รีเซต

โหวตเลย! เราอยากเป็นคนแบบไหน? ในช่วงวิกฤตโควิด-19 พร้อมวิธีรับมือกับความเครียด

โหวตเลย! เราอยากเป็นคนแบบไหน? ในช่วงวิกฤตโควิด-19 พร้อมวิธีรับมือกับความเครียด
Ingonn
14 มิถุนายน 2564 ( 15:32 )
128
1

 

 

เลือกแล้วมาดูกันว่าเราเป็นคนแบบนั้นหรือเปล่า?

 

 


คนที่ 1 คนที่อยู่ในความกลัวและตื่นตระหนก


- กักตุนเสบียงอาหาร กระดาษชำระ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกินความจำเป็น


- บ่น ตำหนิ แสดงความไม่พอใจ


- ส่งต่อทุกข้อความที่ได้รับโดยไม่พิจารณา


- ส่งต่อความหวาดกลัวและความขุ่นเคืองใจไปยังผู้อื่น


- หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย

 

 


คนที่ 2 คนที่เรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลง


- รับรู้ เข้าใจ ยอมรับอารมณ์ของตัวเอง


- ปล่อยวางในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม


- ไม่หมกมุ่นกับการกระทำที่ส่งผลทางลบต่อตัวเอง เช่น  การเสพข่าว


- ตระหนักรู้ในสถานการณ์ต่างๆ ไตร่ตรองก่อนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร


- ประมวลข้อมูลข่าวสารก่อนส่งต่อ


- ยอมรับว่าทุกคนพยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว

 

 


คนที่ 3 คนที่เติบโตพัฒนา


- ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน วางเป้าหมายไปสู่อนาคต


- ค้นหาวิธีการปรับตัวใหม่ๆ 


- หล่อเลี้ยงความสุขทางใจและจุดประกายความหวัง


- คิดถึงผู้อื่นรวมถึงวิธีการที่จะช่วยเหลือ


- แสดงความเห็นอกเห็นใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 


- แสดงความรู้สึกขอบคุณและชื่นชมผู้อื่น


- ใช้ความสามารถทักษะ ที่มีในการช่วยเหลือผู้อื่น


- หมั่นฝึกตนเองให้มีความสงบเยือกเย็น ความอดทน การสร้างสัมพันธภาพและมีความคิดสร้างสรรค์

 

 

เมื่อเราได้เลือกคนที่เราเป็น และรู้สึกว่าฉันทำได้ดีกว่านี้ หรืออยากปรับเป็นคนที่รู้ทันเหตุการณ์ และไม่ตื่นตระหนกเกี่ยวกับโควิด-19 TrueID ก็มีวิธีที่ช่วยให้เราสามารถมีกำลังใจ จิตใจที่เข้มแข็งผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้

 

 


สร้างจิตใจให้แข็งแรงสู้โควิด-19


คำแนะนำสำหรับประชาชน ในการดูแลจิตใจ ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กับ 9 สิ่งที่ควรทำและ 4 สิ่งที่ไม่ควรทำ 


9 สิ่งที่ควรทำ

 

1. การรับข้อมูล


ควรรับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข มีการใคร่ครวญไตร่ตรองโดยไม่ใช้ความรู้สึกตัดสินจะช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวลโดยใช่เหตุจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

 

 

2. ลดการเสพข้อมูล


การเสพข้อมูลข่าวสารการระบาดของโรคทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ หากเสพข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มากเกินไป จะยิ่งกระตุ้นให้คิดมาก เกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หวาดกลัวตื่นตระหนกมากขึ้น โดยไม่เกิดประโยชน์ในการดูแลตนเอง ครอบครัวและสังคม


การเสพข้อมูลควรเป็นไปเพื่อทราบแนวทางในการป้องกันระมัดระวัง ดูแลตนเองตามหลักอนามัย และปฏิบัติตนกับคนในสังคมได้ถูกต้องเหมาะสม

 

 

3. ใช้ชีวิตให้สมดุลเหมาะสมในการดูแลสุขภาพ 


เช่น การรับประทาน การนอน การออกกำลังกาย การป้องกันการรับเชื้อ/การแพร่เชื้อ ช่วยให้มีพื้นฐานของร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากเชื้อไวรัสนี้

 

 

4. การดูแลอารมณ์ความรู้สึกในช่วงที่มีการแพร่ระบาด


ในช่วงการแพร่ระบาด การเกิดอารมณ์เชิงลบ ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น ความเศร้า ความเครียด ความสับสน ความกลัว ความท้อแท้สิ้นหวัง และความโกรธ

 

แนวทางที่เหมาะสมในการดูแลอารมณ์มีดังนี้


4.1 ตระหนักและยอมรับว่าเรากำลังมีความรู้สึกตึงเครียด เศร้า กังวล กลัว หรือ โกรธ ที่เกิดขึ้นในใจเป็นเรื่องธรรมดา การตระหนัก รับรู้และยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลจิตใจที่ดี เพราะ เราได้รับรู้แล้วว่าใจเราตอนนี้มีอาการอย่างไร และกำลังต้องการการดูแล

 

4.2 หาสาเหตุที่ทำให้เครียด และทำความเข้าใจความเครียดที่เกิดขึ้นในใจ เช่น การทบทวนตนเองว่า เครียดเพราะอะไร กำลังกังวลอะไรในเรื่องนี้ ห่วงอะไร แล้วเขียนสิ่งที่วิตกกังวลต่างๆ ลงในกระดาษ จะช่วยให้ทราบว่า เราวิตกกังวลอะไร ต่อมาเขียนแนวทางในแก้ปัญหานั้นๆ จะช่วยให้เราได้แนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลดการคิดวนเวียน และได้แนวทางที่ดีที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป การทราบสาเหตุ และเข้าใจที่มาของปัญหาความเครียด ความกังวล จะช่วยให้สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

 

4.3 การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ เช่น เพื่อน คนในครอบครัว เป็นการช่วยลดความตึงเครียดในใจที่ดีแบบหนึ่ง และอาจได้รับวิธีในการแก้ปัญหาหรือการดูแลใจที่ดีมากขึ้น

 


5. การตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน


การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตปกติอย่างฉับพลันทั้งการทำงาน การเรียน การดำรงชีพ การถูกจำกัดพื้นที่ ปัญหาขาดแคลน อุปกรณ์ป้องกันความเจ็บป่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถาโถม จนตั้งตัวไม่ติด เพื่อรับมือให้ทันสถานการณ์ การตั้งสติจึงเป็นส่วนสำคัญมากในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

 

การตั้งสติแบบง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีเวลาเกิดความเครียด คือ การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก สัก 10 ครั้ง การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก ช้าๆต่อเนื่อง จะช่วยให้จิตใจเราสงบมั่นคงขึ้น และช่วยให้คิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น

 

 

6. หางานอดิเรกที่เหมาะสม


งานอดิเรกที่เหมาะสม คือ งานอดิเรกที่ทำให้รู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย และอาจช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในบ้าน โดยควรเป็นกิจกรรมที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

 

 

7. การสื่อสารในสังคมออนไลน์


การแชร์ การโพสต์ บทความหรือข่าวสารที่ถูกต้องทางการแพทย์ รวมถึง แนวทางดีๆในการดูแลร่างกายและจิตใจ จะเป็นประโยชน์กับคนในสังคม

 

 

8. เข้าใจความรู้สึกทุกข์ของติดเชื้อโรคโควิด-19 และผู้ที่เกี่ยวข้อง


การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่คาดการณ์และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนมีโอกาสที่จะสัมผัส รับ และแพร่กระจายเชื้อได้ ผู้ที่ติดเชื้อก็มีความทุกข์ใจ กังวลถึงความเจ็บป่วยที่ไม่ทราบว่าจะมีความรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ ควรสื่อความเห็นใจ เข้าใจ ให้กำลังใจแก่ผู้ติดเชื้อ การแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ หมดกำลังใจ จะส่งผลกลับมาที่จิตใจของเราเองในที่สุด

 

 

9. การส่งความใส่ใจ ความปรารถนาดี และการช่วยเหลือดูแลกันในสังคม


เป็นสิ่งที่ช่วยให้ใจของเรา คนใกล้ตัว และคนในสังคม มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในยามที่สถานการณ์มีความยากลำบาก และเป็นหนทางที่ทำให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันได้อย่างมีพลัง

 

 

4 สิ่งที่ไม่ควรทำ


1. ไม่ควรแก้เครียดด้วยวิธีที่มีผลลบต่อร่างกาย และจิตใจ

 

เช่น การใช้บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดอื่นๆ มาเพื่อช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบ เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับตนเองมากขึ้น

 

 

2. การหาคนผิด การด่าว่ากันในสังคม 

 

เช่น ในสื่อสังคมออนไลน์จะกระตุ้นให้เครียดโดยใช่เหตุ และ สร้างบรรยากาศทางสังคมให้ตึงเครียดยิ่งขึ้นแต่ควรนำสิ่งที่ผิดเหล่านั้นมาเรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตเรา และคนที่เรารัก

 

 

3. การแสดงการรังเกียจกันในสังคม โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคโควิด-19


เพราะการแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ เพิ่มความรู้สึกย่ำแย่ในทุกฝ่ายรวมถึงตัวเราเองด้วย

 

 

4. การแชร์ การโพสต์ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง


เพราะจะยิ่งเพิ่มความเข้าใจผิดให้กับคนในสังคม ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดปัญหามากขึ้น

 

 

 


ข้อมูลจาก ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง