รีเซต

เช็ก! ข้อปฏิบัติที่ต้องทำ “หลังฉีดวัคซีนโควิด-19”

เช็ก! ข้อปฏิบัติที่ต้องทำ “หลังฉีดวัคซีนโควิด-19”
Ingonn
8 มิถุนายน 2564 ( 11:40 )
9.9K

 

ในช่วงนี้หลายๆคนคงได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันมาบ้างแล้ว ซึ่งการเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดการออกกำลังกายก่อนฉีดวัคซีน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ได้รับวัคซีนโควิดควรปฏิบัติ แต่หลังจากฉีดเสร็จแล้ว ยังมีอาการที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีน

 

 

วันนี้ TrueID ได้รวบรวมข้อมูลข้อควรปฏิบัติหลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาฝากกัน เพื่อที่จะได้เตรียมเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด

 

 


การฉีดวัคซีนโควิด-19


ในประเทศไทยมีวัคซีนอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งทั้ง 2 วัคซีนมีประสิทธิภาพดีไม่ต่างกัน แต่สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลังจากฉีดได้เป็น 2 กรณี ดังนี้


1. อาการที่สามารถคาดเดาได้


- ปวด บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีด


- ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้

 

 

ส่วนน้อยบางราย มีอาการไข้สูง ต้องนอนพัก 2-3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย เมื่อมีอาการ สามารถกินยาลดไข้ได้ตามปกติ

 

 

2. อาการที่ไม่สามารถคาดเดาได้


- อาการแพ้วัคซีน พบได้น้อยมาก มีทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง


- อาการที่แพ้รุนแรง ซึ่งมักจะพบได้ภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน เช่น หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีผื่น ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน  อาการเหล่านี้จะรุนแรงมาก หากเกิดหลังจากการฉีดวัคซีน 30 นาที

 

 

ระยะห่างของวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และ 2 

 

ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Sinovac คือ 2-4 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca คือ 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น หากมารับวัคซีนล่าช้า ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามให้กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนโควิด-19 ในครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องได้เลย

 

 

 

คำแนะนำหลังฉีดวัคซีนโควิด

 

1.ควรนั่งรอดูอาการประมาณ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการข้างเคียง หรืออาการแพ้วัคซีนโควิด 


2.อาจมีอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด โดยอาจอ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวด บวม แดง หรือร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีนโควิด


3.หลังฉีดวัคซีนโควิด อาจมีอาการปวดศีรษะหรือกล้ามเนื้อ 1-2 วัน


4.คำแนะนำ (หากมีไข้ ให้รับประทานพาราเซตามอล 500 มก. ครั้งละ 1 เม็ด) ห้ามรับประทานยา Brufen, Arcoxia และ Celebrex โดยเด็ดขาด

 


การประเมินก่อนกลับบ้าน 


หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรสังเกตอาการ 24 ชั่วโมงแรก หลังการฉีด แล้วควรสังเกตอาการหลังจากนั้น 7 วัน และอีกครั้งหลังจากนั้น 30 วัน

 

1.ไม่มีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ผื่นขึ้น ตัวแดง คันตามร่างกาย หายใจไม่สะดวก หน้าแดง ปากและใบหน้าบวม คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ใจสั่นผิดปกติ แน่นหน้าอก


2.ไม่มีจ้ำเลือดผิดปกติ


3.อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ชีพจร และการหายใจเป็นปกติ

 

 

ดังนั้นควรสังเกตอาการหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายใน 30 นาที ในสถานพยาบาลที่ท่านรับการฉีด ซึ่งหากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ก็สามารถทำการฉีดยาแก้แพ้ และให้การรักษาได้ทันที

 

 

หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว ควรสังเกตอาการต่อที่บ้าน ซึ่งหากเกิดอาการหลังได้รับวัคซีนมากกว่า 30 นาที  อาการมักไม่รุนแรง แต่จำเป็นต้องบันทึกความผิดปกติทุกอย่างที่พบหลังจากการฉีดวัคซีนลงใน Application หมอพร้อม

 

 

 

ข้อสรุปอาการแพ้วัคซีนโควิด

 

ผู้รับวัคซีนซิโนแวค ครั้งที่ 1 มีอาการชาแขนขา หรืออ่อนแรงด้านที่ฉีดวัคซีน สามารถรับวัคซีนซิโนแวคในครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

 

อาการชา อ่อนแรง หรืออาการคล้ายอาการของระบบประสาทอื่น ๆ ที่เป็นอาการชั่วคราว ไม่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้น และหายเป็นปกติ อาการเหล่านี้ไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเดิมในเข็มที่ 2 แต่หากมีอาการรุนแรงและกังวล ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2

 

 

ผู้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีอาการแพ้วัคซีน และมีอายุเกิน 60 ปี จะสามารถฉีดวัคซีนซิโนแวคได้หรือไม่ และควรเว้นช่วงห่างเท่าไร

 

สามารถให้วัคซีนซิโนแวคแทนได้ โดยเว้นช่วงห่าง 10-16 สัปดาห์ (ตามระยะห่างของ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 1 และ เข็ม 2) การเว้นช่วงห่างระหว่างวัคซีนเข็ม 2 จากวัคซีนเข็ม 1 ในกรณีเปลี่ยนชนิดของวัคซีนให้พิจารณาตามชนิดของวัคซีนที่ฉีดเป็นเข็มที่ 1 เป็นหลัก

 


ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รับประทานยาและมีอาการคงที่ หลังฉีดวัคซีนมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ความดันสูง สูงขึ้นกว่าปกติและมีอาการชาที่ใบหน้าข้างขวาเล็กน้อย สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

 

ควรให้วัคซีนเข็มที่ 2 แต่ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนหากมีปฏิกิริยามากในเข็มแรก

 

 


ข้อควรทราบหลังได้รับวัคซีน


วัคซีนไม่ได้มีผลในการป้องกันโรคในทันทีหลังการฉีดเนื่องจากกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังการฉีดวัคซีนจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์เพื่อให้เกิดระดับของภูมิคุ้มกันในระดับที่เหมาะสมในการป้องกันโรคเมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย 

 

 

ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังจากได้รับวัคน ผู้ได้รับวัคซีนยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอยู่ตามปกติ หลังจากร่างกายมีการสร้างระดับภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมแล้ว (ประมาณ 3 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีน) ผู้ได้รับวัคซีนจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคลดลง 

 


ทั้งนี้ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคอาจมีความแตกต่างกันไนแต่ละบุคคลด้วยปัจจัยต่างๆทั้งปัจจัยด้านปัจเจกบุคคลและปัจจัยแวดล้อม

 

 


คำแนะนำในการสังเกตอาการผิดปกติหลังได้รับวัคซีน

 

1.หลังได้รับวัคชื่นท่านควรสังเกตอาการแพ้ เช่น มีผื่นขึ้น ตัวแดง คันตามร่างกาย หายใจไม่สะดวก หน้าแดง ปากและใบหน้าบวม คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ใจสั่นผิดปกติ แน่นหน้าอก หากท่านมีอาการผิดปกติหลังการฉีดวัคซีนท่านควรติดต่อสถานพยาบาลทันที เนื่องจากการแพ้รุนแรงเป็นภาวะที่อาจถึงแก่ชีวิตได้

 

 

2.วัคซีนไม่มีผลต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ แต่ผลข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนบางอย่างอาจส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะหรือการใช้งานเครื่องจักรกลได้ จึงควรพิจารณางดเว้นการขับขี่ยานพาหนะหรือใช้งานเครื่องจักรกลหากท่านมีอาการผิดปกติ และใช้ความระมัดระวังตามความเหมาะสม

 

 

3.อาการผิดปกติที่พบได้บ่อยหลังการฉีดวัคนได้แก่ อาการกดเจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด อาการปวดบริเวณตำแหน่งที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาการปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว อาการไข้ หนาวสั่น อาการปวดข้อ หรือ คลื่นไส้ รวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้เช่น บวมแดง ร้อนบริเวณตำแหน่งที่ฉีด จ้ำเลือดไม่รุนแรง รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว อาเจียน อาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ โดยอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวส่วนมากมักไม่รุนแรงและมักจะหายเองได้ภายใน 2-3 วันหรือ

 

ในช่วงสัปดาห์แรก ท่านสามารถใช้ยาพาราเซตามอล ( Paracetamol) ขนาด 500 มิลลิกรัม จำนวนครั้งละ 1-2 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออาการไข้ ได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ตามความจำเป็น ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับการฉีดวัคชื่น

 

 

4.อาการผิดปกติหลังการฉีดวัคซีนอื่นๆที่พบได้น้อย (น้อยกว่าร้อยละ 1) ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต เบื่ออาหาร มีนหรือเวียนศีรษะ ปวดท้อง เหงื่อออกมากผิดปกติ อาการคัน มีผื่น

 

 

5.สำหรับวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า พบรายงานภาวะการอักเสบของระบบประสาทในผู้ที่ได้รับวัคนจำนวน 2 ราย (ความชุกน้อยกว่าร้อยละ 0.01) ระหว่างการวิจัยวัคซีน แต่ทั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับวัคซีน

 

 

 

เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด-19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่

 

ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนโควิด-19 เสมอ แม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากอย่างเพียงพอ

 

 

 

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง