รีเซต

สรุปทุกปัญหา “การฉีดวัคซีนโควิด-19” ปลอดภัยไหม? ใครต้องควรระวัง?

สรุปทุกปัญหา “การฉีดวัคซีนโควิด-19” ปลอดภัยไหม? ใครต้องควรระวัง?
Ingonn
7 มิถุนายน 2564 ( 23:06 )
1.4K

เมื่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าจับตา เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับการแพ้วัคซีนเป็นจำนวนมาก สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ที่จะเข้ารับการฉีด ทำให้หลายคนเริ่มมีความสงสัยว่าวัคซีนโควิดที่เรากำลังจะได้ฉีดนั้น มีอะไรต้องพึงระวังหรือไม่ 

 

 

วันนี้ True ID ได้รวบรวมคำถาม พร้อมแนวทางการแก้ไขจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมาไว้ให้เป็นคู่มือเตรียมพร้อมแก่ผู้ที่จะต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ยังคงมีคำถามคาใจ

 

 

20 Q&A คลายข้อข้องใจเกี่ยวกับ“การฉีดวัคซีนโควิด-19”

 

1.ผู้ป่วยเป็นมะเร็งแบบไหน ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน

ตอบ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างรักษาด้วยเคมีบำบัด

 


2.ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนมีอะไรบ้าง

ตอบ ควรฉีดในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมรับมืออาการแพ้วัคซีนรุนแรงและควรเฝ้าระวังหลังฉีดอย่างน้อย 30 นาที

 


3.ถ้าฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด-19 จะทำอย่างไร

ตอบ อาจติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนที่อ่อนแอ

 


4.สามารถฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คอตีบ บาดทะยัก หัดเยอรมัน ในระยะใกล้เคียงวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

ตอบ แนะนำให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์

 


5.หากถูกสัตว์กัด หลังฉัดวัคซีนโควิด-19 สามารถไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่

ตอบ ได้ ควรรีบฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว เพราะพิษสุนัขบ้าอันตรายมากกว่า

 


6.ถ้าเคยติดโควิด-19 แล้ว การรับวัคซีนจะอันตรายหรือไม่

ตอบ ไม่อันตราย แต่ควรฉีดหลังจากติดเชื้อ 3-6 เดือน และอาจฉีดเพียง 1 เข็ม

 


7.วัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดสลับยี่ห้อกันได้หรือไม่

ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษา จึงแนะนำให้ฉีดยี่ห้อเดียวกันไปก่อน

 


8.วัคซีนโควิด-19 มีเกณฑ์ทดสอบอย่างไรก่อนการใช้จริง

ตอบ วัคซีนทุกชนิดต้องผ่านเกณฑ์ของอนามัยโลกและ อย. ต้องมีการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ทดสอบในสัตว์ทดลอง รวมถึงทดสอบในมนุษย์ 3 ระยะ

 

 

9.แอปพลิเคชันหมอพร้อมมีประโยชน์อย่างไร

ตอบ 1.เลือกโรงพยาบาลและนัดฉีดวัคซีนโควิด-19

2.ให้ข้อมูลอาการแพ้

3.ติดตามผลข้างเคียง

4.เตือนการฉีดเข็มที่ 2 

 

 

10.วัคซีนโควิด-19 จะป้องกันเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ได้หรือไม่

ตอบ การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้สายพันธุ์อังกฤษ โดยไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายได้รวดเร็วมากขึ้นและกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน อย่างไรก็ตามคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนต่อไปในประเทศที่พบว่ามีไวรัสป่วยรุนแรงสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เนื่องจากพบว่าวัคชื่นยังมีประโยชน์ในการป้องกันการป่วยรุนแรง

 

 

11.วัคซีนโควิด-19 ที่นำเข้ากับวัคซีนที่ผลิตในไทยมีคุณภาพเท่าเทียมกันหรือไม่

ตอบ มีคุณภาพเท่าเทียมกัน โดยวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยโดยบริษัท Siam Bioscience ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท AstraZeneca เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

 

12.วัคซีนโควิด-19 เป็นฮาลาลหรือไม่

ตอบ ผู้ผลิตวัดชื่น AstraZeneca, Pfizer-BioNTech และ Moderna ยืนยันว่า วัคซีนไม่ได้มีส่วนผสมใดจากผลิตภัณฑ์ที่มีสัตว์เป็นองค์ประกอบและไม่มีเจลาตินจากสุกร ในขณะที่องค์กรศาสนาอิสลามสูงสุดของประเทศอินโดนีเซียรับรองวัคซีน Sinovac ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาล เช่นเดียวกับสมาคมแพทย์อิสลามแห่งสหราชอาณาจักร (British Islamic MedicalAssociation ที่ให้การรับรองวัคซีนโควิด-19

 

 

13.วัคซีนโควิด-19 จะช่วยป้องกันโควิดไปได้นานแค่ไหน ต้องฉีดกระตุ้นเมื่อไหร่

ตอบ เนื่องจากเป็นวัดซีนใหม่ที่มีการใช้ไม่นาน องค์ความรู้ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่า ภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนโควิด-19 จะอยู่ในร่างกายได้นานเท่าใด จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า ควรมีการฉีดกระตุ้นอีกเมื่อใด แต่ในเบื้องต้นพบว่า การติดเชื้อตามธรรมชาติ มีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 6 ถึง 8 เดือน

 

 

14.ต้องฉีดวัคซีนคนในประเทศมากแค่ไหนถึงจะควบคุมโรคได้

ตอบ ควรฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากจนเกิดปรากฏการณ์ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) กล่าวคือในสังคมนั้นมีประชากรที่มีภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมากพอ หากมีผู้ติดเชื้อเข้ามาในชุมชน จะไม่สามารถแพร่กระจายโรคได้ 

 


15.วัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศไทยใช้ยังไม่สิ้นสุดการทดลอง จริงไหม

ตอบ วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนได้ผ่านการวิจัยทดสอบครบทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลองในมนุษย์ทั้งสามระยะ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตและรัฐบาลยังจำเป็นต้องเก็บข้อมูลทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ต่อไป 

 


16.วัคซีนแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพและคามปลอดภัยต่างกันหรือไม่

ตอบ วัคซีนแต่ละชนิดมีผลการวิจัยด้านประสิทธิภาพแตกต่างกัน ตามระเบียบวิธีวิจัยที่ออกแบบมาของแต่ละบริษัท เช่น การวัดผลของวัคซีนในการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน การกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกัน รวมทั้งการเกิดการกลายพันธุ์ในหลายพื้นที่ ดังนั้นการแปลผลเพื่อพิจารณานำวัคซีนมาใช้ จึงไม่สามารถพิจารณาเพียงตัวเลขประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวต้องวิเคราะห์บริบทแวดล้อมและระเบียบวิธีวิจัยด้วย


สำหรับวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทยทั้งสองชนิด มีข้อมูลความปลอดภัยที่ดี อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่เป็นอาการเฉพาะที่และหายได้เอง ปัจจุบันยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงในอัตราที่สูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นที่ใช้อยู่ทั่วไป

 

 

17.ใครควรได้รับวัคซีนโควิด-19

ตอบ ประชากรคนไทยทุกคน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คาดว่าประมาณไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 จะมีวัคซีนเพียงพอ จนสามารถขยายการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มต่างๆได้ครบถ้วน

 

 

18.ใครที่ไม่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19

ตอบ ใครก็ตามที่มีไข้สูงในวันนัดหมายฉีดวัคซีน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน หากมีไข้ต่ำๆหรือ เจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ควรเลื่อนฉีด สำหรับผู้มีโรคประจำตัว มีประวัติภูมิแพ้หรือมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรแจ้งบุคลากรการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน และขอคำแนะนำที่เหมาะสม

 

 

19.ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ประโยชน์อะไร

ตอบ ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19


1.เสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดโควิด-19ให้กับตัวเรา

2.เกิดภูมิคุ้มกันภาพรวมของชุมชน เป็นประโยชน์ต่อสังคม

3.ลดความรุนแรง หากเกิดการติดเชื้อ

4.ยับยั้งการแพร่ระบาดไปสู่บุคคลอื่น

5.ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19

 

หมายเหตุ : ความเสี่ยง บางคนมีจำนวนน้อย ที่อาจมีอาการข้างเคียง ซึ่งอาการไม่รุนแรงและหากเองได้

 

 

 


20.ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วยังมีโอกาสแพร่เชื้อหรือไม่

ตอบ ผู้ถูกฉีดวัคซึนยังมีโอกาสรับเชื้อ มีโอกาสป่วย และมีโอกาสแพร่เชื้อ ดังนั้นยังต้องคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ต่อไปทั้งการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่างและหมั่นล้างมือ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆได้อีกด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่ และวัณโรค

 

 

ข้อมูลจาก ไทยรู้สู้โควิด , กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง