รีเซต

วิธีลดเครียด “เรียนออนไลน์” ในช่วงโควิด-19 ระบาด

วิธีลดเครียด “เรียนออนไลน์” ในช่วงโควิด-19 ระบาด
Ingonn
29 มิถุนายน 2564 ( 12:18 )
6.5K
วิธีลดเครียด “เรียนออนไลน์” ในช่วงโควิด-19 ระบาด

 

การเรียนออนไลน์สำหรับเด็ก เป็นสิ่งที่สร้างความเครียดให้แก่เด็กได้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการเรียนผ่านจอคอมพิวเตอร์ ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเหมือนในห้องเรียน และการบ้านที่คุณครูให้ ความเข้าใจในการสอนที่ไม่สามารถยกมือถามได้ทันที ไหนจะรวมถึงมุมเรียนออนไลน์ที่บ้านที่อาจทำให้เสียสมาธิอีก เรียกว่าเด็กรุ่นนี้ต้องเผชิญอุปสรรคในการเรียนมากมาย จึงทำให้เกิดภาวะเครียดได้ง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม

 

 

แม้กระทรวงศึกษาธิการ จะออกแบบการเรียนรู้ไว้ 5 รูปแบบ คือ On-site,On-air, On-demand,Online และ On-hand ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทำให้เด็กได้ความรู้อย่างเต็มที่ เหมือนกับเรียนในสถานการณ์ปกติ วันนี้ TrueID จึงรวบรวมวิธีการลดความเครียดในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กๆที่ต้องเรียนในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

 

 


การเรียนการสอนแบบออนไลน์มีองค์ประกอบ ได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหา สื่อการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการติดต่อสื่อสาร ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การวัดและการประเมินผล

 

 

และเมื่อการเรียนออนไลน์มีบทสรุปเหมือนกับการเรียนปกติ ก็คือ ตัดสินกันที่การวัดและประเมินผลแบบเดิม ซึ่งกลายเป็นเรื่องหนักหน่วงของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเด็ก มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ใช่ทุกข์ใจแค่การเรียนออนไลน์ การทำงานที่มากขึ้น แต่การสอบกลายเป็นเรื่องหนักสุด

 

 

ซึ่งมาจากประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์ที่เด็กส่วนใหญ่อยากเรียนที่โรงเรียนมากกว่า ทำให้เด็กจำนวนมากถอดใจยอมถอยจากระบบ ออกจากโรงเรียนกลางคัน ในขณะที่ระดับมหาวิทยาลัยก็ดรอปไว้ก่อน

 

 


เจาะปัญหาในการเรียนออนไลน์ในเด็ก


1.ปัญหาโภชนาการในเด็กนักเรียน ซึ่งโรงเรียนจะเป็นผู้ดูแลอาหารการกินเพื่อให้ได้ครบหมู่ ในอาหารเช้า-กลางวัน ของเด็กนักเรียนทุกวัน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพดี มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่ม แต่เมื่อเด็กนักเรียนเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ไม่ได้มาโรงเรียน ส่วนนี้จะขาดผู้ดูแล เด็กนักเรียนที่ยากจน ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลามาใส่ใจดูแลเรื่องอาหารการกินเพื่อเสริมสุขภาพและปัญญา สมองแก่เด็กเท่าที่ควร 

 

 

2.หลักสูตรเนื้อหาวิชาเรียน จะต้องมีการตระเตรียม ปรับปรุงหลายอย่างให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาเรียนในหลักสูตรวิชาที่จะจัดการเรียนการสอนจะต้องลดลง เช่นเรื่อง ศาสนา กีฬา กระบี่กระบอง ฯลฯ เพื่อไม่ให้มีรายวิชามากเกินไปจะทำให้นักเรียนเบื่อเรียนทางออนไลน์ได้ วิชาดังกล่าวให้เด็กไปหาความรู้เอาเองจากสโมสร วัด ชุมชน ซึ่งเด็กจะได้ความรู้และประสบการณ์จริงมากกว่าการเรียนการสอนจากออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เด็กกล้าตัดสินใจด้วยตนเองในยามจำเป็น

 

 

3.เด็กนักเรียนยากจนทั่วประเทศ World Bank เคยสำรวจก่อนเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 World Bank เป็นห่วงเด็กนักเรียนไทยที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มี โทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีทีวี คือเป็นเด็กยากจน เขาพุ่งเป้าความห่วงใยมาที่เด็กนักเรียนสอง ระดับเป็นหลักคือเด็กประถม (รวมเด็กปฐมวัยในอนุบาล) กับเด็กมัธยมต้น เด็กสองกลุ่มนี้เป็นรากฐานการเรียน และพัฒนาการต่อไปทุกด้าน ซึ่งจะไม่มีโอกาสได้เข้าถึงในการเรียนการสอนออนไลน์ เหมือนเด็กกลุ่มอื่นๆ

 

 

4.เนื้อหาในการสอนเด็กนักเรียนให้สนใจเรียน รายวิชาที่เรียน จะต้องมีเนื้อหา โคยครูผู้บรรยายต้องมีวิธีการสอนชวนให้เด็กสนใจติดตาม และให้นักเรียนมีสมาธิเรียนอยู่กับที่ไม่ลุกหนีไปไหน เพราะธรรมชาติของเด็กนักเรียนระดับประถมและชั้นมัธยมต้น มักจะซุกซน เล่นโน่นเล่นนี่ตามประสา ในหลายประเทศใช้ระบบออนไลน์กับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายกับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพราะเด็กโตสามารถคุมตัวเองได้ ไม่เหมือนเด็กเล็กยังต้องพึ่งครู 

 

 

5. ปัญหาทางสายตา การเรียนการสอนทางออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัย ที่จะนั่งจ้องอยู่หน้าจอนานๆ หรือดูโทรศัพท์มือถือทั้งวัน 

 

 

6. วินัยของเด็ก ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เมื่อเด็กนักเรียนเรียนหนังสือทางออนไลน์ เกรงจะควบคุมตนเองไม่อยู่ พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาอยู่เป็นเพื่อนกับลูกที่บ้าน เพราะต้องออกไปประกอบอาชีพ เด็กจะเป็นอิสระไม่มีใครมาดูแลบังคับ พ้นหูพ้นตาครูอาจารย์ ก็จะเปิดเกมเล่นแทนการเรียน 

 

 

 

เด็กต้องเจออะไรบ้างจากการเรียนออนไลน์


1.กังวลเรื่องการเข้าสังคมกับเพื่อนและคุณครู 

 


2.รู้สึกเครียดและกดดันเมื่อต้องเรียนอยู่หน้าจอนานๆ 

 


3.กลัวติดเชื้อโควิด-19 หากต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน

 


4.ไม่มีสมาธิเหมือนเรียนในห้อง จากสภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในเนื้อหาที่เรียน

 


5.อุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ไม่มีคุณภาพ รวมถึงคุณภาพของภาพและเสียงในการเรียน

 

 


จับสัญญาณความเครียดของเด็ก


1.พฤติกรรมการกินว่าผิดปกติจากเดิมไหม กินเยอะขึ้นหรือกินน้อยลง จนน้ำหนักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือเปล่า 

 


2.พฤติกรรมเข้าสังคม ยังพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเหมือนเดิมไหม 

 


3.พฤติกรรมการนอน แต่ละวันสามารถนอนหลับได้ไหม นอนหลับได้คุณภาพหรือเปล่า นอยเยอะผิดปกติไหม 

 


4.มีความรู้สึกเศร้า ซึม เครียด ผิดหวังมากกว่าปกติไหม 

 


5.เริ่มโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ยากขึ้น เสียสมาธิง่ายขึ้น 

 

 

 

ผู้ปกครองช่วยลดความเครียดได้


ผู้ปกครองควรจัด “ตารางกิจกรรม” ระหว่างวันให้เด็กแบบชัดเจนในกรณีของเด็กเล็ก โดยชวนเด็กมาร่วมคิดออกแบบ เช่น เวลาตื่น เรียน เล่น กินอาหาร อาบน้ำและพักผ่อนเข้านอน เพราะเด็กเล็กจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่อมีตารางประจำวัน ทำกิจวัตรซ้ำๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไปมา ส่วนเด็กๆ ที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนตามปกติ

 

 

โดยผู้ปกครองอาจชวนคุยทบทวน วิธีดูแลตัวเองในช่วงโควิด-19 ใช้คำถามเชิงบวก เช่น รู้สึกอย่างไร กังวลอะไรบ้างเมื่อต้องไปโรงเรียน และให้เด็กทบทวนวิธีดูแลตัวเอง

 

 

หากครอบครัวเข้าใจ เด็กก็จะลดความกดดันไปได้มาก อีกเรื่องที่ทำได้คือ คอยสอดส่องดูความเป็นอยู่ พฤติกรรมการกิน การนอน การปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ถ้าสังเกตเห็นว่ามีความผิดปกติบางอย่าง ลองชวนเขาพูดคุย พูดระบายความเครียด แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นจนครอบครัวไม่รู้จะรับมืออย่างไร ก็พาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

 

 


ผู้ปกครองอย่าลืมช่วยเตรียมความพร้อมเรียนออนไลน์


1. ประสานกับสถานศึกษาในรูปแบบการเรียนการสอน (ตารางเรียน,การมอบหมายงาน ฯลฯ)

 


2. จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเรียนให้พร้อม (คอมพิวเตอร์,โทรศัพท์มือถือ,ทีวี ฯลฯ)

 


3. จัดสภาพแวดล้อมบรรยากาศการเรียน

 


4. ควบคุมเวลาในการเรียนและดูแลพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์

 


5. ประสานกับครูประจำชั้นอย่างสม่ำเสมอ ในการอัพเดทข้อมูลต่างๆ ของบุตรหลาน

 


6. มีช่วงเวลาผ่อนคลายหรือเสริมกิจกรรมที่ชอบ หลังจากการเรียนเสร็จสิ้น

 

 

“เด็กเล็ก” เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเอาใจใส่มากที่สุด เพราะไม่ใช่วัยที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง และไม่ควรต้องอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดความเครียด จัดมุมเรียนให้น่าเรียน มีอากาศถ่ายเท ทำให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อเมื่อต้องเรียนทั้งคาบเช้าและบ่าย ส่วนเด็กเล็กอย่าลืมจัด “มุมเล่น” บริเวณรอบบ้าน หรือในบ้าน เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ได้ใช้จินตนาการและปลดปล่อยความเครียด หลังจากเรียนหนังสือ

 

 

 


 ข้อมูลข่าว สสส. , กรมสุขภาพจิต ,บทสัมภาษณ์การรับมือกับสภาวะจิตใจเป็นพิษจากการเรียนออนไลน์ :โดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์ thisable

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง