเสียชีวิตก็ตาม

 

 

 

ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต , ภาควิชาเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , crossroadshospice

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง