สิทธิประกันสังคมในการทำฟัน ครอบคลุมอะไรบ้าง ดัดฟัน จ่ายหรือไม่?
สิทธิประกันสังคมในการทำฟัน ครอบคลุมอะไรบ้าง ดัดฟัน จ่ายหรือไม่? หลายคนไม่ทราบว่าทำไมทุกเดือนเราต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเราจะได้อะไรกลับมาบ้าง และในวันนี้ trueID จะพาไปรู้จักหนึ่งในสิทธิที่จะได้รับนั่นก็คือสวัสดิการด้าน "การทำฟัน"
สิทธิประกันสังคมในการทำฟัน
ประกันสังคม ทำฟันได้ ใครมีสิทธิ์
ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมจะได้รับสิทธิ์ทำฟันเลย แต่คนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทำฟันประกันสังคมนั้น จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 เท่านั้น ไม่รวมผู้ประกันตนมาตรา 40 และที่สำคัญคือ จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับบริการทำฟัน โดยจะเป็นช่วงเดือนไหนก็ได้
ส่วนกรณีที่เราได้ลาออกจากที่ทำงาน แต่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือนแล้ว ก็ยังสามารถเข้ารับบริการทำฟันได้ เพราะสิทธิประกันสังคมในการทำฟันจะยังคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออก
ประกันสังคมครอบคลุมการทำฟันอะไรบ้าง?
- การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาท/ครั้ง/ปี
- กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วนให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) 1-5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
(ข) มากกว่า 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
(ข) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท
ดัดฟัน ประกันสังคมจ่ายหรือไม่?
จัดฟัน และรักษารากฟัน ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้
ปัจจุบันไม่ต้องสำรองจ่าย การทำฟันแล้ว
หากเป็นการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ ไม่ต้องสำรอจ่ายแล้ว ถ้าเป็นสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชน ตอนนี้ได้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าสถานพยาบาลแห่งไหนที่ไม่ต้องสำรองจ่าย จากป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า "สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย"
แต่ถ้าเป็นกรณีฟันปลอม ไม่ว่าจะเป็นถอดได้บางส่วน หรือถอดได้ทั้งปาก ยังต้องสำรองจ่ายไปก่อนเหมือนเดิมนะ แล้วถึงไปยื่นเบิกเงินกับประกันสังคมทีหลัง
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
- ใบรับรองแพทย์
- ใบเสร็จรับเงิน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา(กรณีเบิกฟันปลอมฐานอคริลิก)
- กรณีขอรับเงินทางธนาคาร ให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี 11 ธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารออมสิน (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
สถานที่ยื่นเรื่อง
ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
ข้อมูล : ประกันสังคม
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<