รีเซต

ปวดหัวหนัก แขนขาชา หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 มาจากความเครียดรึเปล่า

ปวดหัวหนัก แขนขาชา หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 มาจากความเครียดรึเปล่า
Ingonn
11 มิถุนายน 2564 ( 10:48 )
6.4K
ปวดหัวหนัก แขนขาชา หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 มาจากความเครียดรึเปล่า

 

ช่วงนี้หลายๆคนคงได้รับวัคซีนโควิด-19 กันไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งหลังฉีดบางรายอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น เป็นไข้ มีอาการอ่อนเพลีย หรือปวด ชาตามร่างกาย ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ อาจเป็นอาการเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนก็ได้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับอาการแพ้วัคซีน

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมาสำรวจร่างกายตัวเองให้ชัดว่า อาการปวดหัว หรือ อาการต่างๆที่เกิดขึ้นหลังรับวัคซีนใช่อาการ Immunization Stress Related Response หรือ ISRR ปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน หรือเปล่า

 

 


ปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน คืออะไร


เป็นปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นจากจิตใจที่มีความวิตกกังวล และแสดงออกมาทางร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นได้และมีอาการไม่เหมือนกันในแต่ละคน เมื่อมีความเครียดต่อการฉีดวัคซีน ก็จะไปกระตุ้นระบบต่างๆ ในร่างกาย บางคนไปกระตุ้นระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด (stress hormone) เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล และหากไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ก็จะทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละคนแตกต่างกัน

 

 

ขณะนี้วัคซีนโควิด 3 กลุ่ม คือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย อย่างซิโนแวค วัคซีนชนิด Viral vecto vaccine อย่างแอสตราเซเนกา และวัคซีนชนิด RNA อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา และสปุตนิก สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากการรับวัคซีนนั้น สามารถแบ่งออกเป็นอาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้วัคซีน ซึ่งอาการแพ้วัคซีนจะคล้ายคนแพ้อาการ แพ้อาหาร ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากตัววัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน หรือเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายผู้รับวัคซีน ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

 

 

อาการเครียดหลังฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร


ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเร็วภายในไม่กี่นาทีหลังการฉีดวัคซีน แต่บางรายอาจเกิดช้า เป็นชั่วโมงหรือเป็นวันภายหลังการฉีดวัคซีน และอาการมักจะหายไปภายใน 1-3 วัน  ซึ่งจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในผู้ที่อายุน้อยและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก

 

 

 

สังเกตุลักษณะอาการ


1.มีอาการชาอย่างเดียว


2.ปวด เสียว ชา หรือ แปล๊บๆ ตามแขนขา ชารอบปาก


3.พูดไม่ชัดอย่างเดียว


4.Transient abnormal movement เช่น เกร็ง กระตุก


5.ง่วง


6.อ่อนแรง  หรืออ่อนเพลีย


7.มึนหรือเวียนศีรษะ


8.ตามัว

 

 

ปัจจุบันจึงมีข้อแนะนำเมื่อพบผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการทางระบบประสาทหลังรับวัคซีน เช่น ชา อ่อนแรง ตามัว ต้องทำอย่างไร ซึ่งต้องมีแพทย์มาประเมินและให้คำแนะนำว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมาจาก ISRR หรือเกิดจากปัญหาอย่างอื่น เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง หรือมีเลือดออก เพราะเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งมีน้อยมากกรณีแบบนี้ในต่างประเทศ และในไทยก็ยังไม่มี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าหลังฉีดวัคซีนต้องสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที

 

 

 

เตรียมรับมือเหตุการณ์ ISRR


1.อยู่ในที่ที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป เพื่อลดความวิตกกังวล


2.ก่อนฉีดวัคซีนควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด


3.หากมีร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความวิตกกังวล หรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ที่ไม่มีความพร้อมในการรับวัคซีน ควรพิจารณาเลื่อนนัดการบริการไปก่อน


4.รู้เท่าทันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนถึงประโยชน์และประสิทธิภาพของวัคซีน และอาการที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีน เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดหรือมีไข้ หรือบางคนอาจมีอาการเพลีย อ่อนแรง หรืออื่นๆ อาการมากน้อยแตกต่างกัน โดยอาการมักจะหายไปได้ภายใน 1 - 2 วัน โดยไม่มีอันตราย


5.รอสังเกตอาการ 30 นาที หลังฉีดวัคซีน

 

 


อาการแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 


1.ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง


2.เหนื่อยแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่ออก


3.อาเจียน มากกว่า 5 ครั้ง


4.ผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก


5.มีจุดหรือจ้ำเลือดออกจำนวนมาก


6.หน้าเบี้ยว หรือ ปากเบี้ยว


7.แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้


8.ต่อมน้ำเหลืองโต


9.ชัก หรือหมดสติ

 

 

 

 

ข้อมูลจาก พญ. สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช , Hfocus , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง