รีเซต

ระวัง! “คลัสเตอร์เปิดเทอม” เปิดอาการเด็กติดโควิดที่พ่อแม่ต้องรู้!

ระวัง! “คลัสเตอร์เปิดเทอม” เปิดอาการเด็กติดโควิดที่พ่อแม่ต้องรู้!
Ingonn
15 มิถุนายน 2564 ( 14:46 )
224

 

ช่วงนี้บางจังหวัดที่ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เริ่มเปิดเรียนกันแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 64 โดยที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต่างกังวลใจในการไปโรงเรียนที่อาจทำให้ลูกหลาน ติดเชื้อโควิดกลับบ้านได้ และอาจเกิดคลัสเตอร์ใหม่จากเด็กๆที่ไปเรียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี และยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 ในไทย ที่รับรองให้ฉีดสำหรับเด็กอีกด้วย

 

 


ช่วงนี้อาจเห็นข่าวเด็กติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นพอสมควร พ่อแม่หลายคนมีความกังวลใจว่าจะดูแลลูกๆ อย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยงหรือติดโควิด วันนี้ TrueID จึงพามาสำรวจอาการเด็ก เมื่อต้องติดโควิดจะมีอาการรุนแรงไหม ต้องทำอย่างไรถึงจะลดความเสี่ยง

 

 

 

เด็กติดโควิด-19 จากไหน


1.เยื่อบุตา เช่น เมื่อเด็กๆ ไปจับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรคอยู่แล้วมาขยี้ตา

 


2.จมูก เช่น มื่อเด็กๆ ไปจับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรคอยู่แล้วมาแคะขี้มูกหรือจมูก

 


3.ปาก เช่น นำมือเข้าปาก อมของเล่น หรือใช้ภาชนะร่วมกัน

 

 

 

อาการโควิด-19 ในเด็กมีอะไรบ้าง


1.โควิด-19 สามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต


2.ระยะฟักตัวประมาณ 14 วัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคประมาณ 4-5 วัน หลังสัมผัสโรค เด็กมักติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านที่ติดเชื้อหรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19


3.อาการโควิด-19 พี่พบมากที่สุดคือ ไข้ ไอแห้งๆ และอ่อนเพลีย อาจพบอาการปวดเมื่อย คัดจมูก น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือผื่นตามผิวหนัง สำหรับอาการทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง พบได้เล็กน้อย

 

 

 

โควิด-19 อันตรายสำหรับเด็กแค่ไหน

 

1.เด็กติดเชื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไม่รุนแรง มักพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเด็กเพียงร้อยละ 5  เท่านั้นที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก

 


2.เด็กๆ อาจจะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ สามารถพบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการได้ประมาณร้อยละ 4

 


3.ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อย มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น  เด็กเล็กอายุน้อยกว่า  1 ปี  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว  เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 


4.กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรงในเด็ก ได้แก่ ทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

 


5.อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2

 

 


วิธีสังเกตุเด็กติดโควิดหรือยัง


โดยทั่วไป หากแพทย์จะสงสัยว่าเด็กๆ เข้าข่ายติดโควิด-19 เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 °C (เด็กส่วนหนึ่งอาจไม่มีไข้ รายงานผู้ป่วยเด็กโรคโควิด-19 มีไข้ร้อยละ 40-56 ) ร่วมกับมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หรือหายใจหอบเหนื่อย ร่วมกับในช่วง 14 วันที่ผ่านมามีประวัติเดินทางไปหรือมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อนี้อย่างต่อเนื่อง 

 

 

หรือเด็ก ๆ อาจจะมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เข้าข่ายสงสัยหรือยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน หรือมีประวัติไปในที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด ที่ขนส่งสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ถ้าเด็กมีอาการปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่พบ หรือเป็นปอดอักเสบที่ได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการตรวจเพื่อหาการติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน

 

 

 

เมื่อรู้ว่าติดโควิดให้ทำอย่างไร


เมื่อสงสัยว่าเด็กๆ เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ


1. โทรสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (24 ชั่วโมง) ซึ่งหากเด็ก เข้าเกณฑ์จะมีการประสานรถพยาบาลไปรับถึงที่พัก เพื่อไปทำการตรวจยืนยัน

 


2. ควรเดินทางไปที่สถานพยาบาลด้วยยานพาหนะส่วนตัว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองต้องแจ้งให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทราบว่าเด็กมีความเสี่ยงหรือสัมผัสกับผู้ที่เป็นโควิด-19

 

 


หากไม่มีอาการ ควรตรวจโควิด-19 หรือไม่

 

หากเด็กไม่มีอาการ ไม่จำเป็นตรวจหาสารพันธุกรรมของโรคโควิด-19 เนื่องจากการตรวจขณะไม่มีอาการแล้วไม่พบเชื้อ อาจเข้าใจผิดว่าไม่เป็นโรคนี้  ทำให้ขาดความระมัดระวังในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมาก แออัด กลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคด้วย

 

 

 

“การล้างมือ” ป้องกันการติดเชื้อสำหรับเด็ก


มาตรการป้องกันที่สำคัญก็คือ “การล้างมือ” ซึ่งอาจทำได้ 2 วิธีคือ


1.ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ แต่จะต้องล้างเป็นเวลานานอย่างน้อย 20 วินาทีหรือให้เด็ก ๆ ร้องเพลง happy birthday 2 รอบก็จะครบ 20 วินาทีพอดี

 


2.ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 60 % โดยเน้นการล้างมือบ่อย ๆ หลังจากที่มีการไอ จาม ก่อนการรับประทานอาหาร หลังจากการเข้าห้องน้ำ หลังจากที่มีการสัมผัสกับผู้เจ็บป่วย หรือผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ภายหลังจากการสัมผัสสัตว์หรือซากสัตว์ และที่สำคัญภายหลังที่กลับมาจากที่สาธารณะหรือที่ชุมชนรวมเมื่อถึงที่บ้าน ควรจะรีบล้างมือทันที

 

 

 

มาตรการป้องกันทั่วไป


1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะการขยี้ตา จมูก ปาก

 


2.ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น  แก้วน้ำ จาน ช้อนส้อม เป็นต้น

 


3.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ไม่สบาย หรือผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ควรอยู่ห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร

 


4.หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยง

 


5.พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าสู่ชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น

 


6.ไม่ควรพาเด็ก ๆ ไปที่ตลาดหรือที่ที่มีการขายซากสัตว์หรือสัตว์ป่า

 


7.หากเด็กๆ ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง จะต้องหยุดเรียนหรือหยุดไปเนอสเซอรี่ และไม่พาไปในที่สาธารณะหรือที่ชุมชนเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

 

 


วัคซีนป้องกันโควิดสำหรับเด็ก


สำหรับวัคซีนที่ป้องกันแทนได้โดยตรง ปัจจุบันยังไม่มี แต่ในเด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนหลักและวัคซีนเสริมป้องกันตามตารางทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อลดการติดเชื้อรุนแรงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจซึ่งจะสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากในทุกๆ ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ได้บ่อย จึงแนะนำให้ฉีดปีละครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย หรือการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (IPD) ซึ่งวัคซีน 2 ตัวนี้ เป็นวัคซีนที่ช่วยระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน

 

 


ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลศิครินทร์ 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง