รีเซต

ช่วงนี้ทุกคนก็ลำบาก! สะท้อนวิกฤตที่ไทยต้องเจอ เมื่อโควิด-19 ทำให้ทุกคนเข้าใจความลำบากแทบกระอัก!

ช่วงนี้ทุกคนก็ลำบาก! สะท้อนวิกฤตที่ไทยต้องเจอ เมื่อโควิด-19 ทำให้ทุกคนเข้าใจความลำบากแทบกระอัก!
Ingonn
23 สิงหาคม 2564 ( 13:14 )
523

เมื่อไหร่จะหมดโควิด-19 คงเป็นคำถามที่ทุกคนรอคอยคำตอบกันมากที่สุดว่า โรคระบาดนี้ จะหมดสิ้นเมื่อไหร่ เพราะตั้งแต่มี “โควิด-19” เข้ามา ธุรกิจ ร้านค้า สำนักงาน เรียกได้ว่าทุกอาชีพ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทำให้คนไทยต้องเผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การประคองให้ธุรกิจอยู่รอด และการทำให้ร่างกายไม่เสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิดอีกด้วย 

 

 

วันนี้ TrueID จะพามาสะท้อนปัญหาที่คนไทยต้องเจอ เมื่อโควิด-19 ทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่า “ลำบาก” ยิ่งกว่าครั้งไหนๆ จะมีปัญหาความลำบากอะไรบ้าง ไปลองดูกัน

 

 

 

1.ความลำบากจากการ “ติดเชื้อโควิด-19”


มีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ต้องติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ได้รับการรักษาตามระบบสาธารณสุขและไม่ได้รับการรักษา ซึ่งโรคโควิด-19 เป็นวิกฤตสุขภาพของคนทั่วโลก ที่การแก้ไข ยารักษา ยังต้องคงวิจัยอย่างต่อเนื่อง และการกลายพันธุ์ของโควิดแต่ละสายพันธุ์ ทำให้คนเราติดกันง่ายขึ้น ป่วยกันง่ายขึ้น และเสียชีวิตได้รวดเร็วขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

 

 


2.ความลำบากจากการ “ตกงาน ไม่มีงานทำ ว่างงาน”


เป็นเรื่องจริงที่หลายคนต้องเจอกับการตกงาน ไม่มีงานทำ และว่างงาน ถูกบริษัทเลิกจ้าง หรือต้องปิดกิจการเพราะสู้พิษโควิดไม่ไหว โดย ธปท. ได้ระบุว่า ตกงาน ไม่มีงานทำ ว่างงาน ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกสามรุนแรงกว่าระลอกสองเสียอีก พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย มียอดขายลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาปกติ ขณะที่ ผู้ขับแท็กซี่ ได้รับผลกระทบจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่ใช้บริการเหมือนแต่ก่อน เพราะกลัวติดโควิด ทำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น

 

 

ด้านเว็บไซต์จ็อบดีบี รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1.96 ขณะที่แนวโน้มการหางานในช่วงไตรมาสที่ 4 จะหายากขึ้น โดยได้ส่งผลกระทบกระจายไปทุกกลุ่ม ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายย่อย ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วน ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ การเดินทางและการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการเฉพาะกิจ สินค้าอุตสาหกรรม บริการด้านอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์ และขายปลีก

 

 


3.ความลำบากจาก “ความเหลื่อมล้ำ”


สังคมไทยมีช่องว่างทางรายได้ ที่มีความเหลื่อมล้ำ และมีช่องว่างทางความคิดอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากคนชั้นกลางในเมืองต้องการนโยบายที่คุมเข้ม ห้ามออกนอกบ้าน เพราะสามารถอยู่ได้และต้องการความปลอดภัย ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะต้องทำมาหากินไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะตายได้ ช่องว่างระหว่างคน 2 กลุ่มนี้ชัดเจนและควรต้องมีการประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่นำไปสู่การเผชิญหน้า

 

 


4.ความลำบากจาก “ระบบสาธารณสุขทำงานหนัก”


ด่านหน้าอย่าง บุคลาการทางการแพทย์ ต้องทำงานหนักมากขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในการควบคุม ดูแลมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ในการนำไปปฏิบัติ ซึ่งการรวมศูนย์ที่รัฐบาลกลางอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีอีกต่อไป

 

 


5.ความลำบากจาก “การใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”


ในเมื่อโควิด-19 ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คนเราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในรูปแบบนิวนอร์มอล (New Normal) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน (WFH) การเรียนออนไลน์ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใกล้ชิดกับผู้อื่น การรักษาระยะห่าง ซึ่งการใช้ชีวิตนิวนอร์มอล ไม่ได้เพียงแค่ช่วยป้องกันโรคโควิด แต่บางอย่างต้องแลกมากับการเสียเงินซื้อด้วย 

 

 


6.ความลำบากจาก “สุขภาพจิตติดลบ”

 

ประชาชนส่วนหนึ่งอาจมีความกังวลมากขึ้นจากสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มตลอดเวลาที่ผ่านมา รวมถึงยังมีหลายคนต้องสูญเสียบุคคลที่ตนเองรักหรือสมาชิกในครอบครัวไปจากโควิด-19 ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้อย่างมาก และอาจเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตได้ในระยะยาว แม้ว่าคนไทยปรับตัวรับมือสถานการณ์ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ก็ยังมีหลายรายที่ยังวิตกกังวลในการติดเชื้อโควิดอยู่จำนวนไม่น้อย

 

 


7.ความลำบากจาก “การเข้าถึงวัคซีนโควิด”


ยังมีประชาชนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังไม่ได้รับแม้วัคซีนเข็มแรก เนื่องจากการลงพื้นที่ การประชาสัมพันธ์นัดหมายฉีดวัคซีนยังเข้าถึงไม่เพียงพอ เพราะการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่มักเป็นระบบการลงทะเบียนจองวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหลักอย่าง แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวคหรือไฟเซอร์ จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เว็บไซต์ แต่ยังมีคนที่ไม่ได้สิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีอีกมาก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ขาดการเข้าถึงวัคซีนโควิด

 

 

 

8.ความลำบากจาก “เศรษฐกิจที่แย่ลง”


มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นส่งผลกระทบทันทีในทุกภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคการค้าและบริการขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในโรงงานบ้าง เช่นเดียวกับภาคก่อสร้างที่มีการปิดแคมป์ก่อสร้าง แม้ว่าที่ผ่านมามาตรการทางการเงินเป็นการเสริมความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องหรือบรรเทาภาระหนี้ชั่วคราวซึ่งอาจได้ผลจำกัด รวมทั้งไม่สามารถช่วยได้ครบทุกกลุ่ม ซึ่งปัญหาสำคัญอยู่ที่การขาดรายได้

 

 

 


เมื่อมองถึงมาตรการรัฐที่ผ่านมา อย่างโครงการ คนละครึ่ง เราชนะ หรือ มาตรการเงินเยียวยาโควิด-19 ต่างๆ มีส่วนช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพอิสระที่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายเล็ก หาบเร่แผงลอย ได้เป็นอย่างดีในช่วงวิกฤตโควิด แต่มาตรการเหล่านี้ ใช้เพียงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดซี่งทำได้เพียงช่วงระยะเวลาหนี่งเท่านั้น ทางออกหลักที่จะพาเราทุกคนรอดได้คือ การฉีดวัคซีน เพราะจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ และลดภาระทางการคลังในการเยียวยา รวมไปถึงลดผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจและตลาดแรงงานได้ในระยะยาว

 

 


เราจะกลับมาใช้ชีวิตกันปกติได้เมื่อไหร่?


1.ระยะเวลาที่ประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติยังมี ความไม่แน่นอนสูง แม้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงต่ำกว่า 500 ราย

 


2.ภาคธุรกิจและครัวเรือนส่วนใหญ่ประเมินว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ในปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่แตกต่างกันออกไป

 


3.ภาคธุรกิจประเมินว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่าภาคครัวเรือน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่หวังว่าประชาชนจะกลับมาท่องเที่ยวได้ใน Peak season ภายใต้เงื่อนไขยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่สูงกว่าภาคประชาชน

 


4.ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเปิดรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่าภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่มองว่าจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ก็ต่อเมื่อยอดผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 50 รายต่อวัน โดยครัวเรือนในจังหวัดพื้นที่สีแดงสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่า

 

 

 

 

ดังนั้นความพร้อมด้านสาธารณสุขคือสิ่งสำคัญ ทั้งกำลังการตรวจและการรักษา ภาครัฐควรเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง แทนมาตรการควบคุมที่เข้มงวดซึ่งอาจจำเป็นในระยะสั้นแต่ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ จำกัดให้กระทบภาคท่องเที่ยวน้อยที่สุด หากโครงการนำร่อง sandbox ถูกกระทบ จะยิ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวในระยะยาว

 

 

ที่สำคัญจะต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน เนื่องจากการะบาดระลอกล่าสุดมีแนวโน้มจะยาวและกระทบเป็นวงกว้างกว่าระลอกก่อนๆ โดยต้องคำนึงถึงการใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น เตรียมช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

 

 

 

 

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) , กรมสุขภาพจิต

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง