รีเซต

กักตัว 14 วัน กินสู้โควิด-19 แบบคนสุขภาพดี

กักตัว 14 วัน กินสู้โควิด-19 แบบคนสุขภาพดี
Ingonn
20 พฤษภาคม 2564 ( 14:32 )
1.3K

ไม่เจ็บไม่ป่วย คือ ลาภอันประเสริฐแล้ว ในสถานการณ์ที่ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเป็นหลักพันยาวนานขนาดนี้ ซึ่งในช่วงนี้ภาครัฐ เน้นย้ำการทำงานแบบ Work From Home หรือการเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงใครที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องกักตัว 14 วัน ทำให้ต้องทานอาหารที่บ้านกันเป็นหลัก แต่บางทีการอยู่บ้านอาจฟังดูน่าเบื่อ จึงอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำอาหารแก้เบื่อกัน

 


จะกักตัวหรืออยู่บ้าน กินแต่มาม่า อาหารสำเร็จรูปก็คงไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แถมยังไม่ได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในช่วงโควิด-19 ระบาดอีกด้วย วันนี้ TrueID จึงขอเสนอแนวทางกินสู้โควิด กันไปเลย ถ้าเรื่องกินในยุคนี้มันยาก ก็หาทำเองง่ายกว่าแน่นอน พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างเมนูใน 1 วัน ว่าควรกินอะไรบ้าง มาฝากทุกคนด้วย

 

 


ใครที่ควรกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังอาการโควิด-19 ควรเลือกปรุงและกินอาหารให้เหมาะสม ถูกหลักโภชนาการ มีประโยชน์ให้หลากหลาย ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ลดอาหารประเภทสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง ซึ่งมีโซเดียมสูงเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลเสียต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ

 

 

รวมเมนูข้าวกล่อง CHEF CARES (เชฟแคร์ส) อร่อยดีต่อสุขภาพโดยเชฟมิชลิน ราคาสุดคุ้มที่เซเว่น << คลิก

Chef Cares รีวิวเมนูอร่อย ไก่ทิกก้ามาซาล่าและข้าวหุงขมิ้น ใหม่ล่าสุด ที่ 7-11 << คลิก

 

 


หลักการเลือกซื้ออาหาร


1.เลือกรายการอาหารที่ง่าย สะดวกต่อการปรุงประกอบ และมีคุณค่าทางโภชนาการ


2.ควรเป็นเมนูที่เสียยาก กินง่าย กินได้ทุกเพศทุกวัย เช่น ข้าวสวย ข้าวเหนียว เนื้อสัตว์แดดเดียว/รวน/ทอดแห้ง เช่น เนื้อแดดเดียว หมูรวน ปลาทอดแห้ง หรือเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น กุนเชียง หมูยอ และไข่ที่ปรุงประกอบด้วยวิธีต่างๆ เช่น ไข่ต้ม ไข่พะโล้ ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำพริกต่างๆ กินคู่กับผัก ตบท้ายด้วยผลไม้


3.การจัดการและดัดแปลงวัตถุดิบที่มีอยู่ เพื่อใช้จัดรายการอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการยิ่งขึ้น เช่น นำข้าวเหนียวนึ่งผสมกับถั่วต่างๆ (ถั่วเขียว ถั่วดำ) งาขาว งาดำ


4.เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย เช่น ปลาสดต่างๆ หมูเนื้อสัน เนื้อไก่ส่วนอก แช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศา  หรือโปรตีนจากพืช เช่น โปรตีนเกษตร ฟองเต้าหู้ เห็ดหอมแห้ง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง  ซึ่งเก็บไว้ได้นาน


5.เลือกซื้อผักประเภทหัว เช่น กะหล่ำปลี แครอท บรอกโคลี ฟักทอง เนื่องจากเก็บได้นาน


6.เลือกซื้อผลไม้สดที่รสไม่หวานจัด เช่น มะละกอสุก แก้วมังกร ฝรั่ง สาลี่ แบบเป็นผลมาปอกกินเอง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค


7.เลือกซื้อนมสดรสจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยแบบ UHT และดื่มนมวันละ 1–2 แก้ว


8.เลือกซื้อนำเปล่าบรรจุขวดมีฝาปิดสนิท และดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อรักษาสมดุลและขับของเสียออกจากร่างกาย

 

 

 

วิธีการเก็บอาหาร

1.ข้าวสารและอาหารแห้งต่างๆ ให้เก็บในที่แห้ง ในภาชนะที่ปิดมิดชิด ระวังมอด มด หนู แมลงสาบ ฯลฯ


2.ไข่ เก็บในตู้เย็น เอาด้านแหลมลงล่าง ด้านป้านขึ้นบน


3.เนื้อสัตว์ จำพวก เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ให้ล้าง แล้วหั่นเป็นชิ้น แบ่งใส่ถุงเป็นมื้อ (ขนาดใช้ 1 ครั้ง)ทำให้แบนเพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บ มัดปากถุงให้แน่น เก็บในตู้เย็นช่องแช่แข็ง


4.อาหารทะเล เช่น กุ้งสด ปลาหมึกสด ให้ล้าง และตัดส่วนที่ไม่ใช้ทิ้งไปก่อน แล้วแบ่งใส่ถุงเป็นมื้อ (ขนาดใช้ 1 ครั้ง) มัดปากถุง นำไปแช่ในตู้เย็นช่องแช่แข็ง


5.ผักใบต่างๆ เช่น ผักชี ต้นหอม กะเพรา โหระพา ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษซับน้ำมันแล้วใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่น เก็บในช่องผัก เมื่อจะใช้ค่อยนำออกมาล้าง


6.ผักประเภทหัว เช่น แครอท กะหล่ำปลี บรอกโคลี ห่อด้วยด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษซับน้ำมันเก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก เมื่อจะใช้ค่อยนำออกมาล้าง


7.เครื่องแกงที่ตำเอง ให้เก็บใส่ถุงและมัดปากถุง โดยแบ่งเป็นส่วนๆ ตามปริมาณที่จะใช้ 1 ครั้ง


8.ผลไม้ที่มีเปลือกหนา เช่น แตงโม ส้มโอ สามารถเก็บได้นานที่อุณหภูมิห้อง


9.ผลไม้เปลือกบางและไม่มีเปลือก


- กล้วย เด็ดเป็นลูก เพื่อไม่ให้สุกเร็ว ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก


- ส้ม แอปเปิล ฝรั่ง สาลี่ ชมพู่ ล้างแล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ในถุงกระดาษเจาะรู หรือห่อด้วยกระดาษที่ไม่มีลวดลาย เก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก

 

10.อาหารที่ไม่จำเป็นต้องแช่ในตู้เย็นเพราะมีอายุการเก็บนาน ได้แก่ ฟักทอง เผือก มัน มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ แตงโม น้ำมัน มะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ ของดอง ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะทำให้เสียเร็วกว่าอยู่ข้างนอก

 

 

การปรุงประกอบอาหาร


1.อาหารประเภทผักสด เนื้อสัตว์สด ต้องล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุง


2.ก่อนนำเนื้อสัตว์แช่แข็งมาปรุงอาหาร ให้นำมาวางไว้ในช่องธรรมดาก่อนเพื่อให้มีการคลายความเย็น ไม่ควรนำอาหารที่แช่แข็งไปแช่ในน้ำร้อน จะทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง


3.ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อน


4.มีการปกปิดอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารพร้อมบริโภคทุกชนิด


5.ไม่วางอาหารและภาชนะบรรจุอาหารบนพื้นโดยตรง


6.รับประทานอาหารภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงประกอบ


7.ผู้เตรียม/ปรุงอาหารต้องสวมผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผมและควรมีผ้าปิดปากขณะปรุง ตักอาหาร


8.ผู้เตรียม/ปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมปรุงอาหาร และหลังใช้ห้องส้วม


9.ผู้เตรียม/ปรุงอาหารไม่ใช้มือหยิบจับอาหารปรุงสำเร็จ

 

 

ตัวอย่างเมนูอาหาร

 

อาหารเช้าข้าวกล้องต้มหมูใส่เห็ด หรือแซนด์วิชทูน่าผักกาดหอม หรือข้าวต้มเลือดหมูใส่ตำลึง
ตบท้ายด้วย มะละกอ 6 ชิ้นคำ หรือกล้วยน้ำว้า 1 ผล
อาหารว่างเช้านมสดรสจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย 1 แก้ว
อาหารกลางวันราดหน้าหมูเห็ดหอม หรือข้าวหมูอบกระเทียมพริกไทยใส่ถั่วลันเตา หรือข้าวผัดกะเพราไก่ใส่ข้าวโพดอ่อนถั่วฝักยาว
ตบท้ายด้วยแก้วมังกร 6 -8 ชิ้นคำ หรือชมพู่ 2 ผล
อาหารว่างบ่ายมันต้มขิง หรือขนมจีบหมู 2 ชิ้น พร้อมด้วยส้มเขียวหวาน 1 ผล หรือแตงโมหั่นสามเหลี่ยม 2 ชิ้น
อาหารเย็นข้าวกล้อง ต้มจืดผักกาดขาวไข่น้ำ ปลาผัดขึ้นฉ่าย หรือข้าวกล้อง แกงส้มปลาช่อนผักรวม ผัดกะหล่ำปลีกุ้ง
ตบท้ายด้วยฝรั่งครึ่งผล หรือส้มโอ 2 กลีบ

 

 

ในช่วงอยู่บ้าน14 วัน ควรทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม ครบถ้วน เพียงพอ และหลากหลาย ลดอาหารหวาน มัน เค็ม บริโภคผักและผลไม้รสไม่หวานจัดเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จะเป็นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 

 

 

ข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง